“…**การปฏิบัติธรรมะนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากนัก**
ให้พวกเราเข้าอก-เข้าใจ ที่พูดให้ฟังนี้-ไม่ใช่พูดเล่นนะ
เพราะเวลาที่เราจะมาพูดกันบ่อย ๆ ก็น้อยครั้ง
และเพราะว่าต่างคนก็ต่างไป ต่างมีธุระ
วานนี้ก็ได้ยินเณรเล่าให้ฟังว่าจะกลับบ้าน แต่นี่เณรก็ไม่รู้ดอก
แต่ก็ได้เตรียมเรื่องมาพูดให้ฟังตอนเช้า
และก็พยายามจะพูดให้มันละเอียด
ผมเองก็จะไปเมืองเลย
นี่แหละ**การปฏิบัติธรรมะ ไปทำคนเดียว
ถ้าหากไม่มีครูบาอาจารย์ดี ให้ระวัง-แก้ปัญหาของตัวเองให้ได้
ถ้าหากไม่ระวังละก็ จะแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้**
เมื่อแก้ไม่ได้-มันเป็นมาแล้ว จะให้ใครไปแก้ให้เรา
มันก็หนักสิทีนี้
เมื่อความหนักมีแล้ว ไปหาคนนั้นมาช่วย-คนนี้มาช่วย…มันรำคาญ
ผมเคยแก้ปัญหาคนที่เป็นหนักมาก ๆ
**จำให้มันดี รู้อารมณ์นี่
รู้รูป-นาม เป็นวิปัสสนู
รู้ปรมัตถ์นี่ เป็นจินตญาณ
รู้ถึงขั้นอาการเกิดดับแล้ว ถ้าไม่เข้าใจ-จะเป็นวิปลาสขึ้นที่ตรงนั้น
ให้เราเข้าใจ
ให้เราอยู่กับอารมณ์-แนบแน่นอยู่กับความรู้สึกตัวนี้ให้ได้
ถ้าหากไม่รู้สึกตัว แปลว่าเราเผลอไป
ความเผลอนั่นแหละคือความพลาดผิด ความไม่รู้
คือไม่รู้สึกตัวเองแล้วนะนี่ มันเข้าไปอยู่ในความคิด
มันเข้าไปอยู่ในความสุขโน่นแน่ะ
จึงว่า‘สุขไม่เอา-ทุกข์ไม่เอา ดีไม่เอา-ชั่วไม่เอา’
เราต้องมาอยู่กับความรู้สึกนี้
ถ้าเราอยู่กับความรู้สึกแล้ว เราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจ
มันเป็นเอง จึงว่า‘ความเป็นเอง-มันมีอยู่แล้ว’**
ผมเคยพูดเปรียบให้ฟัง
‘เหมือนกับอยู่ในถ้ำ ถึงเราจุดไฟขึ้น
จะสว่างก็จริง-มืดก็จริงด้วย และมันยังอยู่ในถ้ำ
เอาไฟมาข้างหน้า-มืดมาข้างหลัง เอาไฟมาข้างหลัง-มืดไปข้างหน้า
เอาไฟมาข้างซ้าย-มืดไปข้างขวา เอาไฟไปข้างขวา-มืดมาข้างซ้าย
เพราะเรายังอยู่กับความมืดนั่นเอง ดับไฟปุ๊บ-มืดทันที
บัดนี้เรามีไฟ-มีเทียนไขดี ๆ แล้วจุด
แล้วออกนอกถ้ำ ให้มาอยู่ที่ปากถ้ำนี่
มองเข้าไปข้างใน เห็นสภาพในถ้ำทุกอย่างเลย’
อันนี้ก็เหมือนกัน **เมื่อเรารู้ดีแล้ว
จะมองเห็นสภาพความผิด และความถูกต้อง
ที่ตัวเองทำมาเป็นอย่างนั้น-อย่างนั้น
ทุกคนต้องเป็นอย่างนั้น
จะเห็นว่าเพราะมันไม่รู้ มันจึงทำ
ถ้ามันรู้แล้ว มันไม่ทำ**
การปฏิบัติธรรมะ-วิธีที่ผมนำมาเล่าสู่ฟังในวันนี้
ผมก็พยายามพูดให้พวกเราได้เข้าใจ ฟังแล้วให้เข้าใจ
ท้ายที่สุดนี้ก็ไม่มีอะไร เพราะว่าทำวัตรก็สั้น ๆ
อาตมาพร้อมด้วยพระสงฆ์และญาติโยม
ที่มานั่งฟังธรรมะ-การอบรมในวันนี้ ก็เห็นว่าสมควรแล้ว
ท้ายที่สุดนี้ อาตมาขออ้างอิงเอาคุณของพระพุทธเจ้า
และคุณของพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และคุณของพระอรหันตสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มาเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจของพวกเรา
**ให้พวกเราจงประพฤติ-ปฏิบัติ
ได้พบ-ได้เห็น-ได้รู้-ได้เข้าใจ ซาบซึ้งตรึงใจ
จิตใจที่ปราศจากความโกรธ-ความโลภ-ความหลง
จิตใจที่หลุดพ้นจากสภาพหรือภาวะทุกข์ทั้งปวงนั้น
ในชีวิตนี้ จงทุกท่าน-ทุกคนเทอญ.**”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น