“การปฏิบัติธรรม มันมีวิธีการต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน
กล่าวคือ แนะแนวไปตามอุดมการณ์ของแต่ละคน
คนใดรู้สิ่งใด-ก็เอาสิ่งนั้นมาสอน เรียกว่า‘ศาสนา’
ศาสนาจึงแปลว่าคำสอน **ศาสนาคือตัวเรานี่แหละ
ตัวทุกคนนี่แหละเป็นตัวศาสนา**
แล้วสอน-ก็สอนเข้าหู คนมันมีหู-คนมันมีตา
สอนให้ดู-ดูให้เห็น หูให้ฟัง…ฟังแล้วจำเอานำไปใช้-นำไปปฏิบัติ
ท่านสอน ไม่ใช่ว่าสอนแล้วจะไปนิ่งนอนใจอยู่-ก็ไม่ได้
*สอนแต่ผู้อื่น-แต่ไม่ได้สอนตัวเอง ก็ไม่ได้
การสอนคนอื่นนั้น-สอนง่าย แต่สอนตัวเอง-สอนยาก*
ความผิดนั้น ท่านจึงว่า‘ยกมาเป็นครู-เป็นอาจารย์’
แต่*เราก็ไม่เข้าใจ เราเข้าใจเอาแต่เพียงว่า
รู้เอาไว้ไปสอนคนอื่น แต่ตัวเราเองไม่เคยสอนสักที*
หลวงพ่อก็เคยเป็นอย่างนั้น
เห็นคนอื่นทำผิดนี้ ฉวยจับเอามาว่าเลย
ตัวเองทำผิด-ไม่เคยว่าสักที นี่-มันเป็นอย่างนั้น
จึงว่า‘ความผิดเป็นครู-แต่อย่าทำผิด’
**พวกเรามาปฏิบัติอยู่ที่นี้ มีวิธีทำจังหวะ
แล้วก็เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้มีการนิ่ง
การนั่งนิ่งนั่นเป็นอุปสรรค มันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ
วิธีการที่หลวงพ่อนำมาใช้อยู่ทุกวันนี้ จึงว่าไม่ต้องนั่งนิ่ง
แต่ให้ทำจังหวะมาก ๆ โดยเฉพาะคนใหม่ ๆ นี่
ต้องทำจังหวะมาก ๆ ทำช้า ๆ
นาน ๆ ไป พอมันรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ…ที่เรียกว่ารู้เรื่องรูป-เรื่องนามนี้
บัดนี้ต้องเดินจงกรมให้มาก
การเดินจงกรมนั้นก็ดี แต่ว่าสำหรับคนใหม่ ๆ นั้น-สู้การทำจังหวะไม่ได้
การทำจังหวะ ต้องทำช้า ๆ นิ่ม ๆ หรือทำอ่อน ๆ
ถ้าทำแรง ๆ ทำไว ๆ มันกำหนดไม่ทัน
สติเรามันยังไม่แข็งแรง จึงว่าให้ทำช้า ๆ อ่อน ๆ
ทำให้เป็นจังหวะ-จังหวะ ให้รู้สึก
มันหยุด-มันนิ่ง…ก็ให้มันรู้สึก มันไหวไป-ไหวมา…ก็ให้มันรู้สึก
ความรู้สึก-มันก่อให้เกิดปัญญา
มันก่อให้เกิดญาณขึ้นตามธรรมชาติของมันเอง**
*ส่วนความไม่รู้สึกนั้น มันเป็นเพราะไม่ได้กำหนดตัวเอง
หรือว่าเป็นไปด้วยอวิชชา เป็นไปเพราะความไม่รู้*
ความไม่รู้สึกตัวนี้ ท่านว่าเหมือนกับสัตว์
ตัวหมู-หมา-เป็ด-ไก่-วัว-ควายนี้ มันไม่รู้สึก
แต่มันก็ไปเป็น-มาเป็น-กินเป็น-นอนเป็น-สืบพันธุ์เป็น แต่มันไม่รู้สึก
ในขณะที่มันทำ-มันพูด-มันคิดนั้น มันไม่รู้สึก-แต่มันก็ทำไป
เราก็เห็นอยู่นี่ เช่น สุนัขตามวัด
พอมีตัวใด-ตัวหนึ่งขยับยึกยักวิ่ง ตัวอื่น ๆ มันวิ่งตามกันไปทันที
ท่านว่า‘มันไม่รู้สึกตัวมัน’ แต่มันก็รู้…ที่มันวิ่ง-มันแล่นไปนั่นนะ
คนเรา-มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น จึงว่าให้ฝึกหัดดัดนิสัย-ฝึกหัดดัดแปลงแก้ไขตัวเอง
ไม่ใช่ว่าทำไปแล้ว จะมีผู้ใดมายกย่องเชิดชูอย่างนั้น-อย่างนี้
ไม่มี ถ้าขืนเป็นอย่างนั้นแล้ว-เลยไม่ได้ดูตัวเราเอง
**การปฏิบัตินั้น จึงว่าพยายามฝึกหัดดัดนิสัยตัวเอง-ฝืนนิสัย**
หลวงพ่อจึงเคยสอนว่า‘กลางวันไม่ต้องนอน’
ไม่นอนจริง ๆ-ตัวหลวงพ่อ พยายามทำอยู่ตลอดเวลา
กลางคืนถึงจะนอน ถ้าไม่นอน-ก็ไม่ได้…มันจะไม่ได้พักผ่อน
แต่กลางวันไม่นอน และก็ไม่ชอบคุย
อย่างที่หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟัง นายฮ้อยหัวหมู่เคยปฏิบัติธรรมด้วยกัน
เป็นคนชอบพอกัน…พอถึงเวลา ก็มาแล้ว-มาคุย
หลวงพ่อก็หาทางหนี ไม่อยากพูด-ไม่อยากคุย
เพราะตัวเองมาปฏิบัติธรรมะ จะมาเป็นคนชอบพูด-ชอบคุย…มันไม่ได้
เลยไม่ได้ทำธุระหน้าที่ของตัวเอง
การที่ตัวเองเป็นคนชอบพูด-ชอบคุยนั้น มันคิดไปโน้นแล้ว-ใจ…แล้วเราไม่เห็น
*ในขณะที่เรากำลังพูด-กำลังคุยอยู่นั้น ก็ไม่ได้ดูตัวเราเสียอีกแล้ว-มันเป็นอย่างนั้น
ตัวความรู้นั้น-มันจึงไม่ปรากฏเกิดขึ้น เพราะความไม่รู้นั้น-มันมีอยู่แล้วนะ
ความไม่รู้คืออะไร ? ก็คือความไม่รู้ตัวเรา-มันไปรู้ที่อื่นนู้น
ท่านว่า‘อวิชชา’ อวิชชาแปลว่าความไม่รู้
‘อะ’-แปลว่าไม่ ‘วิชชา’-แปลว่ารู้…มันรู้ไปอย่างอื่นนู่น-แต่มันไม่รู้ตัวเอง*
**วิชชาแปลว่ารู้ วิชชานี้คือว่ารู้รอบตัวเรา
อย่าปล่อยปละละเลย-ไปรู้ของอย่างอื่น ให้มันรู้อยู่ที่รอบตัวของเรานี้
เคลื่อนไหว-ให้มันรู้**
เมื่อหลวงพ่อหลบเขาไปแล้ว ๒-๓ ครั้ง เขาก็เลยไม่มาอีก
เพราะเขารู้แล้วว่าหลวงพ่อไม่อยากพูด-ไม่อยากคุยกับเขา
หลวงพ่ออกไปเดินโน่น ตากแดดอยู่ทุ่งนา-เดินอยู่ในทุ่งนาโน่น
ไม่เข้ามาพูด-มาคุย เป็นอย่างนั้นนะ-นิสัย
**เราต้องรู้จักคำนึง-คำนวณอยู่เสมอ การปฏิบัติธรรม
เราไปเข้าห้องน้ำ-ห้องส้วม ก็เป็นการปฏิบัติธรรม
มาฉันข้าวนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ไปสรงน้ำก็เป็นการปฏิบัติธรรม
ให้ว่าทุกสิ่ง-ทุกอย่าง ล้วนเป็นการปฏิบัติธรรมทั้งนั้น
การปฏิบัติธรรมะ จึงไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์กาล-สถานที่ใด ๆ ทั้งหมด
ถ้าหากเรารู้จักวิธีปฏิบัติจริง ๆ**
คนที่ไม่รู้จักวิธี-ก็ไปนั่งอยู่อย่างนั้นล่ะ ทำอยู่อย่างนั้นล่ะ-จังหวะ
แต่คิดไปทางใด-ก็ไม่รู้ ร้อยอันพันอย่าง-ไม่รู้สึกตัว
รู้น้อย ให้ว่าอย่างงั้นเถอะไป๊
มันคิด-จึงค่อยรู้ ถ้าอย่างนี้-มันก็รู้เรื่องหนึ่งแล้วนะนั่น
**อันเคลื่อนไหวนี้-ให้มันรู้จริง ๆ อันมันกระพริบตา-หายใจ
มันนึก-มันคิด ให้มันรู้เท่าทันเหตุการณ์อันนั้น ๆ จริง ๆ**
**พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า‘ทุกข์ให้กำหนดรู้’
อันตัวทุกข์นี้ก็คือตัวเคลื่อน-ตัวไหว อันนี้ละเป็นตัวทุกข์-ท่านสอนให้รู้ทุกข์อันนี้แหละ
‘สมุทัยต้องละ’ แต่นี่มันไม่ละ-มันคิดไป
อันตัวสมุทัยกับตัวคิด ก็คือตัวเดียวกันนั่นแหละ
‘มรรคต้องเจริญ’ เจริญก็คือทำนั่นแหละ
‘นิโรธต้องทำให้แจ้ง’…ทำไป-ทำไป เราก็จะรู้มากเข้า-รู้มากเข้า
สะสมเข้าทีละเล็ก-ละน้อย…มันก็เลยแจ้ง นี่-รู้จัก
ก่อนที่จะรู้จัก ต้องอาศัยญาณปัญญาหรือญาณเกิดขึ้น
มันมีญาณเกิดขึ้นตามลำดับ ตามขั้น-ตามตอนของมัน…ที่หลวงพ่อทำมา**
*ไม่ใช่จะไปจำเอาจากคำพูดของคนนั้น-คนนี้ ไม่ใช่*
หลวงพ่อรู้ หลวงพ่อจึงว่า‘ไม่พูดคำคนอื่น’-พูดคำอย่างที่หลวงพ่อพูดอยู่นี่ล่ะ
คนอื่น-ท่านรู้อย่างนั้น ท่านก็เอาเรื่องนั้นมาสอน
หลวงพ่อไม่ได้รู้อย่างนั้น **รู้เพราะการกระทำ
รู้การกระทำของตัวเอง นี่แหละที่หลวงพ่อรู้
จึงว่า‘พวกเรา ถ้าปฏิบัติจริง ๆ-ก็ต้องพยายามทำจริง ๆ
อย่าเป็นคนหลอกตัวเอง’** คนมันชอบหลอกตัวเอง
ไม่ว่าใครทั้งนั้นแหละ ชอบหลอกตัวเอง…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น