“…‘ศาสนา’ แปลว่าคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ สอนเข้าที่ไหน ?
สอนเข้าตา-สอนเข้าหู เพราะตามันมีสำหรับดู-หูมันมีสำหรับฟัง
ตาดูสิ่งที่สมควรและไม่สมควร ดี-ชั่ว
หูฟังสิ่งที่ดีหรือชั่ว หูมันฟังเป็น
ก็เลยเข้าใจตัวศาสนาจริง ๆ ตัวศาสนาที่เป็นตัวปรมัตถ์จริง ๆ
แล้วก็คือตัวคน-คนทุกคนเป็นตัวศาสนา ใครรู้เรื่องอะไร-ก็เอามาสอน
สอนเข้าตา-สอนเข้าหู คนรู้เรื่องไหว้ผี-ก็สอนให้ไหว้ผี
คนรู้เรื่องฤกษ์งามยามดี-ก็สอนเรื่องฤกษ์งามยามดี คนรู้เรื่องรักษาศีล-ก็สอนให้รักษาศีล
ว่าแต่ใครจะมีความรู้เรื่องอะไร ก็เอามาสอนให้เราทำ
ศาสนานั้นสอนให้เราทำดี-ละชั่ว เราก็ทำตามไป…เพราะว่าเราไม่รู้จริง-เราไม่มีที่พึ่ง
**พุทธศาสนา คือ มารู้สึกต่อการเคลื่อน-การไหวในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั่นแหละ
คือ มันรู้สึกในการเคลื่อนไหวของกายและใจ-เป็นญาณเข้ามารู้
รู้สึกที่เนื้อ-ที่ตัว ตื่นตัว…มันจะเป็นใหญ่ในตัวของมันได้เอง
รู้สึกใจ-ตื่นใจ มันจะเปลี่ยนแปลง-เป็นใหญ่ในใจของมันได้เอง
เมื่อมันเปลี่ยนแปลง มันก็เหมือนกับเราหงายของที่คว่ำขึ้นมา
มันก็เห็นว่ามีอะไรอยู่ที่ตรงนั้น
และเหมือนกับเกลียวที่มันขันแน่นอยู่ มันได้คลายออกมา-เราหมุนออกมาได้**
ก็เลยรู้เรื่องบาป-เรื่องบุญ
บาปคืออะไร ? *บาปก็คือการที่เราไขอันนี้ไม่ได้
บาปคือมืด เราไม่ได้หงายของที่มันปกปิดอยู่หรือคว่ำอยู่นี้ขึ้นมา*
บุญคืออะไร ? **บุญก็คือการที่เราคลายเกลียวนี้ออกได้
บุญคือเรามาหงายของที่คว่ำอยู่นี้ขึ้นมา** ให้เข้าใจอย่างนี้
เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็รู้สึกได้เอง-ว่านี่แหละคือคำสอนของคนโบราณ
เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะว่ารู้แจ้ง-เห็นจริง…รู้ตามความเป็นจริง
บัดนี้มาพูดกันถึงเรื่องทุกข์ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน
*ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรคนั้น เราพูดได้-แต่ไม่รู้จริง*
ตัวหลวงพ่อนี่เคยไม่รู้จักจริง ๆ วันนั้นเกิดรู้ขึ้นมาในตอนเช้า
‘ทุกข์’ หมายถึงการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถทีเดียวเป็นตัวทุกข์
ทุกขังไม่ใช่เรื่องปวดแข้ง-ปวดขา
การนั่งนาน ๆ แล้วปวดหลัง-ปวดเอวนั้น ไม่จัดว่าเป็นทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา
การปฏิบัติธรรมแบบของหลวงพ่อนี้ พอมันปวดขึ้นมา-รู้แล้วเปลี่ยนท่า
ให้เป็นไปตามอิริยาบถของมัน ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ
ไม่ต้องฝืนธรรมชาติ ก็เลยรู้ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา…รู้จริง ๆ เรื่องนี้
ถ้านั่งนาน ๆ แล้วปล่อยให้ปวดขา-ปวดหลัง-ปวดเอวนั้น จะรู้อย่างเดียวกันนี้ไหม ?
มันไม่รู้ ปวดอันนั้นมันเป็นทุกขเวทนา…ทุกข์โศกโศกา-ทุกข์ไห้รำพันเฉย ๆ
ทุกข์อันนั้น เด็กน้อยก็รู้-คนทำกรรมฐานก็รู้-คนไม่ทำกรรมฐานก็รู้
ฝืนธรรมชาติ-มันก็ต้องทุกข์ นั่งนาน ๆ มันก็ต้องมีเจ็บ-มีปวด
เราไม่พลิก-ไม่เปลี่ยนให้มันเป็นไปตามอิริยาบถของมัน มันก็ปวดขึ้นมา
อย่างเด็กนี่ หยิกเข้าไป-ก็เจ็บ
เอ้า-อายุเท่าไหร่ (โดนหยิก)เจ็บไหม ? (๑๐ ปีครับ-เจ็บครับ)
แน่ะ-เด็กมันก็รู้ แต่เด็กมันไม่รู้ทุกขัง…คือสภาพมันเคลื่อนไหวนี่ มันไม่รู้
อย่างกะพริบตานี่-ก็เป็นทุกข์ เหลือบซ้าย-แลขวา…ก็เป็นทุกข์
นี่เป็นทุกขัง เพราะมันติดอยู่กับรูป
‘อนิจจัง’ แปลว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน
‘อนัตตา’ ก็บังคับบัญชาไม่ได้
เมื่อกลับเข้ามารู้อันนี้ โอ-นี่เองที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้รู้จักทุกข์
ให้รู้จักที่มาของทุกข์และสมุฏฐานของทุกข์ ทำให้ถึงที่สุดของทุกข์
ก็เลยรู้อย่างนี้ว่า ทุกข์ได้แก่การเคลื่อนไหวกายและใจ
สมุทัยทำให้ทุกข์เกิด ตัวสมุทัยนี้คือตัวคิด
ตัวคิดเขาเรียกว่า‘สังขาร’ รู้-เขาเรียกว่า‘วิญญาณ’
ตัวสังขาร-ตัววิญญาณนี่มารวมกัน มันก็เลยรู้เข้ากันเป็นเรื่อง-เป็นราวไป…นี่คือสมุทัย
เมื่อหลวงพ่อรู้ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตาแล้ว มันก็เกิดเป็นความดีใจขึ้นมา
ไม่ใช่ใจดีนะ-มันดีใจ ภูมิใจในความรู้ของตัวเองว่าตัวเองรู้ธรรมะ
ก็เลยรู้ออกนอกตัวไป…ไปรู้ผี-รู้เทวดาเข้า คิดอย่างนั้น-คิดอย่างนี้
จะไปสอนคนอย่างนั้น-อย่างนี้ คิดว่าคนนั้น-คนนี้ไม่รู้
คิดว่าทุกคนคงจะไม่รู้เหมือนอย่างที่เรารู้ ตอนนี้แหละเป็นตอนที่วิปัสสนูมันเข้ามา
อันนี้เป็นความรู้ของวิปัสสนู…จำไว้-เข้าใจไหม เคยพบบ้างไหม ?
(เข้าใจครับ-เคยครับ)
อันนี้เป็นความรู้ของวิปัสสนู วิปัสสนูกิเลส ๑๖ ประการ-ตำราเขาก็บอกเอาไว้แล้ว
พอวิปัสสนูเกิดขึ้น มันก็รู้ไปนั่น-รู้ไปนี่…รู้ไปทุกสิ่ง-ทุกอย่างเลยทีเดียว
ตั้งแต่เช้าจรดเย็น มันรู้เรื่องนั้น-เรื่องนี้…แต่ไม่เคยรู้ความคิดเลย
อันนี้ให้เข้าใจ…ความรู้เรื่องรูป-นาม รูปทำ-นามทำ รูปโรค-นามโรค
ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา รู้สมมติที่กล่าวมาแล้วนี้
เป็นความรู้ในขั้นแรกสุดซึ่งญาณเข้าไปรู้ ขั้นนี้เป็นปฐมฤกษ์
อย่างสมมติรำวงนี่ รอบปฐมฤกษ์…เขาจะไม่เก็บตังค์-ให้เข้าไปรำฟรี
พอรอบที่ ๒ เขาถึงจะเก็บค่าผ่านประตู
ตอนนี้สำคัญ-ตอนนี้พูดให้ฟังแล้ว บางคนก็จำได้
พอถึงตอนผ่านประตูนี้ ถ้าไม่มีตังค์-เขาก็ไม่ให้เข้าไปรำ
เพราะมันมีค่า-มีราคามาก จะทำให้จิตใจเปลี่ยนจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง
แต่การรู้ขั้นปฐมฤกษ์นี่เป็นการเริ่มต้นแรกทีเดียว ที่จะให้เรารู้วิธีปฏิบัติธรรมะที่เรียกว่า‘สากล’
การปฏิบัติธรรมอย่างสากลในขั้นปฐมฤกษ์นี้
**เมื่อรู้แล้ว-ก็ไม่ทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น** เช่น ผี-เทวดา-นางธรณี
อะไรต่าง ๆ เครื่องราง-ของขลังอะไร…ก็ไม่กลัวแล้ว
ทีนี้จะพูดถึง*ขั้นต่อมา คือการได้รู้จักความคิดตัวเอง*
ซึ่งก็เปรียบได้กับการเริ่มเสียค่าผ่านประตูเข้าไปรำวง
ตอนนั้นเป็นตอนเย็น มันเหมือนกับมีคนมาผลักตรงสีข้างนี่วูบทีเดียว
เอ๊ะ! ก็หาคน-หาไม่เจอ เดี๋ยว ๆ มันก็คิดขึ้นมาอีกแล้ว
ก็เลยรู้ อื้อ-**มันคิดขึ้นมานั่นเอง…แล้วก็เลยทำเหมือนแมวกับหนู
พอหนูออกมาปุ๊บ แมวมันจับปั๊บ**
เพราะว่าแมวกับหนู มันเป็นของตรงกันข้ามกัน-เป็นปรปักษ์กัน
พอคิดขึ้นมาครั้งที่ ๓ ก็เลยรู้ทันที…โอ-มันคิด
ทีนี้ก็เลย**คอยดูอยู่…ทำความรู้สึกตัว-ตื่นตัว ทำความรู้สึกใจ-ตื่นใจ
การเคลื่อนไหวโดยวิธีใด-ก็ให้มันรู้ก่อน จิตใจมันนึกคิดอะไร-ก็ให้มันรู้ก่อน
มันก็เลยโผล่หน้าขึ้นมาเปิดประตูรับ ความเป็นพระ-มันอยู่ที่ตรงนี้**
ในคราวนั้นหลวงพ่อยังเป็นโยม ยังนุ่งกางเกงอยู่
โอ-ตัวเองก็เป็นพระได้ มันคิดไปบ้า ๆ บอ ๆ
แต่มันก็จริง เพราะว่า**การเปลี่ยนแปลงรูปอันนี้นี่-เปลี่ยนแปลงได้
แต่จิตใจที่รู้แล้ว-เปลี่ยนแปลงแล้ว อันนี้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกเลย
มันเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา จึงว่า‘สัจธรรม’
‘สัจจะ’ แปลว่าของจริง-ของแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง-ไม่แปรผัน
ถึงจะรู้-ก็มีอยู่อย่างนั้น ไม่รู้-ก็มีอยู่อย่างนั้น
เมื่อรู้-เห็น-เข้าใจมันจริง ๆ แล้ว จิตใจก็เป็นอยู่อย่างนั้น-ไม่เปลี่ยนแปลงอีก
ดังนั้นการเห็น-รู้-เข้าใจอย่างนี้ เขาเรียกว่า‘พุทธะ’**
พระพุทธเจ้าเป็นคนแรกที่รู้-รู้ในประเทศอินเดีย แล้วนำมาสอน…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น