“นิพพาน คืออะไร ?
ว่าโดยย่อ **‘นิพพาน’หมายถึงความพยศหมดไป
หรือความมีมานะ-ทิฏฐิหมดไป
หรือความมีโทสะ-โมหะ-โลภะหมดไป
หรืออีกคำหนึ่งว่า กิเลส-ตัณหา-อุปาทานหมดไป
มีแต่ความเป็นปกติ หรือว่าว่าง นี่แหละคือนิพพาน
สรุป ‘นิพพาน’…แปลว่าหมดความร้อน มีแต่ความเย็นอก-เย็นใจ**
ไม่ใช่อื่นไกล
**นิพพานมีอยู่ในคนทุกคน ไม่ยกเว้น**
จะเป็นผู้หญิงก็มีนิพพาน จะเป็นผู้ชายก็มีนิพพาน
จะเป็นพระสงฆ์-องค์เณรก็มีนิพพาน
คนไทย คนจีน คนฝรั่งเศส คนอังกฤษ คนอเมริกัน
คนเขมร คนญวน คนลาว ก็มีนิพพานเช่นเดียวกัน
จะถือศาสนาไหน-ลัทธิอะไรก็ตาม มีนิพพานเช่นเดียวกัน
**‘นิพพาน’ คือความร้อนดับ-หมดไป มีแต่ความเย็นอก-เย็นใจ**
คนโบราณจึงพูดว่า
‘สวรรค์อยู่ในอก-นรกอยู่ในใจ-พระนิพพานอยู่ที่ใจ’
*เพียงแต่ว่า คน ๆ นั้นแหละ
จะทำให้มรรคผลนิพพานปรากฏเกิดขึ้นหรือไม่เท่านั้นเอง*
ปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้ถึงซึ่งกระแสพระนิพพาน ?
*ตามที่หลวงพ่อปฏิบัติอยู่ อาจจะไม่เหมือนกับที่คนอื่นพูดมา
สำหรับหลวงพ่อเอง
เคยให้ทาน-รักษาศีล-ทำกัมมัฏฐานมาพอสมควร
แต่ไม่รู้ว่านิพพานอยู่ที่ไหน ?
ไม่รู้ เพราะไม่ได้ปฏิบัติอย่างนี้*
**การปฏิบัติอย่างนี้
หมายถึง ปฏิบัติให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถ
แม้จะยกมือ-ยกเท้า ก็ให้มีสติรู้
ที่หลวงพ่อทำอยู่เป็นประจำ หลวงพ่อสร้างจังหวะขึ้นเพื่อปฏิบัติ
คือ พลิกมือขึ้น-ให้รู้สึก คว่ำมือลง-ให้รู้สึก
ยกมือไป-ให้รู้สึก เอามือมา-ให้รู้สึก
และอิริยาบถในชีวิตประจำวัน
เช่น เอียงซ้าย-เอียงขวา…ให้รู้สึก
กะพริบตา-ให้รู้สึก ตาเหลือบซ้าย-แลขวา…ให้รู้สึก
หายใจเข้า-หายใจออก…ให้รู้สึก
ให้มีสติติดตามความรู้สึกนี่เอง
จิตใจมันนึก-มันคิด ให้รู้สึก
เมื่อรู้สึกแล้ว ไม่ต้องยึดถือ-ปล่อยวางไป
ทำอย่างนี้แหละ**
ความรู้สึกนั้น ท่านว่า‘สัญญา’-คือความหมายรู้จำได้
เมื่อมีสัญญา-ความหมายรู้จำได้ ญาณก็เข้าไปรู้
‘ญาณ’ แปลว่าเข้าไปรู้
เมื่อญาณเข้าไปรู้แล้ว ปัญญาก็รอบรู้
ทั้ง ๓ อย่างนั่นแหละประกอบกันเข้าเรียกว่า‘ญาณของวิปัสสนา’
**เมื่อทำความรู้สึกอยู่ทุกอิริยาบถ
ญาณของวิปัสสนาก็เกิดขึ้นแก่ผู้กระทำเช่นนั้น
เมื่อญาณของวิปัสสนาเกิดขึ้นแล้ว
ก็เห็นแจ้ง-รู้จริงตามความเป็นจริง
เพราะศึกษาอยู่กับธรรมชาติ
ศึกษาอย่างนี้แหละ จึงจะได้กระแสพระนิพพาน**
ทำไมจึงว่าได้กระแสพระนิพพาน ? บางคนอาจจะสงสัย
ก็เพราะรู้รูป-รู้นาม รู้รูปทำ-รู้นามทำ รู้รูปโรค-รู้นามโรค
รู้ทุกขัง-รู้อนิจจัง-รู้อนัตตา
รู้สมมติ สมมติอะไร…รู้ให้ครบ ให้จบ-ให้ถ้วน
แล้วก็รู้ศาสนา-รู้พุทธศาสนา รู้บาป-รู้บุญ
**รู้ได้จริง ๆ ถ้าทำอย่างนี้
ไม่ยกเว้นใครเลย ใครทำก็รู้ทั้งนั้น
ทำเมื่อไหร่ก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ทำได้
อย่างนี้เรียกว่า‘ได้ดวงตาเห็นธรรม’
เพราะเห็นตัวเรากำลังนึก-กำลังคิด กำลังพูด-กำลังทำ
นี่เรียกว่า‘เห็นธรรม’
เห็นอย่างนี้เห็นธรรมแท้ ๆ ไม่แปรผัน**…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น