“…*คนส่วนมากรู้จักศาสนาเพียงแค่เปลือก
คือการทำบุญ-ให้ทาน-รักษาศีล
ส่วนที่จะรู้จักการทำกรรมฐานหรือวิปัสสนา-มีน้อย*
*การทำบุญให้ทานหรือรักษาศีล ก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่ก็ให้ได้เพียงความอิ่มใจชั่วคราวเท่านั้น
ไม่สามารถดับทุกข์ หรือแก้ปัญหาตัวเองได้
ในด้านการศึกษาทางโลก
แม้นท่านจะเรียนจนได้ปริญญาตรี-โท-เอก
ก็เป็นสิ่งดี ใช้เลี้ยงชีวิต
แต่ก็ยังไม่ใช่การศึกษาของตัวชีวิตอย่างแท้จริง
การทำมาหากิน ได้ทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ นับล้าน ๆ บาท
นั้นก็ดี แต่ก็ไม่ใช่เป็นทางเดินของชีวิตที่แท้จริง
เอามาดับทุกข์ แก้ปัญหาตัวเองไม่ได้
การศึกษาสูง ๆ หรือความร่ำรวยเงินทอง
บางครั้งอาจเป็นเครื่องบังจักษุปัญญา
เป็นสิ่งปิดกั้นไม่ให้รู้-เห็นชีวิตจิตใจ ความนึกคิดของตนเองได้*
ดังนั้น**ข้าพเจ้าจึงอยากให้ท่านทั้งหลาย
หันกลับมาศึกษาและปฏิบัติธรรม
คือปฏิบัติลงไปในตัวชีวิตของเรานี้ ด้วยการมาดูตัวเอง
เพราะความเดือดร้อน ความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ผู้อื่น**
*ดังที่เราชอบโทษผู้อื่นว่านำความทุกข์
(นำ)ความเดือดร้อนมาให้เรา ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด
เมื่อก่อนข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
เอาแต่ทำบุญให้ทาน-รักษาศีล สร้างโบสถ์-สร้างพระพุทธรูป
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่ แต่ไม่สามารถแก้ทุกข์ในตัวเองได้
เมื่อเผลอสติหรือลืมตัว ความทุกข์ก็เข้ามาทันที*
ข้าพเจ้าไปที่สิงคโปร์ สังเกตดูคนที่นั่น
มีความตื่นตัวและสนใจในธรรมะมาก
ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านั้นมีการศึกษา-เล่าเรียนสูง
มีฐานะดี-มีเงินทองมาก การเศรษฐกิจดีกว่าบ้านเรา
แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยให้เขามีความสุขอันถาวรได้
เขาจึงพากันมาปฏิบัติธรรม ฟังธรรม
ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย
ต้องมีอาจารย์ชูศรี-อาจารย์โกวิท เป็นล่ามแปล
ดังนั้น**การศึกษาธรรมะ ก็คือการมาศึกษาตัวเอง
คอยดูความรู้สึกนึกคิด ไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิประเพณี
หรือสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมด จะเป็นคนชาติไหน-พูดภาษาใด
นุ่งห่มสีอะไร จะเป็นนักบวชก็ได้-ไม่บวชก็ได้
จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ นับถือศาสนาไหน
ถ้ามาศึกษาที่ตัวเองมาดูความคิดของตนเอง
ก็เป็นการมารู้จัก-มาเข้าใจธรรมะ ดับทุกข์ได้ทุกคน**
เพราะฉะนั้น**ข้าพเจ้า
จึงอยากให้พวกเราทำความรู้สึกตัวให้มาก ๆ
ความรู้สึกตัวนี้แหละ ไม่ทำให้เราหลง
และเป็นการทำให้เราเห็นตัวชีวิตจิตใจจริง ๆ
อันที่จริงแล้ว ชีวิตจิตใจของคนนั้นไม่เคยมีความทุกข์**
*เมื่อใดเราเผลอตัว เรียกว่า‘หลง’
จึงถลำไปกับสิ่งที่เราคิด
ความคิดเหล่านั้นก็เกิดการปรุงแต่ง สร้างเรื่องราวขึ้น
เมื่อสร้างเรื่องขึ้น ก็ออกนอกตัวไป
ไม่รู้ตัวเอง ไหลไปตามอำนาจของเรื่องราวต่าง ๆ ที่สร้าง
สิ่งเหล่านั้นจึงทำให้เกิดความทุกข์-ความเดือดร้อน*
**คนเรานี้มี‘กาย’กับ‘ใจ’เท่านั้น
กายก็คือสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา ก็คือ‘รูป’
ส่วนใจมองไม่เห็นด้วยตา-แต่รู้สึกได้ ก็คือ‘นาม’
ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมะ ก็คือรูปกับนาม
ภาษาชาวบ้าน ก็ว่ากายกับใจ**
ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นคำเดียวกัน
แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งสมมติขึ้นมาเรียกเท่านั้น
*คนเรามักไม่เข้าใจในสมมติ*
เช่น การบวชเป็นพระ-ก็เป็นเพียงสมมติ
คำว่าพระนั้น ส่วนใหญ่คนเราไม่ค่อยเข้าใจกัน
คำว่า‘พระ’ หมายถึงผู้สอนเรื่องของชีวิตจิตใจ
ไม่ได้หมายถึงผู้ที่นุ่งห่มผ้าเหลืองอย่างเดียว
ดังนั้น**ความเป็นพระ ก็อยู่ที่จิตใจของเราทุก ๆ คนนี้เอง
จะเป็นพระภิกษุ-สามเณร ผู้หญิง-ผู้ชาย
ถ้าเห็นความคิด-เห็นจิตใจ
มีความสะอาด-สว่าง-สงบอยู่ ก็เป็นพระ
สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในทุกคน
อยู่ที่ตัวเราจะสนใจปฏิบัติให้รู้หรือไม่ !**…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น