รู้สึกกาย รู้สึกใจ 4 พฤษภาคม 2023

“…‘ขันธ์’ ก็หมายถึงตัวเรานี่เอง

คือ รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ

หมายถึงขันธ์ ๕ ได้แก่รูปขันธ์-เวทนาขันธ์-สัญญาขันธ์-สังขารขันธ์-วิญญาณขันธ์

ขันธ์ ๕ ทวนกระแสของความคิด

*ความคิดไม่ใช่เป็นตัว-เป็นตน เขาเรียกว่า‘สังขาร’

‘สังขาร’คือการปรุงแต่ง* **‘วิญญาณ’เป็นตัวรู้**

เมื่อวิญญาณรู้ เราจะทำอย่างไรจึงจะออกจากความคิดได้ ?

เพราะความคิดมันไหลไปเหมือนกับน้ำ มันคิดไม่หยุด

คนคิดมากจึงเป็นโรคประสาท นอนไม่หลับ-ฟุ้งซ่านรำคาญ

**พระพุทธเจ้าสอนให้เรามีสติ-รู้สึกตัว

ความรู้สึกตัวทำให้ถอนออกจากความคิดได้

เมื่อมารู้สึกรูป เรียกว่า‘รูปขันธ์’

รูปคือตัวเรานี่เอง-มารู้สึกตัวนี้ แล้วมันจะวางความคิด

มันหลุดออกจากกัน มันมารู้สึกตัวนี้**

วิธีที่จะให้มันหยุดคิดได้ เมื่อหนูคิดฟุ้งซ่านขึ้นมา

หนูก็ต้องกำมือแรง ๆ หรือเอามาเคาะศีรษะ

เคาะโป๊กหนึ่ง-มันเจ็บ เพราะจิตมารู้สึกอยู่ที่ความเจ็บ

มันก็เลยหยุดคิด หยุดความคิด…เพราะมาอยู่ที่รูป-คือศีรษะ

หนูก็เขียนหนังสือได้-จดจำอะไรได้ดี เพราะจิตใจของหนูไม่ฟุ้งซ่าน

ถ้าสอบไล่ได้เป็หมอก็ตาม-เป็นพยาบาลก็ตาม ไปดูคนป่วย

เขาไม่สบาย เพราะเขาดิ้นรน

หลวงพ่ออยู่โรงพยาบาลชัยภูมิครั้งหนึ่ง

คนไปโรงพยาบาล-เขาเจ็บ พยาบาลก็ห้ามว่า‘อย่าร้องคุณลุง’

เขาเจ็บมาก-เขาก็ต้องร้อง ร้อง-มันก็ไม่หยุด

เพราะคนไม่รู้จักหยุดความคิดของตัวเอง ดิ้น-ดิ้นจนตกเตียง

พยาบาลก็เอาไว้ไม่ไหว เพราะคนนั้นเป็นผู้ชาย

พยาบาล ๒ คนเอาไว้ไม่ไหว ก็ตกเตียง-เจ็บ ๒ ต่อ

เจ็บมาจากบ้าน-เจ็บหนึ่ง เจ็บเพราะตกเตียงอีก-เจ็บหนึ่ง

หลวงพ่อก็นอนฟังเขา-ดูเขา *อันนี้แหละ-ไม่รู้จักจิตใจตัวเอง*

หนูก็ต้องพูดว่า‘อย่าร้องคุณลุง ดูเข้าไปที่จิตใจของคุณลุง

จิตใจมันไม่ได้เจ็บ คุณลุงไปดูว่ามันเจ็บ-แต่จิตใจมันไม่ได้เจ็บ

อย่าไปห่วงกับรูป รูปเป็นหน้าที่ของหมอ’

และบอกเขาเลยว่า‘หนูจะพยาบาลให้คุณลุง รูปนี่-ลุงรักษาไม่ได้

หรือคุณตา-คุณอารักษาไม่ได้ หนูเรียนมาแล้ว-จะรักษาให้

ส่วนเรื่องจิตใจของคุณลุง-คุณตา-คุณอานั้น หนูรักษาให้ไม่ได้

โรคทางกาย-หนูช่วยรักษาได้’ หนูก็ต้องสอนเขาอย่างนั้น

นั่นเขาบอกแต่ว่า‘อย่าร้องลุง-อย่าร้องลุง’

แต่คนป่วยก็ร้อง เพราะเขาไม่รู้จัก

หลวงพ่อพูดไม่เป็น เพราะหลวงพ่อไม่ได้เป็นหมอ

ถ้าหลวงพ่อเป็นหมอ หลวงพ่อจะชี้แนะเขาว่า

‘ร้องทำไม-ร้องมันก็ไม่หาย โรคทางกายยกให้หมอรักษา’

**เรื่องทางจิตคือความทุกข์ จะเป็นทุกข์ไปทำไม ?

เกิดมาแล้วก็ต้องอยู่ให้เป็น จิตใจมันไม่มีทุกข์**

*แต่ที่ทุกข์ เพราะเราไปยึดถือว่าเป็นตัวตน มันก็ทุกข์ขึ้นมา*

มันมี ๒ ทุกข์นะหนู

ที่หลวงพ่อแนะนำวันนี้ ก็เพื่อให้หนู ๆ ทุกคนเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า

**พระพุทธเจ้าสอนให้ทุกคนเข้าใจตัวเอง ศึกษาที่ตัวเอง

เมื่อเข้าใจตัวเอง-ศึกษาตัวเองแล้ว ความทุกข์มันไม่มี**

*ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราหลงตัว-ลืมตน*

ไปยึดคำพูดของคนนั้น-คนนี้

เราไม่ต้องไปยึดคำพูดของใคร **เราต้องดูจิต-ดูใจของเรา**

**พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะการทำทางจิต-ทางใจ

เมื่อเราเห็นชีวิตจิตใจของเราแล้ว

การทำ-การพูด-การคิด เราต้องดูจิต-ดูใจของเรา

จิตใจเราโกรธไหม-มันร้อนไหม-มันหลงไหม ?**

แล้วก็ต้องเงียบได้ ถามตัวเองดูบ้าง‘ร้อนทำไม-โกรธทำไม-หลงทำไม ?’

คนที่ไม่รู้สึกตัวเอง-ลืมตัวเอง เมื่อกำลังคิด-กำลังทำ-กำลังพูด

เขาเรียกว่า‘คนไม่มีความละอาย’

บางทีพวกหนู ๆ อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้

คนกำลังทำ-พูด-คิด ไม่มีความละอายในตัว…จะเรียกว่าอะไร ?

ก็เหมือนกับสัตว์เดรัจฉานนั่นเอง

สัตว์เดรัจฉานมันทำ-พูด-คิดอะไร มันไม่สำนึกตัว-มันไม่มีความละอาย

ส่วนคนไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น

‘คน’กับ‘มนุษย์’ไม่เหมือนกัน คนอาจเป็นสัตว์ก็ได้

คนที่กำลังทำ-กำลังพูด-กำลังคิด ไม่มีความละอายแก่ใจ

นั่นเขาเรียกว่า‘คนลืมตัว-ลืมตน’ จิตใจคล้าย ๆ สัตว์เดรัจฉาน

*ไม่ใช่(ตัว)คนเป็นนะ จิตใจมันเป็น*

ฉะนั้นหนูเป็นนักศึกษา **การทำ-การพูด-การคิด…ต้องรู้จักจิตใจตัวเอง**

เรียกว่า‘เป็นคนมีความละอายใจ’ คืออายใจเรานี่นะ

ไม่ใช่ละอายตัวบุคคล อายใจว่า‘เอ๊ะ-ทำไมมันคิดอย่างนั้น

ทำไมมันอยากโกรธคน ทำไมมันไปอิจฉา-ริษยาเขา ?’

ท่านว่า‘หิริ-มีความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ-มีความเกรงกลัวต่อบาป’

บุคคลใดเป็นอย่างนั้น ท่านว่า‘เป็นสัตบุรุษ-หรือเป็นนักปราชญ์’

หนูก็เป็นสัตบุรุษได้ เป็นนักปราชญ์ก็ได้

พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนั้น เพราะสภาพจิตใจอย่างนั้นมันมีในคน…”

————————————————————————————————

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※

※ ※

※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※

※ ※

※ อย่าหลงชีวิต ※

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ

_/|\_ _/|\_ _/|\_

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *