“…พูดมาถึงตรงนี้ เลยจะมีเรื่องเล่าให้ฟัง
เราทำบุญ-ให้ทาน ปรารถนาจะให้หมดกิเลสนั้น
ญาติโยม ท่านผู้ฟังทั้งหลาย
คงจะเคยไปดูคนเจ็บ-คนไข้ หรือคนกำลังจะตายนี่
สมมติว่า พ่อแม่พี่น้องของเราก็ตาม
เมื่อป่วยไข้ เป็นโรคมาหนัก ๆ
ผู้เป็นลูกหลานได้อาหารดี ๆ ข้าวอ่อน ๆ ร้อน ๆ มา
ลูกหลานก็ถามว่า‘กินข้าวไหมพ่อ ?’
ถ้าเป็นแม่ก็ถามว่า‘กินข้าวไหมแม่ ?’
คนป่วยนั้นก็บอกลูกหลานว่า‘พ่อกินบ่ได้’
ถ้าหากเป็นแม่ก็บอกว่า‘กินไม่ได้’ เช่นเดียวกัน
แต่ถ้าถามว่า‘กินหมากสักคำไหมแม่ ?’
ถ้าเป็นพ่อก็ถามว่า‘สูบบุหรี่ได้ไหม ?’
‘เออ ๆ เอามาให้แม่ลองสักหน่อย’
แก่นคูนมันแข็ง-สีเสียดมันแข็ง
เอามีด-เอาพร้ามาสับให้ละเอียด
เอามาตำ-มาโขลกเข้าไป แล้วก็เอามาอม-มาเคี้ยว
ลูกหลานถามว่า‘เป็นอย่างไรแม่-พ่อ ?’
‘เออ-มีแรงขึ้นมาหน่อยหนึ่ง’
มันจะมีแรงได้อย่างไร ?
ในที่สุด ก็ตายนั่นเอง
*ปรารถนาให้หมดกิเลส มันจะหมดได้อย่างไร ?
ถ้าเราไม่เลิกละเดี๋ยวนี้*
บางคน-ที่สุดถึงตายไปแล้ว (ยัง)แต่งสำรับกับข้าวให้กิน
ถ้าเป็นผู้ชาย ก็มวนบุหรี่ให้ด้วย
ถ้าหากเป็นผู้หญิง ก็จัดหมาก-จัดพลูให้ด้วย
ที่สุดเอาไปถึงกองฟอน ก็ยังเอาคำหมาก-เอาบุหรี่ไปให้กิน
มันจะเลิกละ(กิเลส)ได้อย่างไร ?
อันนี้แสดงว่าเราไม่เข้าใจ
**หลักพุทธศาสนาจริง ๆ
สอนให้ละกิเลส คือความอยากนี่เอง
แต่ตัวที่มันอยาก เรากลับไม่เห็น-ไม่รู้
เราต้องดูจิตใจที่มันอยากกินหมาก อยากสูบบุหรี่
อยากกินเหล้า อยากเล่นการพนันนั่น
ให้เข้าใจทันทีว่า‘เออ! กิเลสเกิดขึ้นแล้ว’ ต้องเห็นที่ตรงนี้
มันเกิดขึ้นมา ก็ให้รู้ว่า‘กิเลสเกิดขึ้นแล้ว-มันเป็นทุกข์’**
ท่านผู้ฟังทั้งหลาย พระพุทธเจ้าของเราสอนไว้ว่า
*‘มีแต่ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น มีแต่ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่
มีแต่ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์-ไม่มี’*
ตอนที่อาตมาเห็นความคิด
ขณะนั้นกำลังเดินจงกรมในตอนเย็น
เดินไป-เดินมา ก็เห็นความคิด
เมื่อเราเห็นความคิด
เห็นสมุฏฐาน-ต้นเหตุที่เกิดกำเนิดของความคิดแล้ว
เกิดปรากฏในใจอาตมา
สมมติว่าตัวอาตมามีน้ำหนักตัว ๑๐๐ กิโลกรัม
อาตมาทำลายได้ทันที ตัวนี้เบาหวิวอย่างน้อย ๖๐ กิโลกรัม
ถ้าพูดอย่างเต็มใจแล้ว อาตมาทำลายความหนักใจได้ทันที
๘๐ กิโลกรัมจริง ๆ ในตอนนั้น
**ความมืดที่มันมืดตื้ออยู่ในจิต-ในใจ ก็สว่างโพลงขึ้นมา
แจ้งจริง ๆ อันนี้รับรองได้ว่าจริง ๆ**
ดังนั้น **‘ความเป็นพระ จึงเป็นที่จิต-ที่ใจ’**
อันพระสงฆ์-องค์เณรนี่ มันเป็นสมมติ
บวชแล้วก็สึก สึกแล้วก็บวช
จึงให้เรารู้จักสมมติบัญญัติ ปรมัตถ์บัญญัติ
อรรถบัญญัติ และอริยบัญญัติจริง ๆ
ถ้าหากเราไม่รู้สมมติบัญญัติ ไม่รู้ปรมัติบัญญัติ
ไม่รู้อรรถบัญญัติ และไม่รู้อริยบัญญัติจริง
มันก็ไม่ถูกต้องตามพุทธประสงค์…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น