รู้สึกกาย รู้สึกใจ 27 เมษายน 2023

“…**พระพุทธเจ้าเป็นหมอเหมือนกัน เป็นหมอรักษาโรคเช่นเดียวกัน

แต่โรคที่พระพุทธเจ้ารักษา คือโรคทางจิต-ทางใจ-โรคทางวิญญาณ**

พวกหนูเรียนมาเพื่อรักษาโรคทางกาย ทางเนื้อหนัง

**ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เอาไปใช้ได้ทุกคน**

ไม่ใช่เด็ก ๆ ใช้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้

หรือคนแก่ ๆ เท่านั้นจึงจะใช้ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น

**คำสอนของพระพุทธเจ้าสอนคนได้ทุกระดับ**

จะเป็นเด็ก-ก็สอนได้ คนแก่-ก็สอนได้ หนุ่มสาว-ก็สอนได้

พ่อบ้านแม่เรือน-ได้ทั้งนั้น

**ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ใครรู้จัก-ก็นำไปใช้ได้**

แต่คนไทยที่นับถือพุทธศาสนาบางคน

ก็เข้าใจเพียงให้ทาน-รักษาศีล-ทำกัมมัฏฐาน เท่านั้นก็พอใจแล้ว

บางคนก็ยังไม่รู้ว่าให้ทานทำอย่างไร กราบไหว้ทำอย่างไร ?

เพราะไม่เคยเข้าวัดฟังธรรมเลย

รักษาศีลอย่างไร ศีลคืออะไร-มีความหมายอย่างไร ?…ไม่รู้-อย่างนี้ก็มี

ทำกัมมัฏฐานนั่งอย่างไร-ทำความสงบอย่างไร ?…ไม่รู้-ก็มี

แต่**เป็นธรรมดา เรียกว่า‘นานาจิตตัง…จิตของคน-คิดไม่เหมือนกัน’

ถ้าเรารู้จักจิตคิดสักนิดเดียว-ก็หยุดได้

หนู ๆ ทุกคนที่อยู่ที่นี่-ถ้ารู้จักจิตคิดสักนิดเดียว ก็ห้ามจิตใจได้**

*เพราะว่าจิตใจมันคิด-คนมันต้องคิด แต่เราไม่รู้จักจิตคิด

เมื่อไม่รู้จักจิตคิด ก็ไปตามความคิด

เมื่อคิด-แล้วไปตามความคิด ก็เลยไม่รู้จักหยุด

นักศึกษาที่เรียนหนังสือบางคนนอนไม่หลับ-ก็มี เพราะมันคิดมาก

บางคนไม่ใช่นักศึกษา จบแล้วไปทำการ-ทำงาน

เข้าสังคมมาก ๆ ก็เป็นทุกข์ หากคนนั้นคิดอย่างนั้น-คนนี้คิดอย่างนี้

คิดไม่รู้จักหยุด เป็นโรคประสาทไปก็มี*

หลวงพ่อเคยเจอมาหลายคนแล้ว ที่มีเรื่องอย่างนี้

ดังนั้น หนู**ทุกคน**ที่มาที่นี่

**ต้องศึกษาให้รู้จักจิตใจของเรานึกคิด**

เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องจิต-เรื่องใจ

การให้ทานนั้นดีแล้ว

หนูก็คงเคยตักบาตรกันบ้าง-แต่ไม่ทุกวัน บางคนอาจตักทุกวันก็ได้

คนที่มาที่นี่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจรักษาศีลแล้วก็ได้

บางคนอาจทำกัมมัฏฐานมาแล้วก็ได้

บางคนอาจจะเจริญวิปัสสนามาแล้วก็มี

**วิปัสสนา คือการเปลี่ยนจิตใจที่สกปรกให้บริสุทธิ์**

คำว่า‘วิปัสสนา’ เป็นชื่อสมมติ

ทำอย่างไรจึงจะเป็นวิปัสสนา **วิปัสสนาคือความรู้**

อย่างที่หนูเรียนหนังสือ เรียนหนังสือแล้ว

ก็เขียนตัว ก-ตัว ข เขียนได้-อ่านได้-สะกดได้

นั่นคือวิปัสสนา แต่อันนี้คือสมมติ

**‘วิปัสสนา’ คือรู้แจ้ง-เห็นจริง

เมื่อรู้แจ้ง-เห็นจริงแล้ว เปลี่ยนจิตใจของเรา

จากสภาพหรือจากภาวะเดิมที่ยังสกปรกอยู่นั้น

ให้เป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ เรียกว่า‘วิปัสสนา’**

*ส่วน‘สมถกัมมัฏฐาน’ คือความสงบ-ให้มันสงบ*

*ความสงบมี ๒ อย่างด้วยกัน

คือสงบแบบไม่รู้อย่างหนึ่ง มันไม่รู้อะไร

อย่างที่เรานั่งอยู่ที่นี่ ยังไม่มีใครพูดอะไรให้เราฟัง

เราก็นั่งสงบได้ เรียกว่า‘ความสงบแบบไม่รู้’

สงบแบบนี้ พอออกไปสู่สังคมคนมาก ๆ

คนนั้นก็พูดมา-คนนี้ก็พูดไป…เกิดไม่สงบ นี่-มันไม่สงบ*

**แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาแล้ว ถึงอยู่กับสังคมมาก ๆ ก็สงบได้

ใครจะพูดอย่างไรมา-ก็เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

เรื่องของเราก็คือ ทำงานตามหน้าที่**

เพราะพระพุทธเจ้าสอนว่า‘ทุกคนต้องทำการ-ทำงานตามหน้าที่’

**เมื่อเราทำการ-ทำงานตามหน้าที่ของเราแล้ว

เราก็รู้จักจิตใจของเรา เห็นชีวิตจิตใจของเรา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า‘ชีวิตจิตใจของคนทุกคนนั้น มันไม่มีทุกข์-มันไม่เดือดร้อน**

*ตัวทุกข์-ตัวเดือดร้อน ไม่ใช่จิตใจของเรา-ไม่ใช่ชีวิตของเรา

มันเป็นกิเลส’* ท่านว่าอย่างนั้น

อย่างที่พวกหนูนั่งอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้

**จิตใจเป็นปกติ-สบาย ฟังหลวงพ่อพูด

ลักษณะจิตใจอย่างนี้ สภาพจิตใจอย่างนี้

มันมีอยู่ในคนทุกคน ไม่ยกเว้น

อันนี้แหละ พระพุทธเจ้าสอนให้ทุกคนศึกษาหาชีวิตจิตใจของตนเอง**

*แต่เดี๋ยวนี้ เราไม่ศึกษาหาชีวิตจิตใจของเรา

เราไปศึกษา-แข่งขันกัน* ความแข่งขัน-มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่**เรื่องจิตใจนี่-เราควรศึกษาให้รู้ ให้รู้จักจิตใจของเราเอง**

พ่อแม่ของเรา ท่านก็สอนไม่ได้

ครูอาจารย์ก็ไม่ค่อยสอน สอนแต่เรื่องหนังสือ

ผู้สอนเรื่องชีวิตจิตใจคือพระพุทธเจ้า

จึงว่าพระพุทธเจ้าเป็นครูของเรา เราจึงไหว้ครู

คำว่าไหว้ครู ถ้าไหว้พระพุทธเจ้าในประเทศอินเดีย

ก็ไหว้ไม่ทันแล้ว เราต้องยกมือไหว้ตัวเอง

เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่า

**‘ตัวชีวิตจิตใจของทุกคนนั้น มันมีลักษณะอุเบกขา-วางเฉย’

คำว่า‘อุเบกขา-วางเฉย’นั่นแหละคือพระพุทธเจ้า

ใครมีจิตใจอุเบกขา-วางเฉยอยู่เป็นปกติประจำใจ

นั่นแหละคือพระพุทธเจ้า ยกมือไหว้ตัวเองได้**

ทำไมจึงไหว้ตัวเอง ?

เพราะว่า**จิตใจของทุกคนมันสะอาด-สว่าง-บริสุทธิอยู่แล้ว

เรียกว่า‘สันติคือความสงบ’

ความสงบอย่างนี้ เอาไปทำการ-ทำงานที่ไหนก็ไม่ขัดข้อง**

*แต่เราไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจ…ก็ไปศึกษาเรื่องอื่น-แบบอื่น*

แต่ไม่ใช่ว่าไม่ดี-ไม่ใช่อย่างนั้น ก็พูดให้ฟัง-เพื่อหนูจะได้รู้…”

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

————————————————————————————————

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※

※ ※

※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※

※ ※

※ อย่าหลงชีวิต ※

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ

_/|\_ _/|\_ _/|\_

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *