“…**เมื่อคนใดรู้สภาพภาวะอาการเกิดดับอันนี้
มันเหมือนกับที่ผมเคยพูดเปรียบเทียบให้ฟังว่า
‘เราผูกเชือกไนล่อนกับเสา ๒ ต้นไว้ให้ตึง (แล้ว)ตัดตรงกลาง
มันจะกระดอนกลับไปสู่เสาทั้ง ๒ ทันทีเลย
เมื่อดึงมาหากันอีก มันไม่ถึง
เรียกว่า‘มันเกิดแล้วดับไป-ดับสูญไป’
ดับสูญ ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเลย
แต่หมายความว่าสิ่งนั้นจะไม่มี นี้แหละคืออาการเกิดดับ**
เขาก็เลยยกเอามาไว้ในเรื่องของอายตนะว่า
‘ตาเห็นรูป ก็อย่าให้เห็นเป็นรูปสวย-ไม่สวย งาม-ไม่งาม
หูฟังเสียง ก็อย่าให้ได้ยินเป็นเสียงเพราะ
อย่างนี้มันยังเป็นคำพูด แต่ยังมีเชื้ออยู่
*ถ้ายังมีเชื้ออยู่อย่างนี้
ถึงพูดไปได้ แต่ตัวคนที่พูดนั้นยังไม่รู้จริง
เพราะมันเป็นยางเหนียวอยู่*
**ถ้าเราตัดขาดสิ่งนั้นแล้ว มันเป็นเอง
ความเป็นเองนั้น มันมาขาดเอาเองของมัน
ถึงเราจะยังไม่เป็นเดี๋ยวนี้ แต่จวนจะหมดลมหายใจนี่
ต้องประสบเรื่องนี้แน่นอนทุกคนยกเว้นไม่ได้
จึงว่า‘รีบทำ ให้รีบทำให้อยู่ในกำมือของเรา’
ถ้าเราไม่ทำเอง แล้วให้คนอื่นเขาทำแทน-มันก็ไม่ได้
คนอื่นทำ คนอื่นก็รู้**
ที่หลวงพ่อพูดให้ฟังนี้ ก็ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อจะไปทำแทน
มีแต่เพียงแนะนำว่า **‘ให้มีความรู้สึกตัว’
ถ้ามีความรู้สึกตัวมากเข้า-มากเข้า
ความไม่รู้มันจะจางไป-จางไป
เมื่อหมดแล้ว ก็เรียกว่า‘มันดับไม่เหลือ’**
ที่เราสวดมนต์ทำวัตรเช้า-วัตรเย็น ว่า
‘จิตหลุดพ้นแล้วจากสิ่งทั้งปวง
ไม่มีอะไรจะมาปรุงแต่งได้อีกต่อไป’
อันนั้นเป็นเพียงคำพูด เราเอามาสวดกัน-ก็สวดได้
แต่เราเห็นไหม ?
เห็นจิตใจเราหลุดพ้นไปจริงไหม ?
ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้จริงไหม ?
เป็นจิตลักษณะไหน ?
เราจะไม่รู้
อันที่ไม่รู้ ก็คือยังเป็นเพียงคำพูด
จึงว่า *‘คำพูดนั้นดีแล้ว
แต่ว่าคำพูดถึงจะร้อยคำ-พันคำ-หมื่นคำ หรือแสนคำ
ก็สู้การกระทำให้เราเป็นครั้งเดียวไม่ได้*
**ถ้าเราเป็น-เรามีแล้ว เราพูดก็ได้-เราไม่พูดก็ได้’**
มันจำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น
จึงว่า**‘ธรรมะแท้’นั้น-เหมือนกันกับพระพุทธเจ้า
สาวกทุกองค์ต้องรู้เหมือนกัน มีความไม่ทุกข์เท่ากัน
ถ้าหากรู้จริงนะ’**
แต่ถ้าไม่รู้จริง ก็จะไปคาดคิดเอาว่า
พระพุทธเจ้าต้องมีความสุขมาก พระสาวกต้องมีความสุขน้อย
พระพุทธเจ้าต้องมีความรู้มาก พระสาวกรู้น้อย
อันนั้นก็จริงทางทฤษฎีวิชาการ เพราะพระองค์เรียนมามาก
การพูด-การสอนของพระองค์จึงมาก
ท่านพูดอะไร จึงมีมาก
แต่ความจริงแล้ว มีเป้าหมายจุดเดียว
กล่าวคือ จุดที่ทำให้มันหมดนี้เอง
ให้มันขาดออกจากกันนี้เอง
ทำอย่างนี้ ทำไมจึงไปเป็นอย่างนั้น ?
จึงว่า‘เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ที่สุด’
คำว่า‘อัศจรรย์’นี้ ก็คือว่า
ไม่เคยรู้-ไม่เคยเห็น-ไม่เคยเป็น-ไม่เคยมี
นึกว่าทำอย่างนี้ มันจะไม่เป็นไปอย่างนั้น
แต่เมื่อทำไปอย่างนี้ ทำไมมันไปเป็นอย่างนั้นได้ ?
มันเกี่ยวโยงกันอย่างไร ?
จึงว่า‘นี่อ้อ…สำคัญ น่าอัศจรรย์ !!!’
**ทำความรู้สึกตัว-ตื่นตัว ทำความรู้สึกใจ-ตื่นใจ
เนี่ย ! มันเป็นสิ่งที่งึด (น่าพิศวง น่าอัศจรรย์)**
หรือว่าอัศจรรย์ หรือจะว่าอย่างไรนี่
ซึ่งไม่สามารถที่จะพูดได้ หมดคำพูด
แต่**เมื่อทุกคนได้ประสบแล้ว จะพูดเอาเองว่า‘โอ! นี้จริง’**
**อย่างที่‘พระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียว’ ก็อันนี้แหละ
ตัดเชือกไนล่อนครั้งเดียว-ขาดเลย นั่น! พระพุทธเจ้า
ซึ่งเราก็ต้องทำได้เช่นเดียวกัน**
ตัดผม ก็ไม่ได้หมายถึงผมบนศีรษะนะ
**มันจะเข้าสู่สภาพของมัน
รูปนี้จะเข้าสู่สภาพของมัน ใจก็จะเข้าสู่สภาพของมัน
เมื่อมันเข้าสู่สภาพของมันแล้ว
ก็แสดงว่า มันไม่ต้องออกมารับ-มาสู้อะไร
มันต้องเตรียมตัวมาอยู่อย่างนั้น
นี่-อันนี้…ที่หลวงพ่อพูดให้ฟังว่า‘อาการเกิดดับ’
ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน**…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น