หลักของพระพุทธศาสนา – วิธีดับทุกข์แบบของพระพุทธเจ้า (๔/๑๐)
“…เมื่อเรารู้จักเรื่องนามรูปแล้ว
เราจะรู้จักวัตถุ-ปรมัตถ์-อาการ
‘วัตถุ’นี้ หมายถึงทุกสิ่ง-ทุกอย่าง
‘ปรมัตถ์’ ก็คือกำลังเป็นอยู่-มีอยู่-เข้าใจอยู่
สัมผัสได้อยู่ในขณะนั้น
‘อาการ’ ก็หมายถึงความเปลี่ยนแปลง
วัตถุทั้งหลายที่มองเห็นได้ด้วยตา จับถูกด้วยมือนั้น
มันก็เป็นอาการชนิดหนึ่ง
เช่น บ้านเรือนก็มีการผุพัง-เปลี่ยนแปลงได้
บัดนี้ วัตถุอีกชนิดหนึ่งซึ่งมันมีจริง ๆ เห็นจริง ๆ-เข้าใจจริง ๆ
‘วัตถุ’ แปลว่ามีจริง
‘วัตถุ’ หมายถึงของจริงที่มีอยู่-มันมีอยู่ มีอยู่หมดทุกคน
อันนี้ชื่อว่า‘การเขย่าธาตุรู้ของบุคคล’ มีอยู่แล้วทุก ๆ คน
*แต่เมื่อเรายังไม่เห็น นั้นแสดงว่าเรายังไม่เข้าใจ*
**แต่ตามความจริงมันมีอยู่แล้ว
เมื่อเราดูอยู่นี้แหละ เราเห็น
อ้อ! ‘วัตถุ’ หมายถึงตัวจริงของจิตใจหรือว่าชีวิต
‘ปรมัตถ์’ ก็เรากำลังเห็นความเป็นอยู่-มีอยู่นี้แหละ
มันคิดขึ้นมา ‘อ้อ-อาการเปลี่ยนแปลงของมันเป็นอย่างนั้น’
ประเดี๋ยวมันคิดเรื่องนั้นขึ้นมา ประเดี๋ยวมันคิดเรื่องนี้ขึ้นมา
อันนี้เป็นอาการของความคิด
เป็นวัตถุ-เป็นปรมัตถ์-เป็นอาการชนิดหนึ่ง
เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้แหละ
เรียกว่า‘เราเห็นธรรมอีกชนิดหนึ่ง’
การเห็นธรรมชนิดนี้
เพื่อไปปราบ ความโลภ-ความโกรธ-ความหลงให้หมดไป
(เรียกว่า)‘เรารู้จักสมุฏฐานของความคิด’**
*เมื่อเราไม่เห็นอันนี้แหละ ซึ่งก็คือความหลง
‘หลง’แปลว่าไม่เห็น เมื่อไม่เห็น-ก็ไม่เข้าใจ
แล้วมันก็จะเป็นสมุฏฐาน
ทำให้เกิดความโกรธ ทำให้เกิดความโลภขึ้นมา*
**‘มรรค’ ท่านว่า‘เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์’
ดังนั้น ‘มรรค’ก็คือเราเอาสติมาคอยดูความคิด
นี้เองคือข้อปฏิบัติ
และในขณะเดียวกัน ก็จะทำการ-ทำงานอะไรก็ได้
ปฏิบัติที่ว่า (คือ)คอยดูอยู่นี้**
*ไม่ใช่เอามือปฏิบัติมรรคนะ*
**มือนี้ก็ต้องทำการ-ทำงานไปตามหน้าที่ของเรา
ส่วนใจนั้น เราต้องคอยดูตัวความคิด
จึงว่า ‘มรรคเป็นข้อปฏิบัติเพื่อถึงความดับทุกข์’**
เมื่อเราเห็นสมุฏฐานของมันแล้ว ก็เรียกว่า…
ซึ่งก็ต้องสมมติอีก
เพราะ*คนที่ยังไม่เคยได้ยิน-ได้ฟัง
ไม่เคยรู้-ไม่เคยเห็น-ไม่เคยปฏิบัติ จะไม่รู้เลย*
จึงจำเป็นต้องมาว่าเรื่องสมมติ
หรืออุปมา หรือเปรียบเทียบให้ฟังอีก
สมมติคนที่ไม่เคยเห็นวิธีใช้ไฟฟ้า ไปเปิดไฟฟ้า
เขาก็ไปจับเอาที่ตัวหลอดไฟ แล้วหมุนอยู่อย่างนั้น
หมุนจนตาย หลอดไฟก็ไม่สว่าง
เพราะที่นั่นไม่ใช่สมุฏฐานที่ไฟฟ้าจะสว่างได้
เปรียบก็ว่า
คนลักษณะนั้นเป็น*ผู้ที่ยังไม่รู้สมุฏฐานต้นเหตุของความคิด
เขาจึงคิดว่า‘โทสะ-โมหะ-โลภะมีอยู่เป็นประจำ’*
เขาจึงพูดกันไปอย่างนี้
**ส่วนคนที่รู้จักสมุฏฐานของความคิดแล้ว
เขาก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า โทสะ-โมหะ-โลภะไม่มีเลย**
ดังนี้ ๒ คนนี้(มี)ความเห็นไม่ตรงกันแล้ว
ดังนั้น การสอนธรรมะนั้นจึงไม่เหมือนกัน
ผมจึงพูดว่า
**‘ตัวสมุฏฐานของโทสะ-โมหะ-โลภะ
ไม่มีปรากฏเกิดขึ้นมาได้ เพราะว่าเราเห็น’
ถึงเวลาแล้ว
ที่เราจะไปทำความสว่างให้ตัวชีวิต-จิตใจของเราให้ถูกวิธี**
เหมือนกับการที่จะไปเปิดไฟฟ้า
ไปทำความสว่างให้กับหลอดไฟฟ้าอย่างนั้น
เราไม่ต้องจับหลอดไฟ
ไปกดที่สวิตซ์ไฟ แล้วมันก็ทำความสว่างที่หลอดโน้นเอง
อันนี้ก็เหมือนกัน
**ความจริงแล้ว เราไม่ต้องไปว่ามัน
เจ้าตัวความโกรธ-ความโลภ-ความหลง
เพราะว่ามันไม่มี
เพียงแต่ขอให้เรามีสติเท่านั้น
อันตัวสตินี้ มันมีอยู่แล้ว
มันมีตรงกันข้ามอยู่กับความหลง
ซึ่งความจริงแล้ว ความหลงไม่มี
เมื่อเรามีสติคอยระมัดระวัง-ดูจิตดูใจอยู่ ความหลงก็ไม่มี
เมื่อความหลงไม่มี โทสะจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมีสติคุมอยู่แล้ว
โลภะจะเกิดมาในรูปใด ?
มาไม่ได้ เพราะปัญญารอบรู้อยู่แล้ว
อันนี้แสดงว่า‘เราเห็นสมุฏฐาน’**
*เราต้องปฏิบัติอย่างนี้
เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้
เราต้องคอยดู ดูมันอยู่อย่างนี้แหละ
แล้วมันจะเกิดปัญญาแว้บขึ้นมา
มันจะเกิดความดีใจติดมาด้วย ยังไม่ใช่ใจดีนะตอนนี้
ดีใจ แล้วภูมิใจว่าตัวเองรู้ธรรม-เห็นธรรม-เข้าใจธรรม
อย่างซาบซึ้ง-ปราบความหลงผิดได้แล้ว เป็นอย่างนั้น
เกิดปีติ ปีติอันนี้มันจะมาชักชวน
ให้เราลืมต้นเหตุสมุฏฐานของความคิด
เมื่อไปติดปีติแล้ว-เราลืม อันนี้ชื่อว่าถูกน้อย
เพราะเมื่อมันไปติดปีติ ตัวความสุขนั้นแล้ว
มันจะปราบความหลงไม่ได้
ตัวนี้จึงถือว่า มันยังเป็นการเอาหินทับหญ้าอยู่*…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น