รู้สึกกาย รู้สึกใจ 20 พฤษภาคม 2023

“…เมื่อผมมาพิจารณาด้วยตัวเอง เห็นว่า

‘พระสูตร’ คือร่างกายเรานี้เอง คือรูปมันเป็นตัว-เป็นตน

‘พระวินัย’ คือคำพูดของเรานี้เอง ถ้าพูดผิด-มันผิด

‘พระอภิธรรม’ คือใจนั้นเอง

สั่งให้ปากพูดอย่างนั้น สั่งให้กายทำอย่างนั้น

ทั้ง ๓ ปิฎกรวมกันได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

**ถ้าใจไม่สั่งแล้ว กาย(ก็)ทำไม่ได้

ถ้าใจไม่สั่งแล้ว (ก็)มีคำพูดไม่ได้

จึงว่า‘ใจเป็นสิ่งสำคัญ’ จึงว่า‘รักษาที่ใจ’**

**ความจริงแล้ว ใจไม่ต้องรักษา

เพียงแต่ให้เราออกหน้าใจคิดได้

ออกหน้าใจคิดได้ หมายถึงอะไร ?

คือเราต้องรู้ว่าใจคิด เราต้องรู้-ต้องเห็น-ต้องเป็น-ต้องมี**

*ถ้าเราเพียงแต่รู้ว่าใจคิด มันก็เลยเลยเข้าไปในความคิด

เมื่อมันเข้าไปในความคิด

สภาวะนั้น ท่านเรียกว่า‘ทุกข์’*

ท่านสอนว่า‘ทุกข์-ต้องกำหนดรู้ สมุทัย-ต้องละ

มรรค-ต้องเจริญ นิโรธ-ต้องทำให้แจ้ง’

วิธีการก็คือ

**‘ทุกข์ ต้องกำหนดรู้’

คือ พอดีมันคิดปุ๊บ เราก็มาทำความรู้สึกตัว**

คือพระสูตร ได้แก่ มากำมือ-หรือเหยียดมือ

หรือยกมือไป-ยกมือมา หรือแม้แต่ยกมือไหว้อะไรก็ตาม

นี่คือพระสูตร นี่คือทุกข์ที่ต้องกำหนดรู้

**‘สมุทัย ต้องละ’

แต่ตัวคิดนั้นเป็นตัวสมุทัย ตัวคิด(จะ)ละตรง ๆ ไม่ได้

วิธีการก็คือ ต้องถอนออกจากตัวนั้น

มาอยู่กับความรู้สึกอันนี้ มันก็ละตัวนั้นได้**

**‘มรรค ต้องเจริญ’

มรรค ก็ต้องทำบ่อย ๆ-ดูบ่อย ๆ

ทำบ่อย ๆ มันก็เจริญขึ้น-เจริญขึ้น

สิ่งที่มันเป็นอย่างนี้

มันจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้**

**นิโรธ ทำให้แจ้ง

เมื่อสิ่งนี้ได้ทำจนถึงที่สุดของมันแล้ว

มันจะแสดงตัวมันเอง

ไม่ต้องไปถามใครที่ไหน**

จะมีในตำราก็ได้ ไม่มีในตำราก็ได้

เพราะ**มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน

มีพร้อมอยู่แล้วที่จะให้เราพบได้-เห็นได้**

จึงว่า**‘คำสอนของพระพุทธเจ้า

ไม่จำกัดเรื่องเชื้อชาติ-เรื่องตระกูล เรื่องวรรณะ

ใครปฏิบัติ(ก็)รู้ทั้งนั้น ไม่จำกัดกาล’

คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงเป็นสากล

ไม่เป็นของผู้ใดโดยเฉพาะ จะสงวนสิทธิ์ก็ไม่ได้**…”

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

————————————————————————————————

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※

※ ※

※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※

※ ※

※ อย่าหลงชีวิต ※

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ

_/|\_ _/|\_ _/|\_


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *