“…เมื่อหลวงพ่อรู้รูป-นาม รู้รูปทำ-นามทำแล้ว…ก็รู้รูปโรค-นามโรค
โรคมันมี ๒ อย่าง (คือ) โรคทางเนื้อหนังนี่ชนิดหนึ่ง
โรคทางจิตใจหรือจิตวิญญาณ นี่ก็อีกชนิดหนึ่ง
โรคทางเนื้อหนังก็คือปวดหัว-ปวดท้อง ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล
เรียกว่า‘รูปโรค’
ส่วน*โรคทางจิตใจ เรียกว่า‘นามโรค’
คือจิตใจมันนึก-มันคิดเป็นทุกข์* **ก็ต้องทำความรู้สึกใจ-ตื่นใจ
มันจะเป็นใหญ่ในใจของมันได้เอง** มันรู้อย่างนี้
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็เข้ามารู้ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา
ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตานั้น พูดได้-จำได้มาตั้งนานแล้ว…แต่ยังไม่เข้าใจ
‘ทุกขัง’ หมายถึงการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถนั่นแหละเป็นตัวทุกข์
แต่ถ้าเราไปหลับตาไว้ เราก็เลยไม่เห็น-ไม่เห็นว่าตามันทุกข์
ทีนี้เมื่อลืมตาขึ้น…เห็นตามันกะพริบ เหลือบซ้าย-แลขวา
จึงรู้ว่า‘โอ-มันเป็นตัวทุกข์’ เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็เป็นตัวทุกข์
ทุกขังนี้-มันติดกับตัวรูป แยกจากกันไม่ได้
แยกจากกันเมื่อใด-ตายเมื่อนั้น นี่เรียกว่า‘ทุกขัง’
‘อนิจจัง’ แปลว่าไม่เที่ยง-จะทนทานไม่ได้…เปลี่ยนไปตามอิริยาบถของมัน
‘อนัตตา’-บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะมันเป็นหน้าที่ของมัน
ก็เลยเกิดความเข้าใจอย่างนี้ มันเป็นฌานเข้ามารู้
ความรู้ของฌาน เป็นขั้น-เป็นตอน
มันรู้เป็นลำดับมาตั้งแต่รู้รูป-รู้นาม เป็นลำดับ-ลำดับอย่างนั้น
ที่หลวงพ่อพูดว่า‘ญาณ’ แปลว่าเข้าไปรู้เป็นลำดับ
อย่างที่พูดให้ฟังนี้อาจจะไม่ถูกกับตำรา แต่อาจจะถูกบ้างเป็นบางบท-บางตอน
วานนี้มีฝรั่งชาวอเมริกันกับคนไทยที่เรียนปรัชญามาถาม
ฝรั่งเขาปฏิบัตินั่งหลับตา ก็เลยพยายามพูดให้เขาเข้าใจว่า
อันการหลับตานั้น-มันก็ดีแล้ว จึงได้ให้เขาเอาของมาวางไว้ตรงหน้า
มีนาฬิกาเรือนหนึ่ง-ปากกากับดินสอ-แล้วก็แว่นตามาวางไว้
แล้วให้เขานั่งหลับตา พอเขาหลับตา-หลวงพ่อก็เอาของของเขาย้ายที่ไป
เพื่อนเขาคนที่เรียนปรัชญามานั่น-ก็นั่งดู
พอได้เวลา-ก็บอกให้ฝรั่งลืมตา พอเขาลืมตาขึ้นมา-ก็ให้เขาดู
ว่าของหายไปหรือยัง เขาก็บอกไม่หาย-อยู่ตรงนั้น…ก็แล้วไป
แล้วหลวงพ่อก็เลยพูดอะไร ๆ ไปหลายอย่าง
พูดเรื่องสมมติให้ฟัง สมมตินี่-มันมีหลายอย่าง
สมมติบัญญัติก็มี-ปรมัตถ์บัญญัติก็มี-อัตถบัญญัติก็มี-อริยบัญญัติก็มี
คำว่า‘สมมติ’ ก็บัญญัติกันขึ้นมา
อะไร ๆ ก็ถูกสมมติและบัญญัติขึ้นมาทั้งนั้น
แต่สมมติบางอย่างก็เป็นปรมัตถ์ในตัว-เป็นอัตถะไปในตัว-และเป็นอริยบัญญัติไปในตัว
ขึ้นกับความรู้แจ้งของผู้บัญญัติ หลวงพ่อพูดให้ฟังหลายเรื่อง-เขาก็ยังไม่เข้าใจ
เลยให้เขานั่งอีก นั่งหลับตาตามแบบที่เขาเคยชินมา
แต่ก่อนจะทำ-ให้เขาเอากระเป๋าออกมา ในกระเป๋ามีนาฬิกา-แว่นตา-ปากกา-เงิน
แล้วก็มีสร้อยคอ-มีพระพุทธรูปติดสร้อยคออีกด้วย เอามาวางไว้ข้างหน้า
ถามเขา-คุณเห็นไหม ? เขาก็ตอบ-เห็น
หลวงพ่อก็บอก ‘เอ้า….ทีนี้หลับตาเข้าฌานเสีย’-เขาก็นั่งหลับตา
พอเขาหลับตา ก็บอกกับเพื่อนเขาคนที่เรียนปรัชญา
ให้เอาของไปวางไว้ข้าง ๆ เขา ไม่ให้ฝรั่งเห็น
พอได้เวลา ก็บอกให้ฝรั่งลืมตาขึ้น
(หลวงพ่อถามเขา)-ของหายไปไหน ? (ฝรั่งตอบ)‘ไม่รู้-หายไปไหนไม่รู้’
นี่แหละ อันที่ไม่รู้นี่แหละ-จะถือว่ารู้หรือ ?
**‘รู้-แต่รู้แบบไม่อยากรู้’** พูดให้เขาฟัง-ก็ยังไม่เข้าใจ
เข้าใจเพียงเล็กน้อย เรื่องนั้นมันไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
มันมีอยู่ก่อนแล้ว ก็เลยพูดให้ฟังเรื่องสมถกรรมฐาน
หรือเรื่องให้ทาน-รักษาศีล มันมีมาก่อนแล้ว
พูดให้เขาฟัง-เขาก็ยังไม่เข้าใจ เพราะมันมีตำรา-วางกันไว้แบบนั้นมานาน
พระพุทธเจ้าของเรานั้น เมื่อบวชแล้วก็ไปศึกษากับครูบาอาจารย์หลายท่าน
แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงอาจารย์เพียง ๒ ท่าน คือ
อาฬารดาบสกับอุทกดาบส ๒ อาจารย์นี้
อาจารย์คนแรกสอนให้ได้สมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔-อรูปฌาน ๓
เข้าฌาน-ออกฌานได้คล่องแคล่วว่องไวเหมือนอาจารย์ทุกแง่ทุกมุม
ก็ถามอาจารย์ อาจาย์ก็ว่า‘หมดความรู้แล้ว’
ก็เลยลาจากอาจารย์คนนั้น ไปเรียนกับอาจารย์คนที่ ๒
อาจารย์คนที่ ๒ สอนให้ได้สมาบัติ ๘ (คือ)รูปฌาน ๔-อรูปฌาน ๔
เข้าฌาน-ออกฌานได้คล่องแคล่วว่องไวได้เหมือนกับอาจารย์ทุกแง่ทุกมุมเช่นกัน
ก็ยังไม่พอใจ ถามอาจารย์-อาจารย์ก็ว่า‘หมดความรู้แล้ว’
ให้ประกาศความรู้-ความเห็น-ความเข้าใจที่ศึกษาจากเรา
ไปเผยแพร่ให้คนรู้แพร่หลายมากขึ้น
เจ้าชายสิทธัตถะคราวนั้นยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า
แต่ท่านเป็นคนฉลาด-จึงยังไม่พอใจ เห็นว่าทางนี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์
ไม่ใช่ทางดับทุกข์ แม้เข้าฌาน-ออกฌานได้ก็ตาม
จึงไม่พอใจแต่เพียงเท่านี้ ก็เลยลาจากมา
เมื่อจากมาแล้ว ก็มาทำทุกขกิริยา…อดข้าว-อดน้ำ ไม่พูด-ไม่คุย
เห็นว่าการกินข้าว-กินน้ำ…มันเป็นกิเลส การพูดคุย-มันเป็นกิเลส
พระองค์ก็เลยไม่เอาอะไรทั้งหมด
ดังนั้น เรื่องกินข้าว-กินน้ำ-ฉันอาหาร-เนื้อปลาอะไรนี่
คนมีปัญญารวมความรู้แล้วจะตีแตกทันที
แม้แต่ข้าว-พระองค์ก็ยังไม่กิน
นับประสาอะไรกับการงดอาหารเฉพาะจำพวกเนื้อ-หรือกินเจเท่านั้น
นี่-เราจะต้องเข้าใจอย่างนี้
คนเรามันต้องหาเหตุ-หาผลจริง ๆ ไม่ใช่จะไม่มีเหตุผล
ที่พูดให้ฟังนี้ เอาความจริงมาพูดให้กันฟัง-ไม่ใช่จะประชดประชันอะไร
เอาความจริงมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับผู้มีปัญญา
หนูเรียนหนังสือชั้นไหน ? แน่ะ-ปริญญาแทบทุกคน-มีปัญญาทั้งนั้น
ตัวหลวงพ่อเองยังไม่เคยเรียนหนังสือเลยด้วยซ้ำ
ในขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงทำทุกขกิริยาอยู่นั้น
ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้อุปถัมภ์บำรุงอยู่
ทีนี้มันจะตายแล้ว ไม่กินข้าว-ไม่กินน้ำ ไม่พูด-ไม่คุย
ตามปกติของคน-มันก็ต้องผอมแห้งไป เหลือแต่เอ็น-หนัง-กระดูกรัดรึงกันเอาไว้
เนื้อหนังคงจะแห้งไปหมด ดังที่เราเห็นในรูปภาพ
จึงเห็นว่า‘เอ-ไม่ไหว อย่างนี้คงจะไม่ถูกทางเสียแล้ว
ใครจะทำได้อย่างเรานี้-คงไม่มี’ ก็เลยถอนการกระทำอย่างนั้น-เลิกทำ
หันมากินผลไม้ มะขามป้อมกับหมากส้มมอ(สมอ)นี่
พวกปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็เห็นว่า‘เอ๊-คลายความเพียรเวียนมามักมากเสียแล้ว
คงจะไม่ได้สำเร็จเป็นแน่’ ปุถุชนมันชอบคิดไปตามอุดมการณ์อย่างนั้น
แต่ก็ไม่ได้ตำหนิปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
คนเรา เมื่อเห็นว่าไม่ถูกตามอุดมการณ์ของตัวเองแล้ว-หาว่าผิดทั้งนั้น
พระองค์นั้นมีความคิดว่าจะแสวงหาธรรมะ เพื่อจะมาตั้งต้นชีวิตใหม่
แต่พวกปัญจวัคคีย์เห็นว่าผิด ก็เลยแยกทางกันไปเลย
ทางนั้นก็ไป ๕ คน-พระองค์ไปคนเดียว นี่แหละความคิดมันนานาจิตตัง-ไม่เหมือนกัน
ทีนี้พระองค์ก็ไปพบกับนางสุชาดากำลังเอาข้าวจะไปบวงสรวงเทวดา
พระองค์ก็เลยได้กินข้าวนั้น ไม่ต้องพูดเรื่องที่ถามนางนะ
เพราะว่าทุกคนคงจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว เคยได้ยินไหม ?
เสร็จแล้วก็เอาขันไปวางลงในแม่น้ำ และมีคำมั่นสัญญากับตัวเอง
หรืออธิษฐานว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์บารมี ‘ถ้าข้าพเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ฆ่ากิเลสตาย-คลายกิเลสหลุดจริง ๆ แล้ว
เมื่อวางขันใบนี้ลงบนผิวน้ำนี้ ก็ขอให้(ขัน)ใบนี้ไหลทวนกระแสของน้ำขึ้นไปถึงต้นน้ำ
และในทางตรงกันข้าม ถ้าหากจะไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็ให้ไหลไปตามกระแสของน้ำ’ พอวางขันลงปั๊บ-มันก็ไหลทวนกระแสของน้ำขึ้นไปถึงต้นน้ำ
พระองค์ก็เลยขึ้นมาบำเพ็ญทางจิตแต่เพียงอย่างเดียว ท่านเล่ากันมาอย่างนั้น
**ที่จริงแล้ว การทวนกระแสของน้ำก็คือการทวนกระแสของความคิดนั่นเอง**…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น