ประธานสงฆ์ วัดสนามใน

หลวงพ่อดา สมฺมาคโต ประธานสงฆ์ วัดสนามใน

พระมหาเถระซึ่งเป็นศิษย์เอกรูปหนึ่ง ของหลวงปู่เทียน จิตฺตสุโภ

ประวัติหลวงพ่อดา สมฺมาคโต

หลวงพ่อดา สมฺมาคโต เกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2494 ที่บ้านโนนสว่าง หมู่ 7 ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรของนายที นิลพันธ์ และนางอ่อนสา นิลพันธ์

หลวงพ่อจบการศึกษาภาคบังคับในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในวัยเด็กท่านได้ติดตามพ่อแม่ไปวัดเพื่อทำบุญตักบาตรอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดศรัทธาและความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาตั้งแต่นั้นมา

ในปี พ.ศ. 2505 เมื่ออายุครบ 12 ปี ท่านได้ขออนุญาตจากบิดามารดาเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร และในปี พ.ศ. 2510 ขณะอายุ 16 ปี ท่านได้บวชเป็นสามเณร และครองผ้าไตรอยู่เป็นเวลา 5 พรรษา ก่อนจะลาสิกขาออกมาดูแลพ่อแม่ เนื่องจากพี่และน้องของท่านได้เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทิ้งให้บิดามารดาอยู่ลำพัง

ในปี พ.ศ. 2511-2512 ครอบครัวของท่านได้ย้ายไปที่บ้านปากอูน อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โดยใช้เงินจำนวน 7,000 บาทเพื่อซื้อที่ดินสำหรับทำการเกษตร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 หลวงพ่อดาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณีที่วัดป่านิกายธรรมยุต เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณของบิดามารดา ท่านได้ครองสมณเพศในนิกายธรรมยุตเป็นเวลา 4 พรรษา

ในปี พ.ศ. 2517 ท่านได้มีโอกาสพบกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโก และศึกษาแนวทางการปฏิบัติจากท่าน เกิดความเลื่อมใสและศรัทธาอย่างลึกซึ้งในปฏิปทาของหลวงพ่อเทียน จึงตัดสินใจเปลี่ยนจากนิกายธรรมยุตมาเป็นนิกายมหานิกายในปี พ.ศ. 2518 เพื่อจะได้ปฏิบัติร่วมกับหลวงพ่อเทียน ท่านยังได้สอบนักธรรมชั้นเอกในปีเดียวกันนี้ด้วย

ในระหว่างปี พ.ศ. 2520-2521 หลวงพ่อดาได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสนามใน เพื่อศึกษาธรรมะกับหลวงพ่อเทียนอย่างจริงจัง จนกระทั่งหมดสิ้นความสงสัยในธรรมะ

จากนั้นในปี พ.ศ. 2522 ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดโมกข์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2523-2531 ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดสนามในอีกครั้ง

ในปี พ.ศ. 2540 ท่านได้สอบเป็นพระธรรมทูตและได้รับประกาศนียบัตรรับรองเพื่อไปเผยแผ่พระธรรมในต่างประเทศ

ในปี พ.ศ. 2567 เมื่อหลวงพ่อทอง อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสนามใน ได้มรณภาพ หลวงพ่อดาได้เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาที่วัดสนามใน เพื่อตอบแทนบุญคุณและสืบทอดปฏิปทาของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโก

คณะสงฆ์และญาติธรรมวัดสนามในได้พร้อมเพรียงกันอาราธนา หลวงพ่อดา สมฺมาคโต

ขึ้นเป็นประธานสงฆ์ วัดสนามใน เมื่อวันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *