“…ผมเคยพูดให้ฟังอยู่เรื่อย ๆ ว่า**‘การปฏิบัติธรรมะนั้น
ต้องรู้ที่ตัวเอง’ เรียกว่า‘รู้สึกการเคลื่อนไหว’-ให้มันรู้จริง ๆ**
*ถ้าไม่รู้อันนี้แล้ว-มันจะมีความสงสัย ความสงสัยนั่นแหละทุกข์
ให้รู้จักทุกข์จริง ๆ คำว่าทุกข์นี้-ไม่ใช่ทุกข์เจ็บหัว-ปวดท้อง
ทุกข์เจ็บแข้ง-เจ็บขา อันนั้นมันไม่ใช่เป็นทุกข์ในอริยสัจ
ทุกข์ในอริยสัจนี้ คือทุกข์ตัวเคลื่อน-ตัวไหว ตัวไป-ตัวมา เอียงซ้าย-เอียงขวา
นั่นแหละมันเป็นตัวทุกข์*
**ทุกข์ต้องรู้ กำหนดรู้-รู้อยู่กับอันนี้
สมุทัยต้องละ ตัวสมุทัยนั้นก็คือตัวคิดนั่นแหละ-ต้องละ
อย่าเข้าไปยึด-ไปถือ ถ้าเข้าไปยึด-ไปถือ…มันเป็นทุกข์
สมุทัยทำให้ทุกข์เกิด ท่านจึงให้ละ
มรรคต้องเจริญ ที่ว่ามรรคนี้-ก็คือต้องทำความรู้สึกให้มาก
คำว่า‘เจริญ’คือต้องทำให้มาก ทำไม่ท้อถอย-ทำไม่ย่อหย่อน
นิโรธ-พ้นไป พ้นไปจากสภาพหรือภาวะทุกข์
คนเราเมื่อพ้นไปแล้ว-ก็รู้จัก ถ้ายังไม่พ้นไป-ก็ยังไม่รู้จัก**
ดังนั้น**การปฏิบัติวิธีที่ผมพูดนี้ จึงเป็นวิธีง่าย ๆ-ไม่ยาก**
สำคัญตรงที่มันมีอุปสรรค ซึ่งต้องรู้เอาไว้
คนอื่นจะเป็นหรือไม่เป็น-ไม่รู้ แต่สำหรับผม-ผมรู้ตัวผมเอง
แรกปฏิบัติ เมื่อรู้ขั้นเบื้องต้น…ผมรู้เรื่องรูป-เรื่องนาม
รูป-นาม รูปทำ-นามทำ รูปโรค-นามโรค
โรคมี ๒ อย่าง (คือ)โรคทางเนื้อหนัง-โรคทางจิตใจ
แล้วก็รู้ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา
รู้เป็นขั้น-เป็นตอนไปอย่างนี้ล่ะ
แล้วก็รู้สมมติ…รู้ศาสนา-รู้พุทธศาสนา รู้บาป-รู้บุญ
เมื่อรู้อันนี้แล้ว ก็เรียกว่าภาคต้นจบกันเพียงแค่นี้
แล้วคนมักจะมาติดอยู่แค่ตรงนี้ นึกว่าตัวเองรู้ธรรมะชั้นสูง
นี่มันเป็นอย่างนั้น ตอนนี้แหละที่คนมันเป็นวิปัสสนู
พอดีรู้อันนี้แล้ว-คนมันเกิดความรู้ รู้นั้น-รู้นี้…รู้ไปไม่มีทางสิ้นจบ
แล้วก็ภูมิใจในความรู้ตัวเอง เลยไม่ได้ดูความคิด
มันคิดแล้ว ก็เลยเข้าไปในความคิด
เข้าไปดูความคิด เลยไปไม่ได้-ก้าวหน้าต่อไปไม่ได้
รู้อันนี้ มันเป็นความรู้ของอวิชชา
*‘อวิชชา’แปลว่าไม่รู้ คือมันเป็นความรู้แบบที่เรียกว่า‘รู้อย่างไม่รู้’*
ต้องให้รู้จักจริง ๆ ถ้าไม่รู้จักแล้ว-มันจะเป็นความรู้ของตัวนี้
มันเป็นอย่างนั้น ที่ผมฟังมา-คนโดยส่วนมากมักจะติดอยู่กับความรู้ตัวนี้
เมื่อเราไปปฏิบัติ พอดีเรารู้ขึ้นมาว่า‘เออ-อันนี้เป็นความรู้ที่ไม่รู้’
รู้อย่างไม่รู้ อย่างที่หลวงพ่อเคยพูดว่า‘รู้อย่างไม่รู้-รู้อย่างผู้รู้’
ถ้า**รู้อย่างผู้รู้ ก็คือพอดีมันคิดมา-เราไม่ต้องไปติดอยู่กับความคิด
เราต้องมาอยู่กับการเคลื่อนไหว
ดังนั้นพอดีมันคิดปุ๊บ เราก็มาอยู่กับการเคลื่อนไหว
ให้มันอยู่กับการเคลื่อนไหวให้มาก
ทำไป-มันจะรู้ความคิด มันเห็น-มันรู้-มันเข้าใจ
แต่ก่อนนั้น-มันรู้เฉย ๆ มันไม่เห็น
บัดนี้มันเห็น-มันรู้-มันเข้าใจ-มันสัมผัสอยู่กับความคิด**
พอดีเห็น-รู้ความคิด ก็เลยเกิดความเห็น-ความรู้-ความเข้าใจ-สัมผัส
มันเป็นอารมณ์ รู้จักวัตถุ
‘วัตถุ’นี้หมายถึงทุกสิ่ง-ทุกอย่าง (รู้)วัตถุแล้วก็(รู้)ปรมัตถ์-(รู้)อาการ
คำว่า‘ปรมัตถ์’ก็คือกำลังเป็นอยู่-มีอยู่-เข้าใจอยู่-สัมผัสได้อยู่ในขณะนั้น
คำว่า‘อาการ’ก็หมายถึงความเปลี่ยนแปลงในสภาพจิตใจ
แต่ร่างกายนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้
รูปดี-รูปไม่ดี รูปสวย-รูปไม่สวย อะไรเหล่านี้มันก็เป็นอยู่ในสภาพเดิม
แต่**จิตใจนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ เหมือนกับมืดนี่แหละ-สว่างขึ้นมาทางจิตใจ
หนักก็เบาขึ้นมาทันที มันเป็นอย่างนั้น
ความโง่ก็หายไป-ความฉลาดก็ขึ้นมาแทน** เป็นอย่างนั้น..”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น