ธรรมเทศนา พระดา สมฺมาคโต
งานวิสาขบูชา ณ สวนลุมพินี ปี 2524
เรียบเรียงและจัดทำใหม่ โดยพระดา สมฺมาคโต ตุลาคม 2567
บัดนี้ขอให้เราทั้งหลายจงตระหนักว่า ชีวิตเป็นจุดศูนย์กลางหรือศูนย์รวมของทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกๆ ชีวิตของทุกๆ คนมีจุดกำเนิดเริ่มต้นมาจากครรภ์ของผู้ที่เรียกว่ามารดาด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหน พูดภาษาอะไร จะอยู่ขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้ก็ตาม ย่อมสืบกำเนิดมาจากครรภ์ด้วยกันทั้งสิ้น
ทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ย่อมมีหัวอกเป็น “เอกภาพ” คือต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ เสมอเหมือนกันหมด
เอาล่ะ วันนี้จะได้พูดถึงเรื่องการมองจิตใจ ดูชีวิตภายใน เพราะเรื่องชีวิตจิตใจนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามจะต้องศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ และให้ได้สัมผัสจริงๆ เพราะสิ่งที่ตั้งผงาดอยู่บนพื้นโลก ดิน น้ำ อากาศ ต้นไม้ ภูเขา ดีชั่ว สุขทุกข์ทั้งหลาย ล้วนสัมพันธ์ได้ด้วยอานุภาพแห่งจิตใจของมนุษย์เท่านั้น
ชีวิตคืออะไร? ท่านผู้ฟังทั้งหลาย หลายคนที่พูดกันติดปากและยอมรับว่า
– ชีวิตคือการต่อสู้
– ชีวิตคือความเป็นอยู่
– ชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง
– ชีวิตคือความทุกข์
– ชีวิตคือความไม่แน่นอน ฯลฯ
ถึงจะให้คำจำกัดความอย่างไรก็ตาม ชีวิตคงเป็นชีวิตแค่นั้นเอง มันจะเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้ ชีวิตคือธรรมชาติ
ชีวิตคือการเคลื่อนไหวจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง จากความรู้สึกหนึ่งไปสู่ความรู้สึกหนึ่ง ความเป็นหนึ่งของชีวิต หรือความรู้อยู่เฉยๆ นี้แหละเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องศึกษาให้เข้าใจและให้ได้สัมผัส ถ้าเราไม่ได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้จริงๆ เราจะเป็นผู้ที่มีความทุกข์
เพราะความคิดนี้ไวมาก ไวยิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ไว พลังงานไฟฟ้าแรงสูงมีความไวมากและแรงมากก็ตาม แต่พลังงานความคิดนี้อาจจะไวหรือแรงยิ่งกว่าก็ได้ คิดดูสิ เรานั่งอยู่ที่นี่เราอาจจะคิดไปถึงบ้านก็ได้ คิดไปถึงเพื่อนฝูงก็ได้ คิดไปถึงไหนๆ ก็ได้ เร็วด้วยและกลับมาไวด้วย นี่แหละพลังแห่งความรู้สึกนึกคิด
ดังนั้น การศึกษาตัวเอง การรู้เท่าทันความคิด ความคิดก็หยุด ดูความคิดบ่อยๆ ดูจนชำนิชำนาญ มันจะเห็นความคิด เช่นมันจะคิดถึงสิ่งที่เคยได้เห็น ได้ฟัง ได้ดม ได้ดื่มกิน ได้ลิ้มรส และได้สัมผัสมาทั้งเก่าและใหม่ ทั้งที่ผ่านมาแล้วและยังไม่มาถึงเลย มันจะเก็บมาคิดไม่เลือกการและสถานที่ มันจะกลับตาลปัตรกันตรงนี้ คือมันยิ่งคิด เรายิ่งรู้ มันจะสู้กันดุเดือด
พอถึงจุดนี้ มันจะน่าดูน่าชม แล้วเบื่อหน่ายความคิดที่เป็นทุกข์ แล้วก็จางคลายกลายเป็นวิมุตติ หลุดพ้น สงบเย็น เพราะสงครามแห่งความคิดสงบ ออกไปจากความรู้สึกเดิม เป็นการสัมผัสความรู้สึกใหม่ที่สดใสเบิกบาน รู้อยู่ เป็นอยู่ เช่นนั้นเอง
แต่ถ้าเราเห็นความคิดยังไม่ถึงที่สุดของการกระทำ จึงเห็นเพียงความคิดมันเกิดๆ ดับๆ ก็ยังต้องถลำวนเวียนอยู่ในความคิดต่อไป ท่านผู้รู้กล่าวว่า
“ความทุกข์เท่านั้นมันเกิดขึ้น ความทุกข์เท่านั้นดับไป” ถ้าดับทุกข์เสียได้ก็ไม่ต้องเกิด ประเสริฐเลย
มีคนหลงเป็นจำนวนไม่ใช่น้อยที่ชอบเกิด ให้ทานนิด รักษาศีลหน่อย อยากจะไปเกิดสวรรค์นิพพานที่ไหนไม่รู้ พวกนี้ต้องการเกิดไปเรื่อย ๆ ก็ดีเหมือนกัน แต่พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า
“ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง” การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ การไม่เกิด ไม่ต้องมีทุกข์ดีกว่า ประเสริฐกว่า
คำว่าการเกิดมี 2 ทางนะ คือเกิดทางกายและเกิดทางใจ เกิดทางอารมณ์นั้นเกิดจากครรภ์มารดาเกิดได้ไม่บ่อย ส่วนการเกิดทางใจ ซึ่งเป็นการเกิดจากอารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดนั้น มันเกิดได้บ่อยๆ เช่นเกิดความรัก ความชัง และความหลง อย่างนี้เกิดได้บ่อย โมโหได้บ่อย โลภได้บ่อย หลงรัก หลงทางได้บ่อย มันก็ทุกข์ได้บ่อยๆ พระพุทธองค์ท่านหมายถึงการเกิดขึ้นของกิเลสตัณหาอุปาทานทางใจนี่เองที่เรียกว่า “การเกิดเป็นทุกข์”
รูปร่างกายนี้สารพัดโรค มีโรคปวดหัว เป็นไข้ ปวดท้อง โรคตา หู จมูก ลิ้น ร้อยแปดพันประการ โรคที่มันเกิดทางเนื้อหนังร่างกายของเรา โรคแบบนี้ต้องรักษาด้วยการรับประทานยาบ้าง ฉีดยาบ้าง ผ่าตัดบ้าง ทายาบ้าง โรคกายนี้ต้องอาศัยหมอทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เขามีวิธีการรักษา (Therapy)
ส่วนโรคทางจิตวิญญาณหรือโรคทางใจ ความทุกข์ ความคับแค้นใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความไม่สบายใจ ความอึดอัดขัดเคือง ความขุ่นมัวในจิตใจเป็นต้น หมอที่ไหนรักษาบ้างก็มีจิตแพทย์รักษาบ้าง มีพระพุทธเจ้าเป็นแพทย์เยียวยารักษาโรคนี้ได้โดยเฉพาะ พระพุทธเจ้าท่านมีวิธีการสอนอย่างนี้ว่า ขณะใดที่กายมันเคลื่อนไหว ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้อยู่บ่อยๆ รู้อยู่บ่อยๆ ทำเนืองๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้จนกระทั่งว่าเกิดความเคยชิน เกิดความเคยตัว แล้วความรู้สึกนั้นมันจะก่อตัวขึ้นมา เจริญขึ้น เจริญขึ้น เจริญขึ้นไปจนถึงจุดสุดยอดที่สูงส่ง แล้วมันจะเป็นสติที่ยิ่งใหญ่ สติอันยิ่งใหญ่จัดเป็นวีรกรรม เป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ แล้วมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ด้วย เหมือนกับพระจันทร์ในคืนเต็มดวง และพระอาทิตย์บ่ายโมงฉายแสงเจิดจ้าฉะนั้น
ความเปลี่ยนแปลงในด้านชีวิต หรือการเปลี่ยนจิต เปลี่ยนใจ เปลี่ยนนิสัยจากการเคยชินเก่าๆ แล้วก็มาได้นิสัยใหม่ เหมือนกับการเปลี่ยนชีวิตใหม่ เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ได้อย่างจริงๆ จังๆ ถ้าเราสนใจจริงๆ แล้วไม่เหลือวิสัย ทุกคนต้องทำได้ ทุกคนสัมผัสได้ถ้าพยายามมอง พยายามเจริญสติให้มาก ก็ไม่เกินความสามารถไปได้หรอก
การดูชีวิตดูจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเราดูให้ถึงที่สุดแล้ว เราจะสามารถเอาชนะความทุกข์คือความปรุงแต่งได้ ความคิดในทางโลก โกรธ หลง ความคิดเหล่านี้เป็นตัวทุกข์ ทุกข์นี้มากมาย แม้คนและสัตว์ก็มีเหมือนกัน ถ้ามันโลภโมโทสันมันก็กัดกัน คนเราก็เหมือนกัน มีความโลภก็แย่งกัน แย่งทรัพย์สิน ปล้นสะดมกัน แต่ถ้ามีความโกรธเข้ามาก็ฆ่ากัน ยิงกัน ทุบตีกัน สามีภรรยาก็เหมือนกัน หาความสงบไม่ได้
ตอนนั้นถ้ามีความหลงมากๆ ก็หลงรัก หลงทาง หลงเกลียด หลงโกรธ ถ้ามีความหลงแล้ว ทุกข์อื่นย่อมตามมาเป็นเงาตามตัว เปรียบเหมือนกับเราอยู่ในที่มืด เดินไปไหนมาไหนไม่มีแสงสว่าง ไม่มีกองไฟ ไม่มีไฟฉายอย่างนี้ เดินไปไหนก็มืดๆ บางทีอาจจะไปตกหลุมตกบ่อ สะดุดตอ เหยียบหนาม เหยียบแก้วอะไรก็ตาม ย่อมมีแต่ความทุกข์ ชีวิตในหลุมดำ
ชีวิตในหลุมดำของคนที่มีความมืดมน จะเดินไปทางไหนก็เป็นทางมืด ทางตัน ไม่มีทางออก (dead end) บางคนถึงกับเกิดปัญหาชีวิตก็ปิดชีวิตของตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย กินยาตาย กระโดดสะพานตาย อะไรทำนองนั้นก็มี การฆ่าตัวตายด้วยวิธีแปลกๆ เยอะทีเดียว หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวบ่อยๆ อาตมาเลยคิดในใจว่าคนเราที่เรียกว่ามนุษย์ก็แปลว่าผู้ประเสริฐ ผู้มีใจสูง แต่ทำไมปัจจุบันถึงมีใจต่ำอย่างนี้ จึงทำให้โรคประสาทกันมากขึ้นทุกทีในแต่ละสังคม
ถ้าคิดตรงกันข้ามบ้าง สุนัขมันเคยกินยาตายไหม? ฆ่าตัวตายไหม? เคยผูกคอตายไหม? ก็ไม่เคย แม้แต่กัดกันตายก็ไม่มีเลย ผีหลอกมันก็ไม่กลัว บางทีมันไปกินซากศพเสียด้วยซ้ำ อาตมาเคยเห็นในป่าช้า ผีดิบเลยแหละ บางทีคนเอาข้าวไปเลี้ยงผี สุนัขมันก็ยังกล้าไปกิน แต่คนกลัวผี ที่จริงแล้วคนนี้น่าจะไปไหว้สุนัขเสียยังดีกว่าถ้าจะไปไหว้ผี ที่พูดนี้ไม่ได้ว่าใครทั้งหมด เพียงแต่พูดให้คนงมงายฟังด้วยความจริงใจเท่านั้น ไม่ได้ดูหมิ่นใคร ทุกคนมีคุณค่าในตัว
การศึกษาการมองตัวเอง เป็นสิ่งที่ดีงามมาก อาตมาคิดว่าถ้าทุกคนสนใจจุดนี้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่จริงๆ ถ้าเราเห็นจิตใจของเราอยู่เรื่อย มันคิดอย่างไร มันปรุงแต่งอย่างไร มันลุ่มหลงอย่างไร มันโกรธอย่างไร มันเกลียดอย่างไร ถ้าเรามองเห็นจุดนี้บ่อยๆ การเห็นนั้นมันหยุดความคิดได้ การเห็นนี้แหละเขาเรียกว่า “สติปัญญา” เมื่อเห็นด้วยปัญญา ความไม่รู้ไม่เห็นมันก็หมดไป จืดไป จางไป คลายไปจริงๆ
การเจริญสติการมองดูตัวเอง ทีแรกมันจะเห็นความสับสนวุ่นวาย แต่เมื่อมีความรู้สึกด้วยสติมากเข้ามากเข้า เห็นมากๆ เข้า ด้วยความพยายามจนถึงที่สุด ความคิดฟุ้งซ่านปรุงแต่งที่เราเห็นก็จะค่อยๆ จืดจางเลือนลางและหายไป จะมีแต่ความรู้สึกใหม่ที่สดใส สว่างอยู่ เป็นความรู้สึกใหม่ที่บริสุทธิ์ เหมือนดวงตะวันที่สว่างโร่อยู่กลางใจ ฉะนั้นอย่างนี้สิจึงจะเป็นชีวิตที่สว่างด้วยแสงธรรม นี่คือการตื่นรู้ที่แท้จริง
ผู้ใดถึงความสว่างในกลางใจแห่งนี้ได้ ก็จะเป็นชีวิตใหม่ เป็นการเกิดมาไม่เสียชีวิต เป็นการเข้าถึงศาสนาได้แน่นอน เพราะศาสนานั้นคือคำสอนของท่านผู้รู้ ท่านสอนใคร? ท่านสอนคน ท่านสอนให้คนละชั่ว ทำดี จนกระทั่งสอนในการทำจิตให้หมดจดบริสุทธิ์ ขาวรอบ พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา ไม่อยู่ในความทุกข์ ท่านสอนแบบนี้ ทำนองนี้กันทั้งนั้น
อาตมาเมื่อก่อนเป็นคนเจ้าทุกข์ มีทุกข์ทีไรก็คิดอยากฆ่าตัวตาย กินยาตายมีบ้างเหมือนกัน แต่เมื่อพบหลวงพ่อเทียน ปฏิบัติตามหลวงพ่อเทียนท่านสอนคือให้เจริญสติ สร้างจังหวะเดินจงกรม ให้มองชีวิต มองจิต มองใจ มองความคิดภายในของตนให้ออก จนกระทั่งอาตมารู้เข้าใจว่าอะไร จึงเกิดความสว่างขึ้นภายใน แล้วรู้เห็นตามความเป็นจริง ความทุกข์ ความเซ็ง ความสงสัยทั้งหลายหายหมดเลย มันแก้ทุกข์ได้จริงๆ ใจสว่างแล้ว ตื่นแล้ว ไม่มีทุกข์ มันเปลี่ยนได้จริงๆ
การปฏิบัติสมาธิแบบเดิม อาตมาเคยคิดอยู่ในใจเหมือนกันว่าตัวเองเป็นคนโง่ที่สุด อาตมาคิดเอาเองอย่างนั้น แต่เมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้วก็ได้สัมผัสชีวิตจริง อาตมาก็เลยคิดถึงคนอื่นที่มีสติปัญญาความเฉลียวฉลาดมากกว่าอาตมา ถ้าเขามาสนใจจุดนี้ก็ต้องเข้าใจยิ่งกว่าอาตมาแน่ อาตมาคิดอย่างนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ
อาตมาเมื่อครั้งก่อนก็สนใจเรื่องสมถะ แบบไปนั่งหลับตาภาวนาอยู่ในป่า ในถ้ำ ธุดงค์ทรงกลดในแถวภาคอีสานไปแทบทุกจังหวัด สำนักไหนมีอาจารย์ดังไปแทบทุกหนทุกแห่ง แต่ละแห่งก็มีวิธีการทำที่ไม่ซ้ำ อาตมาพิสูจน์มาแล้ว “พุทโธ” อย่างนี้ คือกำหนดลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้านึกในใจว่า “พุธ” ลมหายใจออก “โธ” การนั่งสมาธิหลับตาภาวนาพวกนี้ต้องใช้เวลามาก ทำนานใจถึงสงบ เวลาเดินจงกรมก็เดินธรรมดา เดินขาขวาพุธ ขาซ้ายโธ พุทโธ พุทโธ แต่ไม่เคยประสบ ไม่เคยได้สัมผัสความเป็น “พุทโธ” เลย ก็ยังเป็นคนโง่คนหลง ก็งมงายอยู่อย่างนั้น นี้เล่าความรู้สึกภายในใจของตัวเองให้ฟัง
ในขณะเดียวกัน เมื่อไปนั่งหลับตา บางทีก็เกิดนิมิต เกิดสี เกิดแสง เกิดเห็นภาพภายนอกที่ตนเองได้บันทึกเอาไว้ในจิตใต้สำนึกที่มันผุดขึ้นมาก็เห็น ก็รู้ ก็เข้าใจ ก็สยบอยู่แค่นั้น ทำให้เกิดความสุข มีปิติ มีความคิดยึด มีความเย็นอยู่แค่นั้น แต่ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ยังไม่เห็น เพื่อนๆ ยุแยงหน่อยก็ไม่ได้ เป็นฤาษีตาไฟ บางทีโมโหขึ้นมาระเบิดใส่เพื่อนก็มี เป็นอยู่อย่างนั้น ทำอยู่อย่างนั้นประมาณ 4 ปี รู้สึกว่าทำได้คล่อง เกิดวะสี ทำได้ไว เข้าสู่ความสงบได้ไว เข้าสมาธิได้ไว ออกไว จิตเข้าสู่ความนิ่ง ดิ่งสู่ภวังค์ได้ไว
การที่จะไปทำอย่างนั้น อาตมาคิดว่าไม่ยากเย็นเกินไป ถ้าเราสนใจแต่ตัวเอง ขอรับรองว่าทำอย่างนั้นแล้วมันไม่เกิดปัญญา มันเกิดแต่ความสงบเย็น มันไม่เกิดปัญญา จิตใจมันมืดมิดเหมือนจะปิดอยู่ด้วยอะไรก็ไม่รู้ คือยังติดอยู่ในความสงบ ติดอยู่ในสมมุติ หลงนิมิต แสงสี หลงผีสางเทวดา เชื่ออย่างนั้น เรื่องพบ เรื่องชาติ หลงติดยึด ไม่รู้ว่าจะหลงกันไปถึงไหน นี้เป็นจุดหนึ่งที่อาตมาเห็นว่ามันเป็นจุดบอด จุดมืด จุดอันตรายที่สุด เพราะทำแล้วหลงตัวเอง
แต่การกระทำอย่างนั้นรู้สึกว่าคนสนใจมาก ถ้าใครทำเข้าไปแล้วก็ติดใจเลยเพราะมันสงบดี แต่ต่อเมื่ออาตมาได้มาสัมผัสกับแนวปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนนี้แล้ว คิดอุปมาตัวเองเหมือนกับออกจากถ้ำแห่งความมืด ออกจากป่ามหาภัย ออกจากดงแห่งความหลงเขางมงายมาได้ ก็เลยเกิดความมั่นใจจริงๆ แต่ก่อนไม่เคยมั่นใจในเรื่องศาสนา การบวชก็ไม่มั่นใจ การเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ไม่มั่นใจ
ต่อเมื่อมาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามในนี้แล้ว รู้สึกเกิดความมั่นใจ 100% ว่าตนเองไม่เสียชาติ การบวชก็ไม่เสียที มันเป็นได้จริงๆ มันลงตัว มันตายตัว การปฏิบัติก็ไม่เสียที มันเข้าใจตัวเองได้ หายสงสัยได้ กล้ายืนยันด้วยว่าการปฏิบัติสายนี้เป็นวิธีการถูกต้อง เป็นวิธีการที่ง่ายๆ ลัดๆ ทุกคนชอบทางลัด การปฏิบัติก็ต้องชอบทางลัดเหมือนกัน ทุกคนก็ยืนยัน ทุกสำนักก็ยืนยันว่าสำนักของตัวเองนั้นสอนวิธีตรง วิธีรับปฏิบัติได้ไว รับผลได้ไว ทุกคนย่อมยืนยัน
สมัยพุทธกาลก็เหมือนกัน ศาสดาก็หลายองค์ องค์ไหนก็ต้องยืนยันของตนเองฉันใดก็ดียุคนี้ก็เหมือนกัน ไม่ต่างอะไรกันมาก แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าวิธีการนั้นตรง วิธีการนั้นรับ ต้องพิสูจน์ ผู้ฟังทั้งหลายต้องพิสูจน์
โบราณเขาว่า “หนทางเป็นเครื่องพิสูจน์ม้า กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน” อาตมาขอต่อให้อีกว่า “ธรรมะของพระทศพลต้องพิสูจน์ที่ตัวเอง” เอาตัวเองเป็นเครื่องพิสูจน์ธรรมะของพระพุทธเจ้า อันนี้ขอรับรองว่าธรรมะจริงๆ คือตัวคน ทุกคนเป็นตัวธรรมะ ธรรมะกับศาสนาอันเดียวกัน
ศาสนาคือที่พึ่ง คนเราเดี๋ยวนี้พึ่งคน แม้แต่เทคโนโลยีก็เหมือนกัน คนผลิตขึ้นมาแล้วคนก็พึ่งผลงานของคน ก็ไม่พ้นจากการพึ่งคนอยู่นั่นเอง พุทธศาสนาสอนให้พึ่งตนเอง สอนให้คนพึ่งการกระทำของตนเองให้ถูกต้องที่เป็นสัมมาทิฏฐิ คำว่าสัมมาทิฏฐิ หมายถึงว่ามองเห็นชีวิต มองเห็นจิตเห็นใจของตัวเองอยู่เรื่อย ถ้าไม่มองเห็นชีวิต เห็นจิต เห็นใจของตัวเองแล้ว มันเป็นสัมมาทิฏฐิที่จอมปลอม ถ้ามองเห็นชีวิต เห็นจิต เห็นใจแล้ว เป็นจุดเริ่มต้น เป็นตัวแท้ของพรหมจรรย์ ทุกคนย่อมรู้ ทุกคนย่อมเห็น ถ้ามีสัมมาทิฏฐิย่อมเชื่อมั่นจริงๆ
อาตมานี้มั่นใจจริงๆ ว่าไม่ไหว้ผีก็ได้ ไม่ไหว้เทวดาก็ได้ ไม่ถือฤกษ์งามยามดีก็ได้ ไม่ถือเครื่องรางของขลังก็ได้ แม้แต่พระพุทธรูปก็เหมือนกัน มันจะมีความหมายใหม่ขึ้นมา รูปร่างกายของเราที่ปรากฏส่วนสัดเป็นรูปแห่ง “พุทธะ” พุทธะมีอยู่แล้วในคนทุกคน เราไหว้พุทธะเราก็ไหว้ตัวเราเอง เราเคารพพุทธะเราก็เคารพตัวเราเอง เรานับถือพุทธะเราก็นับถือตัวเราเอง
นักปราชญ์โบราณบอกว่า
“จงฟังเสียงทุกเสียงให้เหมือนเสียงเพราะท่านสวดมนต์
จงดูคนทุกคนให้เหมือนพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน นิพพานที่นั่น”
บางท่านก็อาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาก่อน บางคนก็อาจจะไม่เคยได้ยิน ความหมายที่จริงนั้นคือถึงเสียงด่า เสียงสรรเสริญเยินยอก็ตาม เสียงนินทาว่าร้ายก็ตามที่เราได้ยิน เสียงทุกเสียง เสียงรถ เสียงเรือของเครื่องยนต์ก็ตาม เสียงธรรมชาติก็ตามที่มันเกิดขึ้นดังอยู่ในตัว ให้เรารู้สึกว่านั่นเป็นเสมือนเสียงพระสวดมนต์ จะรู้ความหมายหรือไม่รู้ความหมายก็ตาม เราก็สาธุดีล่ะ มันก็เป็นบุญเป็นกุศลอยู่เหมือนกัน ไม่เกิดความโลภ ไม่เกิดความโกรธไปกับเสียงนั่น มันเป็นเสียงเท่านั้นเอง ซึ่งมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นเช่นนั้นเอง
รูปนามสัมผัสเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นี่คืออาการของรูปนาม มันเกิดมาแล้วก็ดับไป การรับรู้ก็เหมือนกัน เกิดๆ ดับๆ ถ้าเราเห็นมันเรื่อย ๆ เราก็เดินทางเข้าหาความหลุดพ้นได้แน่นอนจริงๆ แล้ว เมื่อนั้นเราก็ดูคนทุกคนให้เป็นพระพุทธเจ้า เคารพพระพุทธเจ้า กราบไหว้พระพุทธเจ้า เคารพผู้อื่นก็เหมือนกับเคารพตัวเองนั่นแหละ พุทธะก็อยู่ในคน ธรรมะก็อยู่ในคน สังฆะก็อยู่ในคน คนปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติออกจากทุกข์ คนนั้นก็เป็นสังฆะอยู่ในตัวแล้ว
สุปฏิปันโน ปฏิบัติดี
อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง
ญายปฏิปันโน ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ ออกจากความโลภ ออกจากความโกรธ ออกจากความหลงผิดงมงาย มันออกได้เมื่อเราเข้าใจ
สามีจิปฏิปันโน ผู้นั้นย่อมปฏิบัติสมควรแก่ธรรมแล้ว ถ้าปฏิบัติสมควรแก่ธรรมแล้ว ปฏิบัติชอบยิ่งแล้ว โลกไม่ว่างจากอริยบุคคล โลกไม่ว่างจากมรรคผล อริยบุคคล ถ้าคนตาไม่ดีก็มองเห็นไม่ได้ เหมือนกับแสงสว่างที่มีอยู่ คนตาดีย่อมมองเห็นว่าสีอะไรเป็นอะไร รูปลักษณะอย่างไร มองเห็นเป็นต้นไม้ก้อนหินว่าเป็นอย่างไรได้ เห็นเพราะมีแสงสว่าง มีดวงตา มีวิญญาณที่ดี
แต่ถ้าคนมีวิญญาณที่ไม่ดี มีตาอยู่ก็ดีย่อมมองเห็นแต่ความมืดภายในแสงสว่างฉันใดก็ดี คนที่มีสติปัญญาย่อมมองเห็นว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรไม่ควร อะไรดีไม่ดี มองเห็นตามความเป็นจริงได้ ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องศาสนาดี เราก็ไม่หลงศาสนา เดี๋ยวนี้คนหลงศาสนาแล้วไปพึ่งอะไรก็ไม่รู้
อาตมานี้ก็คนหนึ่ง เมื่อเป็นฆราวาส มีความทุกข์เกิดขึ้นกลุ้มใจ ไปกินเหล้า กลุ้มใจ ไปเล่นการพนัน กลุ้มใจ ไปเที่ยวดูหนัง กลุ้มใจมากก็เที่ยวเตร่สนุกสนานไป คิดว่านั่นเป็นความสุข นั่นเป็นทางออก มาสำนึกตัวทีหลังเพราะการศึกษาปฏิบัติธรรมะแบบนี้ เลยสำนึกตัวเองได้ สำนึกบาปได้ สะท้อนภาพพจน์ของตัวเองได้
การพยายามที่จะมีสติเฝ้ารู้ตัวเอง เป็นสิ่งที่ดีงาม ทางศาสนาท่านเรียกว่าการปฏิบัติธรรม การเรียนรู้ชีวิต การศึกษาชีวิต การสัมผัสชีวิตจริงนั้น หรือการเข้าใจชีวิตจริง ทางพุทธศาสนาก็สอนอย่างนี้ ดังนั้น จะบอกสิ่งหนึ่งที่บางคนไม่เคยได้ยิน แต่บางท่านก็คงเคยได้ยินมาบ้างคือ การปฏิบัติธรรม การทำกรรมฐานก็ดี การบรรลุสภาวะที่เรียกว่าธรรมะก็ดี การถึงมรรคถึงผลถึงนิพพานก็ดี มันมีได้ด้วยการเจริญสติอย่างเดียว (สติปัฏฐาน 4)
ทุกๆ คนที่หวังความหลุดพ้น การเจริญสตินั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องทำ ต้องศึกษา จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องสัมผัสเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระภายใน เพราะชีวิตต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ระทมหม่นหมองดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
ดังนั้น จะปราศจากสติไม่ได้ คนขาดสติคือคนตาย ทุกคนไม่อยากตาย ในเมื่อไม่อยากตาย ต้องเจริญสติ ดูความประพฤติตัวเองในอิริยาบถนอก พร้อมกับดูความเปลี่ยนแปลงภายใน ให้เข้าใจสมมุติและความจริงที่ยึดมั่นหมายมั่นให้ได้
ชีวิตร่างกายของคนเรานี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นกาย ส่วนหนึ่งเป็นใจ ดังภาษาวิทยาศาสตร์เขาว่า ส่วนหนึ่งเป็นสสาร อีกส่วนหนึ่งเป็นพลังงาน มันอิงอาศัยกัน รูปธรรมและนามธรรมมันอิงอาศัยกัน ทุกคนต้องมีธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ และขันธ์ 5 คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยกันทั้งนั้นเหมือนกันทุกคน เว้นไว้แต่คนตาย ภาษานักปฏิบัติธรรมเรียกว่ารูปกับนาม หรือกายกับใจ
รูป-นาม อันนี้ วันหนึ่งๆ มันทำอะไรบ้าง? รูปมีการยืน การเดิน การนั่ง การนอนบ้าง มีการกระพริบตา หายใจ ผู้เหยียดเคลื่อนไหวบ้าง มีการก้ม เงย เอียงซ้ายเอียงขวา หายใจ กลืนน้ำลาย นี่เป็นส่วนของกาย นี่เราเรียกว่ารูปธรรม นามธรรมคือรูปมันก็ทำ นามมันก็ทำ มันอิงอาศัยอยู่ควบคู่กันไป รูปกับนามแยกกันไม่ได้ แยกกันเมื่อไหร่ ตายลูกเดียว
คนที่เป็นอยู่ได้ไปไหนมาไหนได้ เพราะมีรูปนามสัมพันธ์กันอยู่ ส่วนจิตใจที่เป็นนามธรรม วันหนึ่งมันคิดอะไรบ้าง? คิดร้อยแปดพันประการ คิดดี คิดชั่ว คิดไปคิดอยู่ คิดทำการทำงาน คิดไม่อยากทำ คิดหงุดหงิด คิดสารพัด คิด คนเราจึงเป็นทุกข์เพราะความคิด ความทุกข์เพราะความกลุ้ม อันนี้ท่านเรียกว่าจิตใจเป็นโรคทุกข์นั่นเอง
โรคทางกายต้องอาศัยหมอรักษา คนที่ไม่มีโรคนี้หายาก อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” แปลว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ คนที่เกิดมาไม่เคยเจ็บป่วยไข้นั้นหายาก ไม่เคยตายก็ไม่มี
ทุกคนมีความเกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าคนหรือสัตว์ สิ่งใดมีความเกิด สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา ท่านเรียกว่ากฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ประกอบไปด้วยรูปนามและขันธ์ 5 มันเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงแล้วก็ดับไป
ส่วนสภาวะจิตใจนั้น เมื่อเห็นมันเกิดๆ ดับๆ จนคล่องแคล่วชำนาญ เมื่อชำนาญมากเข้าย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายมากๆ เข้าแล้ว ความเกิดเกิดดับๆ จะจางคลาย วิมุตติ หลุดพ้นออกไปจากความรู้สึกเดิม นั่นคือความดับทุกข์ ความสิ้นทุกข์ อยู่จบพรหมจรรย์ ความอัศจรรย์อย่างบังเกิดขึ้น นี่คือความสำเร็จของวิชาพุทธศาสนาแค่นี้เอง เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมปรากฏ
อาตมาคิดว่า ถ้าผู้ใดสนใจพุทธศาสนาจริงๆ แล้ว ชีวิตจิตใจก็ย่อมมีความสว่าง มีความสงบ เพราะจะมาเป็นชีวิตจิตใจของตัวเอง ถ้าเราศึกษาจริงๆ เราจะรู้ว่าความมืดนั่นแหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ ภาษาธรรมะเรียกว่าโมหะ อวิชชา คือความมืด ความไม่เข้าใจในตัวเอง นั่นแหละเป็นตัวบาปที่หนักที่สุด ความหลงผิดเป็นมลทินอย่างยิ่ง ชีวิตไม่ต้องการความหลงผิด ชีวิตไม่ต้องการความทุกข์ พุทธศาสนาสอนอย่างนี้จริงๆ
ถ้าเรารู้จักวิธีการกำจัดความมืด ทำลายความหลงผิด ทำลายความทุกข์ ออกจากความทุกข์ได้จริงแล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่มีความอยู่เป็นสุข มีความสงบร่มเย็น มีความสบายอกสบายใจ พูดก็ดี ทำก็ดี คิดก็ดี จะไม่เป็นทุกข์ พูดได้ ทำได้ คิดได้ แต่คนเดี๋ยวนี้มันคิดมาก ทำน้อย แล้วก็พูดมากด้วย แม้แต่สำนักปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน มันน่าจะเริ่มต้นที่การกระทำ ทำมากๆ พูดน้อยๆ แล้วบริโภคใช้สอยแต่พอควร เหลือไว้ก็เอาไว้ใช้จ่ายในทางที่เหมาะสม
พุทธศาสนาสอนเรื่องความสันโดษ ถ้าคนมีความสันโดษแล้วบ้านเมืองไม่เจริญ เขาว่าอย่างนั้น ที่จริงไม่ใช่ พุทธศาสนาสอนให้ขยันขันแข็ง ทำการทำงาน อาบเหงื่อต่างน้ำ ทำงานอย่างมีความสุข สนุกสนานไปเลย แล้วผลิตให้มาก ใช้สอยพอประมาณ โภชเนมัตตัญญุตา ใช้สอยพอดิบพอดี เหลือจากนั้นก็เอาไปช่วยเหลือคนอื่น คือการให้ทาน ช่วยเหลือคนอื่นได้ ให้กับคนหรือสัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน ควรให้สิ่งที่ควรแก่บุคคลที่ควรรับ ไม่ใช่ว่าพระมีมากเหลือเฟือก็ยังเอาไปให้ท่าน อย่างนี้ไม่ยุติธรรม เหมือนกับคนที่กินอิ่มแล้วก็ยังเอาอาหารไปให้เขา เขาก็ไม่มีท้องใส่กินไม่ได้เป็นอย่างนั้น
อีกบทหนึ่ง เราจะมองเห็นว่าร่างกายของเรานี้มีเครื่องประดับอยู่ทั้งภายนอกและภายใน ภาษาธรรมะเรียกว่าอายตนะ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 6 ส่วนนี้เป็นส่วนภายใน 6 ส่วนภายนอกมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ 6 ส่วนภายนอกกับ 6 ส่วนภายในสัมผัสกันอยู่ตลอดเวลา
ทางหูก็คู่กับเสียง ถ้าหูหนวกก็ฟังเสียงไม่ได้ยิน แสดงว่าหูไม่มีวิญญาณ ถ้าตาของเรามีวิญญาณก็มองเห็นรูป สี แสงอะไรต่างๆ ได้ ถ้าไม่มีวิญญาณก็มองไม่เห็น เราเรียกว่าคนตาบอดตามืดตามัว จมูกของเราก็เหมือนกัน ถ้ามีวิญญาณอยู่ก็สัมผัสเอาได้ ดมกลิ่นก็ยังรู้จักหอม รู้จักเหม็น ลิ้นรู้จักรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม จืด กายของเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่เป็นอัมพาตก็รู้สึกได้ สัมผัสได้ เดินไปเดินมาได้
ทีนี้มาดูที่ใจของคนบ้าง ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ต้องคิดนั่นคิดนี่ได้ คิดดี คิดชั่ว คิดอะไรต่ออะไรสารพัดเรื่อง เรียกว่าสร้างวิมานบนอากาศก็ได้ สร้างนรกใต้ดินก็ได้ แต่ถ้าคนตายล่ะ ท่านผู้ฟังเคยคิดบ้างไหม คนตายมีอะไรต่างกับคนเป็นบ้าง คนตายต่างกับคนเป็นตรงที่คนตายไม่มีความรู้สึกนึกคิด ส่วนคนเป็นมีความรู้สึกนึกคิด คนเป็นมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คนตายไม่มี
ดังนั้น คนเป็นๆ เดินไปเดินมา ถ้าไม่มีความรู้สึก เขาเรียกว่าคนตายทั้งเป็น อย่างนี้แหละ เที่ยวหลอกเที่ยวลวงคนอื่น เขาเรียกว่าคนผี
คำว่าผี คือคนที่ไม่มีศีลธรรม คนไม่ดีนั่นเอง เช่น เด็กบางคนโกรธผู้อื่น ชี้นิ้วใส่หน้าด่าผู้อื่นว่าไอ้ผี อีผี ชี้หน้าผู้อื่นนิ้วเดียว แต่กลับชี้หน้าตัวเอง 3 นิ้ว จะว่าใครเป็นผีกันแน่? ความโกรธหน้าดำหน้าแดง ระเบิดอารมณ์ใส่ผู้อื่น นั่นแหละเป็นผีตัวร้ายที่สุด ความโลภ ความหลง นั่นแหละเป็นผีตัวที่ร้ายแรงที่สุด คนไม่ค่อยเห็น ไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่ทำลายผีโลภะ ผีโทสะ ผีโมหะ ผีความเขางมงายนี้ได้ คนนั้นจะไม่โดนผีหลอก คนนั้นจะไม่กลัวผี และจะหลอกผีได้ด้วย คนนั้นจะอยู่ที่ไหนก็ปลอดภัยจากการหลอกลวงของผีเหล่านั้น ผีออนไลน์
สังคมเดี๋ยวนี้ วิทยาศาสตร์มันก้าวหน้า ผีวัด ผีวา ก็เลยไม่ค่อยมี ผีทางออนไลน์ก็มี ฉะนั้น ถ้าเรามาสัมผัสอย่างนี้ได้ มันดี มันเด่น มันสำคัญจริงๆ ศึกษาเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันสัมผัสกันปุ๊บ มีสติปั๊บ อย่างพ่อแม่เห็นลูกหลานทำดีหรือไม่ดี มันจะคิดอย่างไร ดูมันก่อน จะเกิดความรัก ความชังไหม เกินความพอใจหรือไม่พอใจ พอเห็นปุ๊บให้ดูทันที อย่ารีบผลีผลาม
เห็นภายนอกก็ดี เห็นรถ เห็นเรือน เห็นบ้าน เห็นเสื้อ เห็นข้าวของเงินทองก็ดี มันจะคิดอย่างไรในการเห็นในการสัมผัส ได้ยินเสียงก็เหมือนกัน ฟังก่อนว่าเขาด่าเราจริงหรือ? เขาด่าว่าเราหมา เราเป็นหมาจริงไหม? เขาว่าไอ้ผี เราเป็นผีจริงหรือ? เขาว่าเราชั่ว เราชั่วจริงไหม? เราชั่วอย่างไร? เราดูใจเราก่อน เขาว่าเราเป็นควาย เราเป็นควายจริงหรือ? คนก็เป็นคน ควายก็เป็นควายอยู่นั่นเอง ไม่เหมือนกัน นี่เป็นจุดหนึ่งที่เราต้องศึกษาในสมมติ
คำว่าสมมติ นี้มีมากเหมือนกับต้นไม้ในป่า เหมือนกับเม็ดดินเม็ดทรายที่มีมาก แต่สัจธรรมจริงๆ โลกุตตรธรรมจริงๆ พระพุทธเจ้าสอนให้เจริญสติ สมาธิ ปัญญา ทำให้ความรู้สึกตัวเองนี้มีน้อยนิดเดียว คือการมองจิต มองใจ แค่นี้เอง พระพุทธเจ้าท่านสอนแค่นี้เอง เดี๋ยวนี้เราไปสอนกันแต่เรื่องสมมติ ก็เลยไปติดอยู่ในสมมติ ออกจากสมมติไม่ได้
อย่างอาตมานี้ ความจริงแล้วเป็นสมมติเท่านั้นเอง ความเป็นพระไม่อยู่ที่หัวโล้นของผ้าเหลือง นอนวัด นอนวาฉันมื้อเดียว อย่างนี้เป็นรูปแบบ แต่รูปแบบอย่างนี้ต้องมี ไม่ใช่พูดเพื่อทำลาย อย่างคนบางพวกเอาปูนมาทำพระพุทธรูป ก็ไปกราบไหว้ ว่าท่านคงดลบันดาลให้ได้ ที่จริงเป็นเพียงสมมติอันหนึ่ง จำพวกเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล ตะกรุด คาถา เล่นไปเล่นมาไม่รู้อะไรเป็นอะไร สะสมกันไปใหญ่เลยก็มี หลงสมมุติ แต่เราต้องเคารพสมมตินะ ไม่ทำลายสมมติ
อย่างนายประเสริฐ เป็นคนร้อยเอ็ด มาอยู่กรุงเทพฯ ขับแท็กซี่รับจ้างหาเลี้ยงชีพ วันหนึ่งเขาไปนั่งกินเหล้ากับเพื่อน แล้วคุยกันไปคุยกันมา เขาก็เอาเหรียญหลวงพ่อสมเด็จวัดระฆัง คือหลวงพ่อโตมาอวดกับเพื่อน ว่านี่ของดีของฉัน รุ่นที่ 1 มีราคาแพงมาก มีนายทหารคนนึงเขาต้องการมาก เขาให้ถึง 30,000 บาท นายประเสริฐไม่ขาย
พอดีมีพวกวัยรุ่นเขาก็อยากได้ แต่ไม่มีเงิน คนที่ไม่มีเงินอยากได้ของคนอื่นมีอย่างเดียวคือการแย่งชิง วิ่งราว ฉกฉวย ปล้นฆ่า ฯลฯ เขาก็เลยหลอกนายประเสริฐให้ไปส่งที่ซอยเปลี่ยวแห่งหนึ่ง แล้วเขาก็ฆ่านายประเสริฐเอาเหรียญไป ไม่อวดเหรียญหลวงพ่อนายประเสริฐก็คงไม่ถูกฆ่า พระรักษาคนได้ที่ไหน นี่แหละหนา เขาว่าหมองูตายเพราะงู ปลาหมอตายเพราะปาก คนมีของดีอาจตายเพราะของดีก็ได้ ของสมมติ มันรักษาคนไม่ได้ อาตมาเคยหลงผิดอย่างนั้นเหมือนกัน มีเหรียญอยู่ในคอ ก็มั่นใจว่าหลวงพ่อจะช่วย พอเขาด่านิดๆ หน่อยๆ ก็โกรธ มั่นใจว่าเขาแทงมาจะไม่เข้า คิดว่าเขายิงมาไม่ถูก คิดเอาเอง ที่จริงไม่ใช่
ดังนั้น การศึกษาธรรมะเรื่องสมมติก็ดี เรื่องสัจธรรมก็ดี เราต้องศึกษาให้เข้าใจกันแท้จริงๆ ที่จริงของขลังจริงๆ นั่นคือการดูตัวเอง เรามาศึกษาเรื่องสัจจะแห่งชีวิตกันดีกว่า
ในร่างกายคนเรานั้น มีส่วนประกอบอยู่ 2 ส่วน คือรูปกับนาม เราควรศึกษาให้มันรู้มาจากใจจริงๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมนามธรรม รูปทุกข์ นามทุกข์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องศาสนา เรื่องบาป เรื่องบุญ ถ้าเราปฏิบัติจริงจัง ทำให้ต่อเนื่องจริงๆ ในการเจริญสตินี้จะเห็นวัตถุปรมัตถ์และอาการ วัตถุ สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ เขาเรียกว่าวัตถุ แม้จะเป็นดินฟ้าอากาศก็ตาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ก็ตาม เรียกว่าวัตถุทั้งนั้น นี่เป็นตัวปรมัตถ์ที่เราเห็นอยู่ รู้เข้าใจได้ในปัจจุบัน
ในสมัยหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์เข้ามาประเทศไทย แล้วมาถามหลวงพ่อโตว่าโลกนี้เกิดเมื่อไหร่ หลวงพ่อโตก็ตอบว่า “เกิดแต่เมื่อข้าเกิดละโว้ย” แล้วเขาถามอีกว่า จุดศูนย์กลางโลกมันอยู่ที่ไหน ท่านก็เอาไม้เท้านั้นปักไปที่พื้นดินตรงหน้าแล้วบอกว่า “อยู่ตรงนี้” ทัศนะอันนี้ก็เป็นความถูกต้องอันหนึ่ง โลกเกิดเพราะเราไปสัมผัส สำคัญมั่นหมายว่าโลกเกิด ดวงอาทิตย์ก็เหมือนกัน เกิดวันที่เราสัมผัส ที่เราจำได้ ที่เรารู้จักความหมายนั่นแหละ มันเกิดตรงนั้น มันเป็นการเกิดด้านจิต ด้านวิญญาณ แต่สิ่งเหล่านั้นมันมีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้ามาเปิดช่องที่ปิด หงายของที่คว่ำ ส่องไฟในที่มืด ให้ผู้มีดวงตาทั้งหลายได้มองเห็นเท่านั้นเอง
การปฏิบัติธรรมะ การศึกษาธรรมะก็เหมือนกัน ถ้าเรามาเห็นจิตเห็นใจของตนเองแล้ว มันจะเป็นการเปิดตัวเองออกมา มองเห็นสภาวะ มองเห็นความรู้สึกที่เป็นเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของตัวเองได้ชัด ตาสว่าง
คนเราเป็นทุกข์ ก็วิ่งหาที่พึ่ง พึ่งผี พึ่งเทวดา พึ่งฤกษ์งามยามดี พึ่งประเพณีพิธีรีตอง พึ่งไปต่างๆ นานา พึ่งน้ำมนต์ของขลังศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่งไม่ถาวร ไม่เกษมสูงสุด เป็นที่พึ่งของคนมีปัญญายังไม่เพียงพอ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้นที่เป็นที่พึ่งสูงส่ง 100% เห็นชีวิตจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบจริงๆ มันจะเป็นตัวศิลป์ ตัวทำจริงๆ คนทุกคนคือตัวศีลธรรมมีอยู่ในคน ไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก ความสงบ ความปกตินี้เป็นเรื่อง “นิพพาน”
นิพพาน คือความปกติ ความสงบ ความเย็น ความพอ มันหยุดได้ เย็นได้ สถานที่ไหนก็ได้ คนไม่มีทุกข์อยู่ที่ไหนก็นิพพานที่นั่น โบราณเขาว่าความเย็นที่สุดอยู่ในเตาหลอมเหล็ก นิพพานจริงๆ นั้นอาจอยู่ในนรกก็ได้ อยู่ในวัฏสงสารก็ได้ เป็นอย่างนั้น
ผู้ใดก็ตามที่มีความทุกข์เกิดขึ้น อย่าไปเสียใจ จงศึกษาความไม่ทุกข์ภายในความทุกข์นั่นแหละ เพราะว่าความทุกข์นี้แหละทำให้เราศึกษาธรรมะได้ไวขึ้น คนที่มีความทุกข์ มีปัญหาในชีวิต คนนั้นจะสนใจธรรมะได้ เข้าใจเร็ว เห็นธรรมะได้เร็วขึ้น
การศึกษาธรรมะ ก็คือการศึกษาเรื่องชีวิต จิตใจ หรือศึกษาเรื่องพฤติกรรมของคนนั่นเอง ธรรมะก็คือตัวคนทุกคน ศาสนาคือตัวคนทุกคน พุทธศาสนาหมายถึงตัวสติปัญญาที่รู้เห็นคนในคน เห็นธรรมในธรรม เห็นตัวเองในตัวเอง
คนเรานี้เป็นตัวหลอกตัวลวง ก็มี แต่เราต้องฉีกหน้ากากแห่งความโง่ หลง งมงาย โกรธ โลภ ออก แล้วเราจะเห็นหน้าตาจริงๆ ของตัวเอง ฉีกอกฉีกใจของตัวเองแล้วดูใกล้ๆ ชัดๆ ดูลงไปที่กาย ที่ใจของตัวเอง ที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันเฉพาะหน้าจริงๆ แล้วเราจะเห็นของจริง
ดังนั้น อาตมารับรองว่าทุกคนไม่ต้องการความทุกข์ ก็เพราะเราสนใจไม่ถูกจุด ขุดไม่ถูกที่ เกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เขี่ยไม่ถูกที่ ถ้าเขี่ยถูกจุด ถูกที่แล้วจะดี การมองจิตใจ ดูความรู้สึก ดูความคิด เราจะต้องมีเทคนิคศิลปะในการดู ดูแล้วดูเฉยๆ ดูว่างๆ ดูสบายๆ ดูแล้วปล่อย ดูแล้ววาง จิตใจจะว่าง จิตใจจะสงบ ความคิดจะสว่างในทางสายใหม่
อาตมาขอให้ข้อคิดอีกนิดว่า ขณะที่กายเคลื่อนไหวก็ดี ใจนึกคิดก็ดี ปล่อยเลย คิดแล้วก็แล้วไป ดีหรือชั่วก็ตาม สุขหรือทุกข์ก็ตาม ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม เพียงแต่รู้อยู่ในปัจจุบัน อดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังไม่มา ก็ไปแก้ไขไม่ได้ ปล่อยวางลูกเดียว วางเฉย แม้แต่เราก็ตายเหมือนกัน คิดไปอย่างนั้นมันก็เลยสบาย มีทางออกว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันปล่อยวางได้ ใจสบายได้ เป็นอย่างนั้น
ดังนั้น ที่อาตมาพูดมาก็ใช้เวลาเกือบชั่วโมง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้ฟังที่อยู่ที่นี่ก็คงจะรู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น บางคนอาจจะยังไม่สนใจ แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้าสนใจจริงๆ ก็มาพูดคุยกับอาตมาได้ มาสนทนากันได้ มาปฏิบัติกันได้ ถ้าใครมีเวลาพอก็ไปปฏิบัติธรรมกันที่วัดสนามในก็ได้ ซึ่งหลวงพ่อเทียนท่านอยู่ที่นั่น อาตมารับรอง
อาตมารับรอง เอาชีวิตเป็นเดิมพัน จับมือกันได้ วิธีการปฏิบัติแบบนี้เป็นวิธีการที่ง่ายสำหรับผู้สนใจ แต่ถ้าปฏิบัติไม่จริงก็ไม่รับรอง แล้วก็ไม่จับมือด้วย
พุทธศาสนา ไม่สอนอื่นไกล สอนเรื่องกาย เรื่องวาจา เรื่องใจของเรา ถ้าเรามองเห็นจิตเห็นใจอยู่เรื่อย การทำงานก็จะไม่มีทุกข์ ก็จะมีความสุขไปกับการทำงาน การทำงานนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนั่นแหละคือการทำงาน มันกลับกันอย่างนี้ มันเป็นอยู่อย่างนี้ อย่างคนโบราณเขาว่า “ดีใจกับใจดี” มันคนละอันกัน “ใจรู้กับรู้ใจ” มันคนละอันกัน “แน่นอนกับนอนแน่” ก็คนละอันกัน พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ใจดี ใจงาม ใจสงบ ใจร่มเย็น ใจสว่าง ใจไม่มีทุกข์ ไม่เป็นอะไรก็ได้ จะเป็นพระก็ได้ จะเป็นโยมก็ได้
ดังนั้น ขอฝากข้อคิดอีกครั้งแด่ท่านด้วย มองจิตมองใจของตัวเองด้วยความจริงใจ ถ้าเรามีสติสำนึกอยู่เรื่อย ๆ ทำอยู่บ่อยๆ ทำอยู่เนืองๆ ให้ถึงที่สุด ชีวิตของเราก็จะสว่าง ไม่มีทุกข์ มีแต่ความสะอาด มีแต่ความบริสุทธิ์ มีแต่ความสงบ ย่อมเป็นชีวิตที่มีศีลมีธรรม มีสติปัญญา รู้อยู่ รู้อยู่ รู้อยู่ รู้อยู่อย่างนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น คิดปุ๊บเราก็เห็นปั๊บเลย แล้วปล่อยวางทันที ดับไปทันที เกิดปุ๊บเห็นปั๊บมันก็ดับทันที เกิดๆ ดับๆ เกิดๆ ดับๆ จนคล่องแคล่ว แล้วก็เกิดความชำนาญ เมื่อชำนาญในการเห็นการเกิดเกิดดับๆ นั้นมากเข้า เมื่อมากเข้าย่อมเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็เริ่มเซ็ง และความเซ็งนั้นจะจางคลาย หลุดลอยพ้นออกไปจากจิต ที่เรียกว่า วิมุตติหลุดพ้น หมดทุกข์ เข้าสู่มหาอมตะนิพพาน อย่างไร้ขอบเขตของโลก ชีวิต จิตใจ สรรพสิ่งต่างๆ และชีวิตใหม่ย่อมสว่าง สดชื่นแจ่มใส พร้อมทั้งเบิกบานในกลางใจ
อาตมาพูดมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอจบลงคงไว้ด้วยเวลาเพียงเท่านี้ ท้ายที่สุดนี้ อาตมาภาพขออำนวยอวยพรแด่ท่านผู้ที่สนใจในตัวเองทั้งหลาย จงมองชีวิต เห็นจิตเห็นใจของตัวเองในการยืน เดิน นั่ง นอน ในขณะนี้ หรือในขณะต่อๆ ไปก็ดี ก็จะมีความสุขสงบร่มรื่น เมื่อพยายามถึงที่สุดแห่งการกระทำแล้ว ก็จะไม่มีทุกข์ ใจก็จะเปิดประตูสวรรค์ ส่องแสงนิพพานสว่างออกมา เป็นการเข้าถึงตัวแท้ของพุทธศาสนา เข้าถึงแก่นแท้ของชีวิต จิตใจ ชีวิตก็จะสะอาด สว่าง สงบ เป็นชีวิตที่ประเสริฐ ปราศจากความทุกข์โศกโรคภัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จงทั่วหน้ากันทุกท่านทุกคน เทอญ
ใส่ความเห็น