หลักของพระพุทธศาสนา – วิธีดับทุกข์แบบของพระพุทธเจ้า (๓/๑๐)
“…บัดนี้ เราก็มา**ทำความรู้สึกอย่างที่ผมว่ามานี้
กำมือ เหยียดมือ กะพริบตา อ้าปาก
หายใจเข้า-หายใจออก เดินไป-เดินมา
(เคลื่อนไหว)โดยวิธีใด ก็ให้มีความรู้สึกตัว
บัดนี้ ความคิดมันจะปรากฏขึ้นมาแว้บหนึ่ง
เราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจ**
*คนโดยมากคิดว่าตัวเองเห็นความคิด
เห็นแล้วก็รู้เป็นเรื่องไปเลย อันนั้นไม่ใช่เห็นความคิด
เป็นแต่เพียง‘รู้คิด’ หรือ‘รู้อยู่ในความคิด’
กล่าวคือ เราเข้าไปอยู่ในความคิดนั้นแล้ว
เราจึงไม่ได้เห็นความคิดของเรา ออกจากความคิดไม่ได้
ผลจึงได้รับทุกข์*
สมมติเหมือนกับว่า
เราอยู่บนบ้าน เราเข้าไปในห้อง-แล้วเข้าไปนอนในมุ้ง
เราก็จะไม่ได้เห็นห้อง ไม่ได้เห็นนอกห้อง
ไม่ได้เห็นนอกบ้าน ไม่ได้เห็นหลังคาบ้าน
มันเป็นชั้น ๆ อย่างนี้
ที่ผมพูดนี้ เราไม่ต้องเป็นอย่างนั้น
คือว่า**มันคิด…เราเห็น-เรารู้
เราเลยออกจากความคิดได้ เราไม่เข้าไปในความคิด**
เปรียบเหมือนเราไม่ต้องเข้าไปอยู่ในมุ้ง
ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในห้องนอน ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในบ้าน
แต่ออกมาชานเรือน หรือว่ามาอยู่ลานบ้าน
เรามองดูประตู-เราก็เห็น เหลียวมองในห้อง-เราก็เห็น
เหลียวมองมุ้ง-เราก็เห็น
อันนี้เรียกว่า‘เราเห็นความคิด-รู้ความคิด-เข้าใจความคิด’
**พอดีมันคิด
ทีแรกจะเป็นเรื่องไป ติดต่อเป็นอารมณ์ไป
คราวนี้มันคิด เราเห็น-เรารู้…มันหยุด
พอดีมันคิดขึ้นมา เราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจ…มันหยุด**
*อุปมาเหมือนบ้านเรามีหนู
มันจึงกัดเสื้อผ้า-สิ่งของเสียหายหมด
เราไม่มีความสามารถที่จะไปไล่หนูออกจากบ้านได้
จำเป็นต้องไปเอาแมวมาเลี้ยงไว้
แมวกับหนูเป็นปรปักษ์กัน ถ้ามีแมวแล้ว-หนูมันกลัว
สมมติ ที่แรกหนูตัวใหญ่-แมวตัวเล็ก
พอหนูมา แมวถึงตัวจะเล็ก-มันก็ตะครุบอยู่ดี
แต่หนูตัวโตก็วิ่งหนี แมวก็เกาะติดหนูไป
พอเหนื่อยแล้ว แมวตัวเล็กมันก็วางหนูเอง
หนูจึงหนีพ้นไปได้*
**เราไม่ต้องไปสอนแมวให้จับหนู
เพราะเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว
เราเพียงเอาอาหารให้แมวกิน
ให้มันใหญ่ขึ้น-อ้วนโตขึ้น มีกำลังแข็ง-แรงมากขึ้น
ทีนี้เวลาหนูมันมาอีก แมวซึ่งจ้องคอยทีอยู่โดยธรรมชาติ
และมีกำลังแล้วนั้น จะกระโจนจับทันทีอย่างแรง
หนูมันไม่เคยถูกแมวจับ มันก็ตกใจ-ช็อกตายทันที
เลือดในตัวหนูก็เลยหยุดวิ่ง แมวกินหนูจึงไม่มีเลือด
ความคิดก็เหมือนกัน
พอดีมันคิด เราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจ…มันหยุดทันที
ความคิดมันเลยไม่ถูกปรุงไป
เพราะเรามีสติ-มีสมาธิ-มีปัญญาแล้ว**
‘สติ’ แปลว่าความระลึกได้
‘สมาธิ’ ก็แปลว่าตั้งมั่น-ตั้งใจไว้มั่น
‘ปัญญา’ แปลว่ารอบรู้
‘ตัวสติตั้งมั่น’ ก็คือมันคอยจ้องความคิดอยู่
เหมือนแมวคอยทีจะจับหนูนั่นเอง
**พอดีมันคิดปุ๊บ เราไม่ต้องไปรู้กับมัน
ให้มาอยู่กับความรู้สึกตัวนี้**
‘มันคิดแล้วก็หายไป’นี้ ก็หมายความว่า
**เมื่อมีสติเห็น-รู้-เข้าใจอยู่ ความหลงไม่มี-หรือมีไม่ได้เลย
เมื่อความหลงไม่มีแล้ว โทสะ-โมหะ-โลภะย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
นี้เรียกว่า‘นามรูปไม่ทุกข์’
เพราะรู้เท่า-รู้ทัน รู้กัน-รู้แก้
ซึ่งก็คือตัวสตินั่นเอง
เมื่อเรามาเห็นอยู่อย่างนี้
อันนี้แหละ ตัวสติ-ตัวสมาธิ-ตัวปัญญา**
ไม่ใช่ว่าไปเจริญสติ ก็ไปนั่งหลับตาทำสมาธิ
อันนั้นเอาไว้ก่อน ไม่ต้องพูดถึง
เรื่อง**การเจริญสติเพื่อแก้ทุกข์ตามที่ผมเข้าใจนั้น
พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้จริง ๆ ซึ่งไม่ต้องหลับตา
และสามารถทำการทำงานทุกประเภทไปพร้อมกันได้ด้วย**
เป็นนักเรียนไปเรียนหนังสือก็ได้ เป็นครูไปสอนนักเรียนก็ได้
เป็นพ่อบ้านทำหน้าที่พ่อบ้านก็ได้ เป็นแม่บ้านทำหน้าที่แม่บ้านก็ได้
เป็นลูกเราก็ทำหน้าที่ของลูกได้
เป็นผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน ตำรวจ-ทหาร รัฐมนตรี
ทำหน้าที่-การงานของตนได้หมดทุกคน
ทำไมจึงว่าทำได้ ?
เพราะเราไม่ได้นั่งหลับตา **ไปไหน-มาไหนก็ได้
ทำการ-ทำงานใดอยู่ก็ได้ แต่ให้เรามองดูจิตใจ
จิตใจนี้ไม่มีตัวตน
พอดีมันคิด เราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจนั้น…อันนั้นเรียกว่า‘นาม’
ส่วนนามที่มันคิดนั้น เป็นรูปคิดขึ้นมา…เรียกว่า‘นามรูป’
ดังนั้นวิธีอันนี้ เรียกว่าเป็น‘วิธีนามรูป’**
อันรูป-นามนั้น เป็นอันหนึ่ง
ส่วนนามรูป เป็นอีกอันหนึ่ง….”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น