“…เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อ(ยัง)อยู่ในวัง
พาบริวารไปชมสวนดอกไม้ ไปเห็นสมณะ
การบวช(จึง)มีมาก่อนพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
อย่างหลวงพ่อนี่ เป็นเพียงสมมติเท่านั้นเอง
บวชแล้วก็สึก-สึกแล้วก็บวช-บวชแล้วก็สึก
‘เป็นเพียงสมมติบัญญัติ’ ท่านว่าอย่างนั้น
ให้หนูเข้าใจ-จำเอาไว้ แต่อย่าไปทำลายสมมติ
พอพระองค์บวชเข้าไป ก็ไปศึกษากับอาฬารดาบส-อุทกดาบส ๒ อาจารย์นั้น
จนได้สมาบัติ ๘ นั่นเรียกว่า‘สมถกัมมัฏฐาน’
เป็นคำสอนของพราหมณ์ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
สมัยนั้นยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ยังเป็นพราหมณ์
‘พราหมณ์’ แปลว่าคนฉลาดนั่นเอง
เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ดำดิน-บินบน มีตาทิพย์-มีหูทิพย์ก็ตาม
เหล่านั้นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า มันเป็นคำสอนของไสยศาสตร์
บางทีก็เรียกว่า‘คำสอนของเดียรถีย์’ หรือว่า‘เดรัจฉานวิชา’
เราไม่น่าจะศึกษาอย่างนั้น
**ถ้าหากเราเป็นชาวพุทธ เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าจริง ๆ แล้ว
เราต้องศึกษาธรรมะที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
นำมาเป็นคู่กับชีวิตของเรา มันจึงจะแก้ปัญหา-แก้ทุกข์ได้**
ทีแรกหลวงพ่อก็ไม่รู้ หลวงพ่อนึกว่ามีพระ-เท่ากับมีศาสนา
มีวัด-เท่ากับมีศาสนา มีพระพุทธรูป-เท่ากับมีศาสนา
แต่ก่อนหลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น
*‘ศาสนา’ แปลว่าคำสอนของท่านผู้รู้
ใครรู้เรื่องอะไร ก็นำเรื่องนั้นมาสอน*
บางคนก็ไหว้ผี บางคนก็ดูฤกษ์งาม-ยามดี
บางคนก็อ้อนวอน-บวงสรวงเทวดา มันเป็นอย่างนั้น
บางคนก็ไหว้นางธรณี แต่ไม่รู้จักนางธรณี
นางธรณีก็คือดินนั่นเอง บ้านหลวงพ่อก็มี
บางคนเอาดินไปไว้บนบ้าน-ไหว้ดิน เพราะไม่รู้จักทิศทาง
ก็จำเป็นต้องทำไปตามที่ถูกสอน
ดังนั้น‘ศาสนา’จึงแปลว่าคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ ไม่ใช่พุทธศาสนา
อันวัดวาอารามนั้นดีแล้ว
*สำหรับคนที่ยังไม่รู้ ไปเห็นสีเหลืองก็ยังสบายใจ
ยกมือไหว้ก็สบายใจ สบายใจเพียงชั่วครั้ง-ชั่วคราวเท่านั้น
มันไม่เป็นแก่นแน่นหนา ไม่ถาวร-ไม่มั่นคง*
ต่อมาเรารู้จักพุทธศาสนา **‘พุทธศาสนา’คือตัวคน
ตัวสติ-ตัวสมาธิ-ตัวปัญญามารู้ชีวิตจิตใจของเรานั่นเอง
เรียกว่า‘พุทธศาสนา’
ศาสนาคือตัวเรานี่แหละ คือทุกคนเป็นตัวศาสนา
สอน…ก็สอนเข้าตาให้เห็น สอนเข้าหูให้ฟัง-ฟังแล้วก็ต้องปฏิบัติ**
*เมื่อเราฟังแล้ว-แต่ยังไม่ได้เอาไปปฏิบัติ มันก็ให้ผลน้อย*
ฉะนั้นให้หนูทุกคนรู้จักสมมติบัญญัติ
รู้จักปรมัตถบัญญัติ-รู้จักอรรถบัญญัติ-รู้จักอริยบัญญัติ
คำว่า‘สมมติบัญญัติ’นั้น ก็เพียงสมมติตามโวหารชาวโลกพูดขึ้นมา
ให้คนละชั่ว-ทำดี เรียกว่า‘สมมติบัญญัติ’
‘ปรมัตถบัญญัติ’ หมายถึงของจริง
การละชั่ว-ทำดี อันนั้นก็เรียกว่า‘ทำดี’-ยังไม่จัดเป็นพุทธศาสนา
‘อรรถบัญญัติ’ คือจิตใจมองไม่เห็น
คนมันมีชีวิตจิตใจ มันคิดขึ้นมา-มองไม่เห็น
คนใดเห็นจิตใจตัวเองนึกคิด หักห้ามได้
เรียกว่าเป็นอรรถบัญญัติ ลึกยากที่บุคคลจะรู้ได้
**ผู้รู้จิตใจรู้คิด-เห็นชีวิตตัวเอง เรียกว่า‘เป็นอริยบุคคล’**
หนูก็เป็นอริยบุคคลได้
ถ้าเป็นพระสงฆ์ ก็เรียกว่า‘พระอริยสงฆ์’
ถ้าเป็นฆราวาส-ญาติโยม ก็เป็น**อริยบุคคล-ยกมือไหว้ตัวเองได้
เพราะตัวเองเห็นตัวเอง คือรู้ธรรม-เห็นธรรม**
หนูผู้ศึกษาเล่าเรียนมามาก คงจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า
‘พระวักกลิเมื่ออยู่กับพระพุทธเจ้า พระวักกลิมองแต่พระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็เลยดุว่าพระวักกลิ พระวักกลิน้อยใจ
จะไปกระโดดเหวตาย เพราะมีความทุกข์’
*ความทุกข์นี่สำคัญนะ
แม้อยู่ใกล้พระพุทธเจ้า-ก็ยังมีความทุกข์ ถ้าหากไม่รู้ธรรมะ*
‘พระวักกลิจะไปกระโดดเหวตาย พระพุทธเจ้าได้ไปห้ามไว้
และตรัสว่าพระวักกลิ-เธอเข้าใจพระพุทธเจ้าไหม
พระวักกลิตอบว่าเข้าใจ
พระพุทธเจ้าชี้มือที่พระองค์เอง บอกว่านี่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า
เราตถาคตตายได้หรือไม่ ถ้าตายได้-ก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า
พระวักกลิเกิดมีความสงสัยขึ้นมาทันที
พระองค์ถามต่อไปว่า เธออยากเห็นพระพุทธเจ้าไหม
พระวักกลิตอบว่าอยากเห็น
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเรา
แม้จะจับนิ้วมือ-นิ้วเท้าของเราอยู่ ก็ไม่เห็นเรา-เพราะไม่เห็นธรรม’
**ถ้าหนูเห็นธรรม ก็ต้องเห็นตัวหนูเองกำลังทำ-กำลังพูด-กำลังคิด**
พระพุทธเจ้าในประเทศอินเดียนั้น เป็นปุคคลาธิษฐาน-เป็นเพียงสมมติขึ้นมา
พวกหนู ๆ ทุกคนที่เป็นนักศึกษา
กำลังศึกษาเพื่อจะป้องกันโรคระบาด โรคทางเนื้อหนัง-หนูคงจะรู้ดี
แต่โรคทางจิตใจนี่ บางทีหนูเองอาจจะเป็นโรคก็ได้
**การศึกษาพุทธศาสนานั้น ต้องศึกษาถึงจิตใจ
ป้องกันอย่าให้จิตใจมันเป็นโรคขึ้นมา
โรคอะไร ? โรคโลภะ-โรคโทสะ-โรคโมหะ
โรคตัณหา-โรคอุปาทาน-โรคจน รวมเรียกว่าโรคกิเลส-หรือโรคทุกข์
เป็นโรคก็เดือดร้อน มีความทุกข์ก็เดือดร้อน จนก็เดือดร้อน
จนอะไร ? จนปัญญา
ทุกข์อะไร ? ทุกข์เพราะไม่รู้
วิธีรักษา-ป้องกันโรคทางจิตใจนี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้**…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น