“…พอดีรู้อันนี้แล้ว(รู้วัตถุ-ปรมัตถ์-อาการ) ก็เลยเข้าใจโทสะ-โมหะ-โลภะ
*เมื่อก่อนเราก็เคยเข้าใจว่าของสิ่งเหล่านี้เป็นของเลวร้าย
แต่เราไม่เห็น เราเพียงพูดได้*
**มาบัดนี้เรามาเห็น-เรามารู้-เรามาเข้าใจ สัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้
เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้-เข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เบาบางไป**
แล้วก็มาเห็น-รู้-เข้าใจ สัมผัสตัวเวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ
มันเป็นขั้น-เป็นตอนไปอย่างนั้น
พอดีรู้จบพักนี้แล้วก็…
แต่ในขณะนั้นมันเร็วที่สุด-ไวที่สุด จิตใจผมเปลี่ยนจากสภาพหนึ่งไปสู่สภาพหนึ่งแล้ว
คล้าย ๆ กับเราข้ามคลองเข้ามาในวัดเรา
ทีแรกอยู่ฝั่งคลองฟากนั้น-เรากระโดดข้ามคลองมาฟากนี้ แพล๊บเดียวเท่านั้นเอง
จิตเปลี่ยนอีก-ครั้งที่ ๒ คือพอดีมาเห็นกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน-กรรมนี่
จิตใจมาเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง พักนั้นไม่ได้เป็นปีติมาก-เป็นนิดเดียวเท่านั้นนะ
บัดนี้เกิดปีติขึ้นมาแล้ว
*ปีติคือความพอใจ-ความอิ่มใจ
ตามตำรับ-ตำรา ครูบาอาจารย์…ท่านว่ามันดี-ว่างั้น
มันเกิดวิตก-วิจารณ์ขึ้นมา เป็นอย่างนั้น
พอใจในการกระทำของตัวเอง เป็นปีติ-เป็นจินตญาณ
เป็นความรู้ที่ละเอียดที่สุด เป็นอย่างงั้น
อันนี้ไม่ค่อยดีแล้ว แต่คนมันไม่เข้าใจ
ตัวผมเอง ตอนผมเป็น-ผมไม่เข้าใจ
ตราบใดที่ยังไม่เลยไป-ยังไม่ผ่านไป-(ยังไม่)พ้นไปจากสิ่งนี้ได้
จะยังไม่เข้าใจสิ่งนี้ มันไม่เข้าใจจริง ๆ*
น้ำหนักตัวของผม ผมเคยกำหนดเอาไว้ทีแรกว่า
‘อืม…ในขณะนี้น้ำหนักเรา ๑๐๐ กิโล เดี๋ยวนี้สลัดทิ้งไปแล้ว ๖๐ กิโล’-อย่างน้อย ๆ ว่างั้น
ถ้าพูดในขณะที่ผมเป็นจริง ๆ นั้น ผมว่าผมสลัดทิ้ง ๘๐ กิโล
**ความหนักอก-หนักใจ ความมืดใจ-ความแน่นใจอะไรทั้งหมดนั่นแหละ
มันสว่างขึ้นมา-มันเบาขึ้นมา มันเป็นอย่างนั้น
เลยรู้จัก ความเป็นพระเกิดขึ้นในขณะนั้นล่ะ**-ขณะนั้นเป็นโยมนะ
*พระนั้น-มิได้หมายถึงสิ่งที่สมมตินะ* แต่ก่อนยังไม่รู้
เมื่อรู้รูป-นามแล้ว ก็ยังไม่รู้…เพียงแต่ดีใจเฉย ๆ
ดีใจว่า‘ศาสนาพุทธ ศาสนา บาป-บุญนี่…รู้จัก’
**สมมตินี่ ให้รู้จักจริง ๆ**
พอดีมาตกตอนนี้แหละ รู้จักสมมติบัญญัติ-ปรมัตถ์บัญญัติ-อรรถบัญญัติ-อริยบัญญัติ
มารู้จักตอนนี้-ตอนจิตใจมาเปลี่ยนนี่ เปลี่ยนตอนนี้แล้ว-มันจึงรู้จัก
เมื่อก่อนไม่รู้ รู้ก็เพียงพูดว่าบัญญัติขึ้นมา-สมมติขึ้นมา
คือรู้ แต่ว่ายังไม่เข้าใจ-ไม่ซาบซึ้ง-ไม่แจ่มแจ้ง
**เมื่อจิตใจเราเปลี่ยนไปอย่างนี้ เลยเข้าใจซาบซึ้งแจ่มแจ้งได้ดี
ใครจะพูดเรื่องอะไร-ก็เข้าใจ เข้าใจในคำพูดของตัวเอง
และเข้าใจในคำพูดของคนอื่นที่มาพูดให้เราฟัง เข้าใจดี**
ให้เข้าใจ *ปฏิบัติธรรม…มันมีอุปสรรคไปเป็นพัก-เป็นพัก
เป็นขั้น-เป็นตอนไป* ก็เลยในขณะนั้นรู้จัก
‘อืม จิตใจเปลี่ยนพักนี้เป็นมรรค-จิตใจเปลี่ยนพักนี้เป็นผล’
มันเป็นอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น
ในขณะที่ผมเป็น-จิตใจเปลี่ยนนี่ ผมกำลังเดินไป-เดินมา
มันเป็นตอนเย็น ตอนเช้านั้นผมรู้เรื่องรูป-นาม
ตอนเย็นนี้ ผมก็มารู้เรื่องปรมัตถ์นี่ละ
รู้แล้วก็มานอนราว ๆ ๓ ทุ่มกว่านี่ล่ะ
นอนแล้วก็ตื่นขึ้นมาประมาณตี ๒-ตี ๓ นี่ล่ะ
ผมก็มาทำธุระ-นั่งสร้างจังหวะ **ทำความเพียร-รู้สึกตัว
ทำความเคลื่อนไหว-รู้สึกตัว ให้มันรู้สึกตัวมาก ๆ ครับ
พยายามให้มันอยู่กับสิ่งนั้นมาก ๆ** พอดีมันเหนื่อยแล้ว-ก็พอ
เช้ามืดตอนที่พระทำวัตรอย่างที่เราทำกันเมื่อกี้นี้ล่ะ
แต่ตัวผมลุกออกมาเดินจงกรม พอมาเดิน-มีเทียนไขจุดไว้
มีตะขาบ-บ้านผมเรียกว่าขี้เข็บ ตัวหนึ่งมันแล่นผ่านหน้าผมมา
ผม‘อื้อ’ ตะขาบมันเคยกัด-มันเคยกัดครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…เจ็บ
ก็เลยเอาเทียนไขตามไป แต่ไม่เห็น
เมื่อไม่เห็น ผมก็เอาเทียนไขกลับไปวางไว้ที่เดิม
เดินกลับไป-กลับมา เลยรู้จักขึ้นครับ-ศีล
‘ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ
สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง
ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด’
นี้เป็นคำพูด เป็นตัวหนังสือในตำรับ-ตำรา
ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังครับ
แต่ก่อนไม่เคยรู้ ศีล-เคยเข้าใจว่าก็ต้องเป็นศีล ๕
ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล ๓๑๑…เข้าใจไปอย่างนั้น
บัดนี้พอมาเข้าใจตอนเช้าวันนี้ล่ะ เลยเข้าใจว่า**ศีลหมายถึงปกติ
ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ**
‘โอ-กิเลสอย่างหยาบ
*โทสะ-โมหะ-โลภะ กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน…นี้เป็นกิเลสอย่างหยาบ’*
**บัดนี้เมื่อกิเลสอย่างหยาบลดน้อยถอยลงไปแล้ว
คล้าย ๆ คือมันจะสะอาดขึ้นมา**
แต่คนเรามันมีกายกับใจ
ส่วนกายนี้เขาเรียกว่า‘รูป’ รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ
นี้เขาเรียกว่า‘ขันธ์ ๕’…รูปขันธ์-เวทนาขันธ์-สัญญาขันธ์-สังขารขันธ์-วิณญาณขันธ์
ผมรู้อย่างนี้ พอรู้อย่างนี้-ผมก็รู้ขันธ์ ๔ ขึ้นมาเลย
ขันธ์ ๔ นี้ เขาไม่ได้เอารูปนี้เลย
คือเอาไปตั้งแต่เวทนาขันธ์-สัญญาขันธ์-สังขารขันธ์-วิญญาณขันธ์
อันนี้เป็นขันธ์ ๔ ขึ้นมา ขันธ์ ๆ เดียว-ผมก็รู้ขึ้นมานี่
*ถ้าหากกิเลสเหล่านี้ไม่ลดน้อยถอยลง
ยังไม่เบาลง-หรือยังไม่จืดจางไป ศีลยังไม่ปรากฏ*
**ศีลจึงว่า‘เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ’
ศีลนั้นคือ เป็นปรากฏขึ้นมาในใจว่า‘เป็นปกติ’
เมื่อเรามีปกติอยู่แล้ว อะไรมาแตะต้องเรา-มาสัมผัสเรา
เราต้องเข้าใจ-ต้องเห็น-ต้องรู้
ความคิดที่มันคิดวูบขึ้นมา ต้องรู้-รู้ทันที
รู้แล้ว-ความคิดนั้นถูกหยุดไป** ให้เข้าใจอย่างนั้น
พอดีเป็นอย่างนั้น ก็เลยเข้าใจเรื่องศีล
ศีล-ทีแรกที่ผมเข้าใจนั้น ผมเข้าใจในรูปของขันธ์
ศีลขันธ์-สมาธิขันธ์-ปัญญาขันธ์
ขันธ์แปลว่าต่อสู้ ขันธ์แปลว่ารองรับ ขันธ์คือถลุงเข้าไป
ขันธ์ดี ถ้ามันดี…มันไม่แตก-ไม่พังนะ
ขันธ์ดี เอาไปตักน้ำก็ได้กิน-เอาไปทำอะไรได้ทั้งนั้น
เอาไปตักข้าวใส่บาตรให้พระก็ดี
เอาไปตักอาหารกินก็ดี เอาไปตักน้ำกินก็ได้
ถ้าขันธ์แตกหรือขันธ์ไม่ดี ตักน้ำก็ไม่ได้กิน
เอาไปตักอาหารการกินก็ไม่ได้ ใช้ไม่ได้-ขันธ์ไม่ดี
หรือเอาไปตักข้าวใส่บาตรพระ-มันก็ไม่สวย นี่-เข้าใจอย่างนั้น
**การปฏิบัติธรรม ก็ต้องปฏิบัติให้มันดี-ให้มันเข้าใจจริง ๆ
ถ้าเราทำจริง ๆ มันก็ต้องรู้จริง**
*ถ้าทำไม่จริง มันก็จะรู้ของไม่จริง!*…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น