รู้สึกกาย รู้สึกใจ 11 พฤษภาคม 2023

“…**จิตใจที่สบาย จิตใจไม่ยึด-ไม่ถือ

อันนั้นแหละ ท่านเรียกว่า‘สันติ’-คือความสงบ

ความสงบอยู่ที่ไหน ?

ก็อยู่ที่เรานี่เอง** *อย่าไปศึกษาที่อื่น*

**อุเบกขา-วางเฉย อยู่ที่ไหน ?

ที่จิตใจ คือลักษณะจิตใจที่ไม่ยึดมั่น-ถือมั่น**

*ความยึดมั่น-ถือมั่น มันไม่ใช่ใจเรา

เขาเรียกว่า‘กิเลส’ ท่านว่าอย่างนั้น

เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง

จิตใจของคนทุกคนเหมือนกัน แต่มันไม่เข้าใจ*

พูดให้ฟังแล้ว-ไม่เข้าใจ ท่านจึงว่า‘นานาจิตตัง’

เห็นเขาทำผิด สงสารเขาบ้าง-เพราะเขาไม่รู้

เขาไม่รู้-เขาจึงทำ พวกหนูเข้าใจไหม ?

ถ้าเขารู้แล้ว เขาไม่ทำ

อย่างเขาเดินตกบันได-เขาไม่รู้ว่าจะตกบันได เขาตกบันได-เขาเจ็บ…นี่

เขาเรียนหนังสือ…เขาสอบ นึกว่าเขียนข้อนี้-มันจะถูกต้อง

เขาจึงเขียนไป แต่มันผิด

*เห็นเขาทำผิดนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่า‘น่าสงสาร-เพราะเขาไม่รู้

ถ้าเขาโกรธขึ้นมา-ก็น่าสงสาร เพราะเขาไม่รู้ทุกข์นั่นเอง’*

นี่-พระพุทธเจ้าท่านสอน

**อย่าเป็นทุกข์กับคน เราต้องให้มันสบายใจ**

เห็นเขาทำผิด-‘โอ! เขาไม่รู้’…ช่วยเตือนเขาบ้าง

เดี๋ยวนี้คนไม่เป็นอย่างนั้น พอเห็นเขาทำผิด-ก็ไปจับผิดว่าทำผิดทำไม ?

เพราะเขาไม่รู้-เขาจึงทำผิด ถ้าเรารู้แล้ว-จะไปพูดอย่างนั้นทำไม ?

ดังนั้นการฟังธรรมวันนี้ ก็ไม่ต้องพูดมาก

คำว่าความสงบนั้น ไม่ได้หมายถึงว่าไปนั่ง

ถ้าหากทุกคนไปนั่งหลับตาเพื่อให้มันสงบ ใครเล่าจะทำมาหากิน

ไก่ขึ้นไปขี้ใส่ในบ้าน-เปื้อนหมด

ถ้าเราลืมตา-เห็นไก่ขึ้นบ้าน เราก็ไล่มันไป

ความสงบมี ๒ อย่าง

สงบแบบไม่รู้อย่างหนึ่ง สงบแบบเห็นแจ้งอย่างหนึ่ง

**สงบแบบเห็นแจ้ง เขาเรียกว่า‘สงบวิปัสสนากัมมัฏฐาน’**

*สงบแบบไม่เห็นแจ้ง เรียกว่า‘สงบสมถกัมมัฏฐาน’

สมถกัมมัฏฐาน จึงเป็นอุบายให้สงบจิต-สงบใจเท่านั้น*

**วิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องเห็นแจ้ง-รู้จริง-ต่างเก่าล่วงภาวะเดิม

คือทีแรกเป็นปุถุชน เมื่อเห็นจิตใจตนเองแล้ว

พัฒนาจิตใจตนเองขึ้นไป-ขึ้นไป-ขึ้นไป-ขึ้นไป จนเป็นอริยบุคคล**

คำว่า‘อริยบุคคล’ หมายถึงเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้านั่นเอง

**พระพุทธเจ้าก็คือคนธรรมดาที่รู้แจ้ง-เห็นจริง**

ดังนั้น วันนี้ให้พวกหนู ๆ ทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาล

ทำตนของตนให้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นชาวพุทธจริง ๆ

แต่พวกหนูบางคน อาจจะถือคริสตศาสนา

ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์-ศาสนาอิสลาม-ศาสนาฮินดู

ถือศาสนาไหนก็คือคนนั่นเอง ตัวคนนั่นแหละเป็นตัวศาสนา

พระพุทธเจ้าองค์เดียวที่สอนเรื่องจิต-เรื่องใจ

**ท่านสอนให้เรามารู้-มาเห็นจิตใจของตนเอง**

ศาสนาอื่นนั้นสอนให้ไหว้ครู-ไหว้พระผู้เป็นเจ้า-ไหว้ทิศทาง ไหว้วอนเอา

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น

**ท่านว่า‘อักขาตาโร ตะถาคะตา-ตถาคตเป็นเพียงผู้แนะแนว

การประพฤติปฏิบัตินั้น เป็นหน้าที่ของเธอ’

ท่านจึงสอนว่า‘ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน พึ่งคนอื่นไม่ได้’**

*ให้คนอื่นทำจิตใจของเราไม่ได้*

อย่างที่หลวงพ่อพูดนี่ ก็เช่นเดียวกัน

**หลวงพ่อเพียงแต่แนะแนวว่า‘หนูอย่าไปนั่งหลับตา

จิตใจมันคิด-ให้หนูรู้

หนูเขียนหนังสืออยู่ ถ้าจิตใจมันคิด-ให้หนูรู้

หนูนอนอยู่ ถ้ามันคิด-ให้หนูรู้

รู้แล้ว มากำมือ-เรียกว่า‘รูปขันธ์’

กำมือ-เหยียดมือ…ให้รู้สึกตัว เพื่อมันจะได้วางความคิดเรื่องนั้น**

*ถ้าหากหนูปล่อยให้เข้าไปในความคิด มันก็คิดไปเรื่อย ๆ ไม่มีทางหยุด*

ถ้าคิดไม่หยุด หนูต้องเอา(มือ)มาเคาะโป๊ะที่ศีรษะนี่

ศีรษะมันเจ็บ มันก็วางความคิดซิ-มันมาอยู่ตรงที่เจ็บ

พอวางความคิดได้ หนูอ่านหนังสือ-ก็จำได้ดี

ถ้าจิตฟุ้งซ่าน อ่านหนังสือ-จะจำไม่ได้

มันง่วงนอน อ่านหนังสือ-จำไม่ได้

เราไม่รู้-เมื่อมันง่วงนอนทำอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร ?

เอ้า! นอนสักนิดเดียวก็ได้ ๒ หรือ ๕ นาที…ให้มันสนิท

เมื่อมันสนิทแล้ว-มันก็หาย เมื่อหายแล้ว-อ่านหนังสือก็จำได้

แต่ถ้าง่วงนอนแล้วยังอ่านหนังสือ ก็เสียทั้ง ๒ อย่าง

นอนก็ไม่ได้นอน หนังสือก็จำไม่ได้…”

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

————————————————————————————————

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※

※ ※

※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※

※ ※

※ อย่าหลงชีวิต ※

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ

_/|\_ _/|\_ _/|\_


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *