“…**รู้หนังสือก็ปฏิบัติได้ ไม่รู้หนังสือก็ปฏิบัติได้
คนจน-คนรวยปฏิบัติได้ทั้งนั้นครับ อันวิธีที่ผมพูดนี่
จะถือศาสนาใด-ลัทธิใดก็ตาม นุ่งผ้าสีอะไรก็ตาม
รู้จริง ๆ รับรองได้ครับ รับรองจริง ๆ นะ-ที่ผมพูดนี่**
พ่อแม่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง‘เพื่อรักษาอวัยวะ’
‘ยอมเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
ยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาสัจธรรม’
อันนี้ก็เช่นเดียวกันครับ **รักษาคำพูด-รักษาวิธีปฏิบัติ
ยอมเสียสละจริง ๆ ครับ
ถ้าทำอย่างนี้-ต้องรู้อย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้-ไม่รู้**
*แต่ก่อนผมไม่รู้ ผมเคยภาวนาพุท-โธมา
สัมมา-อรหังมา นับ ๑-๒-๓ มา
พอง-ยุบ เรียกว่ายุบหนอ-พองหนอนี้
ผมก็เคยทำมา
อานาปานสติ หายใจเข้าสั้น-ออกยาว
ลมหยาบ-ลมละเอียดนี่ ผมเคยทำมาครับ-แต่ผมไม่รู้*
เพราะมันไม่ถูกกับจริตของผมหรืออย่างไรไม่รู้
คนอื่นนั้นอาจจะทำ(แล้ว)รู้ก็ได้
แต่**ผมมาทำเรื่องนี้ ไม่นานครับ-ไม่นานจริง ๆ
รู้-เห็น-เป็น-มี-เข้าใจ
แก้ปัญหาการขัดแย้งของตัวเองได้จริง ๆ
มีความสามารถยืนหยัดอยู่ในบนพื้นฐานอันนี้ได้จริง ๆ ครับ
ใครจะพูดอย่างไรก็ได้ มันเฉยได้ครับ**
อันนี้แหละที่เราไปสวดกันว่า ‘พุทธัสสะโลกะธัมเมหิ
จิตตัง ยัสสะนะกัมปะติ อะโศกัง วิรัชชัง เขมัง
เอตัมมัง คะละมุตะมัง’ เราว่าสวดเป็นปริตมงคลกัน
อันนั้นมันเป็นคำพูดนะครับ
เมื่อมาคิดถึงการปฏิบัติว่า‘พุทธัสสะโลกะธัมเมหิ จิตตัง
ยัสสะนะ กัมปะติ’ **จิตของผู้ใดตั้งมั่นอย่างดี
ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ คืออารมณ์ทั้งหลาย
หรือโลกทั้งหลายนี่ อารมณ์ทั้งหลาย-โลกทั้งหลาย
คือมีคำชมบ้าง-มีคำสรรเสริญ มีคำนินทา-มีคำว่าร้าย
เราไม่ต้องหวั่นไหวครับ อันนี้แหละคือจิตใจของพระพุทธเจ้า
แล้วก็มีในคนทุกคน แต่ไม่ใช่จิตใจของพระพุทธเจ้า
จิตใจของเราก็คือกันกับจิตใจของพระพุทธเจ้า**
บัดนี้‘อะโศกัง’ **เป็นจิตไม่เศร้าโศก-เป็นจิตไม่ขุ่นมัว
เป็นจิตไม่เศร้าหมอง มันก็เป็นอย่างนั้น
ถึงจะรู้-ก็เป็นอย่างนั้น ไม่รู้-ก็เป็นอย่างนั้น**
‘วิรัชชัง’ เป็นจิตไร้ธุลี-คือจิตไกลจากธุลีก็ว่าได้
คำว่า‘ไร้ธุลี’นี่
สมมติมาพูดให้พวกเราฟัง-ให้เราเข้าใจ
เราเคยเห็น เราไถนา-เราดำนา-คราดนา
น้ำมันขุ่น เราว่าน้ำมันขุ่น-มันเป็นตมเป็นเลน
แต่น้ำไม่ได้ขุ่นครับ สายตาคนมันมองไม่เห็น
บัดนี้เอาน้ำขุ่นอันนั้นมาใส่ขัน-ใส่ขวด
ใส่ที่ไหนไว้ก็ได้-ตักมาไว้
แล้วตม-เลน-ตะกอน มันไม่ใช่เป็นน้ำครับ
ตมเลนกับน้ำ-มันอยู่ด้วยกัน
บัดนี้นาน ๆ เข้า ตมเลนก็จับเป็นตะกอน-เป็นก้อนเข้า
น้ำก็ใส-ก็สะอาด มันเป็นอย่างนั้น
จึงว่า‘จิตไม่เศร้าโศก-จิตไร้ธุลี จิตไม่หวั่นไหว’
มันเป็นอย่างนั้นครับ น้ำกับตะกอนมันอาศัยอยู่
อันกิเลสเหล่านั้นมันก็อยู่ของมัน
จึงว่า**‘มันคิด ให้เห็น-ให้รู้’
เอาตัวรู้นี่แหละเข้าไปรู้ครับ
เรียกว่า‘ญาณของปัญญาเข้าไปรู้’ครับ**
‘เขมัง’-เป็นจิตอันเกษม ท่านว่าอย่างนั้น
อัน**‘จิตอันเกษม’นี่
ก็หมายถึงจิตพ้นไปจากความทุกข์ พ้นไปจากความสุข
เราก็เลยมาพูดว่า ‘อุเบกขา-วางเฉย เป็นจิตอันเกษม’
มันเป็นอย่างนั้นอยู่
ถึงจะรู้-มันก็เป็นอย่างนั้น ไม่รู้-มันก็เป็นอย่างนั้น
อันนี้มีแล้วในคนทุกคน ไม่ยกเว้น
จะถือศาสนาใดก็ตาม นุ่งผ้าสีอะไรก็ตาม
เป็น-มี รู้-เห็น และเข้าใจเหมือนกัน
แต่ขอให้ทำให้ถูกต้องเท่านั้นเองครับ
ถ้าทำถูกต้องแล้ว ไม่พลาดครับเรื่องนี้
รับรองได้จริง ๆ รับรองจริง ๆ
ผมยอมเสียสละชีวิตทดแทนเอาคำพูด
หรือสัจธรรมอันนี้ เพื่อทำให้หลักพุทธศาสนา
หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เจริญมั่นคงถาวรต่อไป**
เป็นอย่างนั้น
*ถ้าหากเราไม่พูด-ไม่สอนกัน ก็จะไม่รู้ครับ*…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น