“…ขอให้ทุกคนทำดีเอาไว้
ไม่ใช่ทำดี-เอาดีนะ ทำดีเอาไว้เท่านั้น
บางคนว่า‘ทำดี-ได้ดี…ทำชั่ว-ได้ชั่ว’ ไม่ใช่อย่างนั้น
ทำดี-มันดีเท่านั้นเอง ทำชั่ว-มันชั่ว…มันจะได้อะไรมา ?
คนทำดีนี่ จิตใจมันดี-มันจึงทำดีได้
คนทำชั่ว จิตใจมันชั่ว-มันจึงทำชั่วได้
*คนเราทุกคน-ความดีมีอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้จักเอาความดีมาใช้เท่านั้นเอง*
**ขอให้เราทุกคนเอามาใช้กับชีวิตของเราเป็นประจำ
ไปไหน-มาไหน เอาธรรมะไปใช้**
*อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเฒ่าแก่แล้ว จึงจะเข้าวัด
เฒ่าแก่แล้ว-จึงจะไปทำกัมมัฏฐาน ไม่ใช่อย่างนั้น*
**ทำการ-ทำงาน พูด-คิด…เป็นธรรมทั้งนั้น
ธรรมจึงคือตัวเรานี่เอง ฐานคือที่ตั้งของจิต-ของใจ**
ฐานคือที่ตั้งของรูป เรียกว่า‘มีขันธ์ ๕’
ขันธ์ ได้แก่ รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ
หรือรูปขันธ์-เวทนาขันธ์-สัญญาขันธ์-สังขารขันธ์-วิญญาณขันธ์
เขาเรียกว่า‘ขันธ์ ๕’ ขันธ์ ๕ อันนี้-ตายแล้วเข้าโลง
แต่ถ้าไม่เอารูปขันธ์ เอาแต่เวทนาขันธ์-สัญญาขันธ์-สังขารขันธ์-วิญญาณขันธ์
เขาเรียกว่า‘ขันธ์ ๔’ ขันธ์ ๔ ไม่มีตัว-ไม่มีตน…มองไม่เห็น
เวทนาขันธ์ รู้สึกได้-มองไม่เห็น…ไม่มีตัวตน
สัญญาขันธ์ จำได้-มองไม่เห็น…ไม่มีตัวตน
สังขารขันธ์ คิดได้-ไม่มีตัวตน
วิญญาณขันธ์ รู้ได้-ไม่มีตัวตน
ไม่ใช่วิญญาณตายแล้ว ล่องลอยไปที่นั่น-ที่นี่
นั่นเป็นวิญญาณของพราหมณ์(สอนกัน)
พระพุทธเจ้าท่านคิดค้นเรื่องนี้เอง
‘โอ-วิญญาณแปลว่ารู้’ รู้อะไร ?
รู้ทุกสิ่ง-ทุกอย่าง ‘วิญญาณ’จึงแปลว่ารู้
ฉะนั้นเมื่อหนู**ไปทำกัมมัฏฐาน ไม่ต้องไปกำหนดที่ไหน-ไม่ต้องกำหนดเลย
วิญญาณมันรู้อยู่ทุกขุมขน มันแตะต้องที่ไหน-รู้ที่นั่น
‘วิญญาณ’ จึงแปลว่ารู้ยิ่ง-รู้วิเศษ
หรือ‘ปัญญา’ก็แปลว่ารู้จริง มันต้องมีปัญญาอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าสอนให้คนมีปัญญา
ปัญญานี่แหละจะเอาชนะโรคได้**
*ถ้าขาดปัญญาเสียอย่างเดียว เอาชนะโรคไม่ได้
คนไม่มีปัญญา จะไปทำอะไรได้ ?…ต้องอาศัยปัญญา*
คนไปนั่งหลับหู-หลับตา มันจะมีปัญญาไหม ?
หลวงพ่อเคยให้คน ๆ หนึ่งทำกัมมัฏฐาน
เขาเป็นคนมีการศึกษาสูง ไปทำเขื่อนน้ำพรม
เขาทำกัมมัฏฐานมาได้ ๗ ปี
หลวงพ่อถามเขาว่า‘ทำกัมมัฏฐานไหม ?’
(เขาตอบว่า)‘ทำ’
‘ทำอย่างไร ?’ หลวงพ่อถามเขา
เขาก็ตอบว่า‘ทำอย่างนั้น-ทำอย่างนี้’
‘เอ้า-ทำให้หลวงพ่อดู’
เขามีนาฬิกา-มีแว่นตา-มีปากกา มีของหลายอย่าง
นั่งอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อที่ขอนแก่น
เขาเอาของออกจากกระเป๋ามาวางไว้ตรงหน้า
เขานั่งสมาธิแล้วหลับตา เขาเข้าฌาน-นั่งหลับตา
หลวงพ่อก็เลยเอาของของเขาไปแอบไว้ข้างหลัง
แล้วหลวงพ่อก็บอกให้เขาลืมตา (เขา)มองเห็นของหายไป
หลวงพ่อถามว่า‘การหลับตานี้ มันให้คุณหรือให้โทษ ?’
(เขาตอบว่า)‘ให้โทษ’
‘อ้าว! คุณเรียนหนังสือ-ไม่ใช่คนโง่ คุณเรียนจบชั้นไหน ?’
เขาบอกว่า‘จบปริญญา’
‘จบปริญญาแล้ว-มันยังโง่ขนาดนั้นได้ เพราะมันไม่รู้ใช่ไหม ?’
‘แล้วของหาย-มันดีไหม ? มันไม่ดีนะ’
พูดเท่านั้น-เขาเข้าใจเลย เขาก็เลย‘อ๋อ!’
ไม่ต้องหลับตา คนหลับตากินข้าวก็ไม่ได้
เดินไปไหน-มาไหนก็ไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น
แม้ทุกคนไปนั่งหลับตา โลกนี้ก็สงบไม่ได้
ถ้าคนไทยไปนั่งหลับตากันหมด เดี๋ยวนี้เป็นเมืองขึ้นเขา(แล้ว)
เวลาเจ็บป่วย-ก็ไม่มีคนรักษา เป็นโรค-ตายกันทั้งโลกทีเดียว
การหลับตานั้นก็ดี หลวงพ่อไม่ได้ว่าไม่ดี
แต่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้า ต้องมองเห็นทุกทิศ-ทุกทาง
ตา-เห็น หู-ได้ยิน รู้ว่าอะไรควร-อะไรไม่ควร
**พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้ สอนเรื่องจิต-เรื่องใจ
อย่าให้จิตใจมันโกรธขึ้นมา เพราะจิตใจเดิมแท้มันไม่โกรธ**
*โกรธไม่ใช่จิตใจ โกรธเป็นกิเลส-มันเป็นทุกข์*
ใครมีทุกข์เป็นเจ้าเรือน เรียกว่า‘สัตว์เดรัจฉาน’
ไมใช่ตัวคนไปเป็น แต่ใจมันเป็น
คนใดทำ-พูด-คิด…ไม่เห็นจิตใจตนเอง เรียกว่า‘คนไม่มีความละอายแก่ใจ’
คนที่ไม่มีความละอายแก่ใจ ก็คล้าย ๆ สัตว์เดรัจฉาน
**คนใดทำ-พูด-คิด เห็นจิตใจตนเอง-หักห้ามจิตใจได้
เรียกว่า‘มะนุสสะภูโต หรือมะนุสสะมะนุสโส’
คือเป็นมนุษย์แท้จริง** ท่านว่าอย่างนั้น
**พวกเราเป็นนักศึกษา เรียนมาก็มากในเรื่องทางวัตถุ
ต้องศึกษาเรื่องจิต-เรื่องใจด้วย หักห้ามจิตใจตนเองให้ได้
ยกมือไหว้ตนเองให้ได้**
ที่เรายกมือไหว้คุณแม่ของเรา ยกมือไหว้ครูของเรา
ยกมือไหว้พระพุทธเจ้านั้นก็ดี แต่**เราต้องไม่ลืมตัว
จะยกมือไหว้ใคร ต้องไหว้ตัวเองก่อน-จึงเป็นการไหว้ครูที่แท้
ครูของเรา คือ สติ-สมาธิ-ปัญญานั่นเอง**
ที่หลวงพ่อนำมาเล่าให้ฟังวันนี้ บางคนก็อาจจะจดจำได้
บางคนอาจจะจำไม่ได้ บางคนอาจจะรู้วิธีดูจิตใจของตนเองได้ในทันทีก็มี
บางคนยังไม่รู้ว่าจิตใจเป็นอย่างไร ก็นานาจิตตัง
เห็นเขาทำผิด ก็สงสารเขาบ้าง-เพราะเขาไม่รู้
ถ้าเขารู้แล้ว-เขาจะไม่ทำผิด ความผิดจึงเป็นครูของผู้ที่ทำผิด
ผิดแล้วต้องแก้ อย่าผิดแล้วยังทำต่อไป-อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง
ผิดแล้วต้องแก้ รู้จักความผิดที่ตรงไหน-ต้องแก้ที่ตรงนั้น
ไม่ใช่ว่าทำผิดแล้ว-เอาทิ้งไว้ตรงนั้นแหละ อันนั้นมันไม่ถูกต้อง
ที่หลวงพ่อได้นำธรรมะมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้
ก็เห็นว่าเป็นเวลาอันสมควรแล้ว
ท้ายที่สุดนี้ หลวงพ่อพร้อมด้วยหลวงตา
พวกหนู ๆ ญาติโยมทุกคนที่นั่งฟังธรรมะอยู่ในสถานที่นี้
ขออ้างเอาคุณพระพุทธเจ้า
และพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คุณของพระอรหันตสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มาเตือนจิตสะกิดใจพวกเรา
**ให้พวกเราได้รู้สึกตัว-ตื่นตัว รู้สึกใจ-ตื่นใจ
เห็นชีวิตจิตใจของเราที่สะอาด-สว่าง-สงบ
เห็นจิตใจของเราไม่ยึดมั่น-ถือมั่น อันเป็นภาวะอุเบกขาหรือสันติ
อันมีอยู่พร้อมแล้วในเราทุกคน
ขอให้พวกเราได้พบ-ได้เห็นจิตใจที่แท้จริงของตัวเองในชีวิตนี้
จงทุกท่าน-ทุกคนเทอญ.**”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น