“…จึงว่า *ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งลึกลับ
จะคาดคิดเอาไม่ได้ จะแปลให้ถูกศัพท์-ถูกแสงไม่ได้*
**ต้องทำเอง-รู้เอง-เห็นเอง-เข้าใจเอง-เป็นเอง
ความเป็นเองได้นั้น คือ ต้องทำให้ถูกจังหวะ**
*ไม่ใช่พูดได้-(แล้ว)แสดงว่าตนรู้ธรรมะ มันไม่ใช่อย่างนั้น
(ถ้าหากว่า)ธรรมะยังไม่ปรากฏนั้น แสดงว่าเรายังไม่รู้ธรรมะ*
**ความจริงธรรมะก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ปรากฏ**
หรือจะกล่าวว่า*‘สิ่งที่สำคัญหรือสิ่งที่อัศจรรย์นั้น
ยังไม่แสดงออกมา’*
อย่างที่เคยพูดเอาไว้ว่า
‘เมล็ดข้าวทุกเมล็ด ถ้าเป็นข้าวอ้วน-ข้าวเต็ม
เมื่อเอาไปเพาะแล้ว มันต้องงอกทุกเมล็ด
ถ้าเป็นข้าวผอม ก็นานหน่อย
ถ้าเป็นข้าวลีบ ข้าวไม่มีเนื้อใน
ก็จะไม่มีโอกาส ไม่มีเวลาที่จะงอกออกมาเลย’
*การปฏิบัติธรรมะก็เช่นเดียวกัน
‘ถ้าเราไม่รัก-ไม่คิดถึง-ไม่เอาใจใส่-ไม่เอื้อเฟื้อ
ก็แสดงว่าเราละเลยต่อหน้าที่
ธรรมะจึงไม่ปรากฏสำหรับบุคคลผู้เช่นนั้น’*
นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
ลูกศิษย์แต่ละคนของพระพุทธเจ้า
มีความชำนิชำนาญไม่เหมือนกัน
เราคงเคยได้ยินว่า
พระองค์สรรเสริญยกย่องลูกศิษย์ของท่านว่า
องค์นั้นเลิศอย่างนั้น ส่วนองค์นั้นเลิศอย่างนั้น
เราก็ไปเข้าใจอยู่เพียงที่ได้ยินมา
ตัวเราเองเลิศแล้วหรือยัง ?!
เหมือนมีคนหนึ่งเป็นเศรษฐี
พวกเราก็อยากเป็นเศรษฐี แต่เราเอาแต่ไปยกย่องว่า
เศรษฐีคนนั้นดี-มีเงินมาก เพื่อนฝูงมาก-ใจเอื้อเฟื้อ
แล้วตัวเรามีเงินเหมือนเขาแล้วหรือยัง ?
มีความเอื้อเฟื้อเพื่อนฝูงแล้วหรือยัง ?
หากเรายังเป็นอย่างนี้อยู่ ก็แสดงว่าเรามัวไปยกย่องแต่คนอื่น
ส่วนตัวเองยังหลงตน-ลืมตัว ยังไม่สำนึกตัวเอง
**ถ้าเราสำนึกตัวเองอยู่เสมอ ก็แสดงว่า
เรารักพระพุทธเจ้า-เรารักพระธรรม-เรารักพระสงฆ์**
รักพระพุทธเจ้าในประเทศอินเดียนั้น ท่านก็นิพพานไปแล้ว
รักพระธรรมคำสั่งสอนของท่านนั้น
ก็อยู่ในประเทศอินเดีย หรือว่าอยู่ในประเทศไทย ?
รักพระสงฆ์ที่เป็นลูกชาวบ้านนั้น
บวชแล้วก็สึกไป สึกแล้วก็บวชมา
**การรักพระพุทธเจ้า ก็คือรักการกระทำของพระพุทธเจ้า
การรักพระธรรม คือรักการกระทำของตัวเรา
การรักพระสงฆ์ คือ
เราต้องประพฤติปฏิบัติตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่ท่านได้สั่งสอนเอาไว้แล้วนั้น
ที่ว่า‘ธรรมะคำสั่งสอนของเราตถาคตนั้น
มอบไว้ให้แก่พุทธบริษัท’ ซึ่งก็คือพวกเรานี้เอง
‘ให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
แล้วมรรคผลนิพพานก็จะไม่ว่างจากโลกนี้’**
*มรรคผลนิพพานนั้น ก็ไม่ได้หมายถึงการตายแล้ว*
**คือความไม่ทุกข์ ความไม่เดือดร้อน
อยู่ที่ไหนก็ระมัดระวังตัวได้ ไม่สับสน-ไม่วุ่นวาย-ไม่คลุกคลี
แม้อยู่ในหมู่คณะจำนวนมากก็สบาย**…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น