“…ตอนเย็นหลังจากไปอาบน้ำแล้ว
ก็เดินจงกรม เดินกลับไป-กลับมา…ความคิดวูบขึ้นมา
คล้าย ๆ กับมีคนมาผลักที่สีข้างนี้เอง
ก็เลยมาหาความคิด
ความคิดมันไม่เป็นตน-ไม่เป็นตัว หาไปก็ไม่เห็น
‘เอ๊! มันเป็นอะไร ดูมันไม่เห็น’
มันคิดขึ้นมาวูบที่ ๒ นี่ ‘เอ๊! มันคิดขึ้นมาจากที่นี่’
ก็เลยคอยจ้อง เหมือนแมวกับหนูนี่แหละ
พอดีหนูออกมา แมวตะครุบทันที
อันนี้ก็เหมือนกัน
**พอดีมันคิดขึ้นมาปุ๊บ เห็นทันที
รู้เท่า-รู้ทัน รู้จักกัน-รู้จักแก้
รู้จักเอาชนะได้จริง ๆ ในเรื่องนี้
มันมีในคนและสัตว์
ก็เลยรู้สมุฏฐานต้นเหตุกำเนิดที่เกิดของทุกข์จริง ๆ**
*ความจริง ความโกรธ-ความโลภ-ความหลง
มันก็ไม่ได้มีอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะเราหลง
คือเราไม่ได้เห็นต้นตอของชีวิต-จิตใจนี่เอง*
มันเป็นอย่างนั้น
สมมติให้ฟัง
เรามาที่นี่ นอน(บนพื้น)ดิน
บางคนก็มีสาด-มีเสื่อปู บางคนก็ปูผ้ายาง
บางคนก็มีผ้าจีวรปู ญาติโยมก็เอาผ้าอาบน้ำปู
เมื่อกางมุ้งลง ยุงมันเข้ามากัดเราไม่ได้
แต่สำหรับมด มันต้องกัดเราได้นะ
บางคนมีปัญญา เอามุ้งลงใต้เสื่อ-ใต้สาด-ใต้ผ้าปู
แต่มันยังหาวิธีเข้ามากัดเราได้
เมื่อไม่รู้วิธีกางมุ้ง มดมันไต่เข้ามาสบาย
มันเข้ามากัดเราได้ทุกค่ำ-ทุกคืน
บัดนี้คนที่มีปัญญาพอสมควร ก็ต้องคิดหาวิธี
ว่าเราจะทำอย่างไร จึงจะไม่ให้มดมากัดเรา
เราต้องหาสมุฏฐานและปากรูของมด ว่ามันอยู่ที่ไหน ?
เราต้องค้นหาทางของมัน ว่ามันมาจากที่ไหน ?
เราต้องทำลายรังของมัน มดมันก็จะหนี
(มด)มันเข้ามาใกล้เราไม่ได้ฉันใด
ที่เราจะทำลายความโกรธ-ความโลภ-ความหลง ก็เช่นเดียวกัน
**เราต้องมาดูต้นตอของชีวิต-จิตใจนี่เอง**
ทีนี้มดมันก็ไม่ได้มาหาเรา (ไม่ได้)มากัดเราแล้ว
เพราะเรารู้จักต้นเหตุหรือสมุฏฐานของมัน
เราไปตัดเส้นทางมันได้ เราไปทำลายรังมันได้
มันก็ไม่มารบกวนเราอีก
อันนี้แหละ ท่านผู้ฟังทั้งหลาย
**‘การเป็นชาวพุทธ มันไม่ยาก’**
*แต่บางคนเข้าใจว่า
ไปเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว ไปทำมาหากินไม่ได้
อันนั้นมันเป็นการเข้าใจผิด*
**ถ้าหากเรารู้วิปัสสนาแล้ว
นำเอาไปใช้กับการงานได้ทุกวิธี ได้ทุกลมหายใจ
เพราะไม่มีทุกข์นั่นเอง
คำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้เราดับทุกข์ที่ตรงนี้
ไม่ใช่ว่า ตายแล้วจึงจะไปดับทุกข์**
*ตายแล้ว มันจะไปดับทุกข์ได้อย่างไร ?
มันดับไม่ได้ !*…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น