“…หลวงพ่อขอถาม
*หนูเคยมีความทุกข์บ้างไหม ? (โยมตอบ)-‘มีค่ะ’
เพราะหยุดความคิดไม่ได้นั่นเอง
ความคิดนี่ มันสามารถทำให้คนทุกข์ได้
ความรู้สึกตัวนี่ มันสามารถไปตัดความทุกข์ได้หมด*
จึงว่า *เรื่องอะไรทั้งหมดก็ตาม
ศาสนา-พุทธศาสนา อะไรทั้งหมดก็ตาม
หลวงพ่อรวมความแล้ว มีความรู้สึกตัวอย่างเดียว
ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั้น มันไม่สามารถที่จะปรุงเราได้
ถ้าหากทุกคนรู้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่มีเรื่องอะไรทั้งหมด
คนมันไม่รู้จัก มันเข้าไปในความคิด
ความคิดก็เลยปรุงให้อันนั้นดี-อันนี้ดี
มันก็ทุกข์ขึ้นมา* ก็เลยเกิดแย่งอำนาจกัน
แย่งอำนาจ-ไม่ใช่ความรู้นะ ความคิดมันแย่งกัน
เมื่อสมัยก่อน เรียนนักธรรมตรี-นักธรรมโท
เป็นตำรวจ-เป็นทหาร-เป็นครูได้
บัดนี้ไม่ได้แล้ว ต้องเรียนมากขึ้น
หลวงพ่อเห็นเขาเรียนกัน หลวงพ่อไม่ได้เรียน
หลวงพ่อเห็นคนไปสอนโรงเรียนบ้านบุฮม บ้านหลวงพ่อ
เรียน ป.๔ เท่านั้น เป็นครูเล็กที่สุด
บัดนี้ ป.๔ ไม่ได้เป็นแล้ว จำต้อง ม.๑, ม. ๒ ไปอย่างนั้น
บัดนี้ ม.๑, ม.๒ เป็นครูไม่ได้แล้วเดี๋ยวนี้
ก็ต้องเรียน ม.๖, ม.๘ จึงจะได้เป็น
บัดนี้เรียน ม.๖, ม.๘-ก็ไม่ได้เป็นแล้ว ต้องเอาปริญญา-จึงจะได้เป็น
ก็เพราะแย่งชิงกันกับความคิดนี่เอง
บัดนี้ปริญญาตรี-โท หางานกันยากแล้ว
จำต้องปริญญาเอกแล้ว ปริญญาเอกอันเดียวก็ไม่ได้แล้ว
มีคนเยอรมันมาถามหลวงพ่อ
มีนักศึกษามหาวิทยาลัยตามมาด้วย เพราะหลวงพ่อไม่รู้คำแปล
เรียนปริญญาเอก ๓ ปริญญา
คนเยอรมันคนนั้นได้ปริญญาเอก ๓ ปริญญา เขาถามหลวงพ่อว่า
‘สวรรค์มีไหม-นิพพานมีไหม ?’ เขาถามหลายเรื่อง-‘ตายแล้วเกิด ?’
หลวงพ่อก็เลยพูดกับเขา เพราะเขาเป็นศาสนาคริสต์-เราก็เป็นพุทธ
หลวงพ่อถาม ศาสนาคริสต์กับศาสนาพุทธต่างกันอย่างไร ?
เขาว่าต่างกัน ศาสนาพุทธสอนอย่างไร-เขารู้
ศาสนาคริสต์ เขาก็รู้ว่า‘พระเป็นเจ้า
มารับรองเอาดวงวิญญาณเขาไปอยู่กับพระเป็นเจ้า’ ว่าอย่างนั้น
คริสต์ศาสนาเขารู้เรื่องพระเยซู
เขาถาม‘ชีวิตของพระกับชีวิตของนักบวชนี่เหมือนกันไหม ?’ เขาถามปัญหาดีนะ
เขาบอกว่า เขาถามมาหลายคนแล้ว-ไม่มีใครบอกเขา
อ้าว-ชีวิตของพระกับนักบวชต่างกันสิ
ต่างกันยังไง (ระหว่าง)นักบวชกับพระ
โกนหัว-นุ่งเหลืองห่มเหลือง บัดนี้ก็เป็นนักบวชแล้ว…แต่พระไม่ใช่อันนั้น
พระเยซู เขาก็เรียกว่าพระใช่ไหม ?
พระพุทธเจ้า เขาก็เรียกว่าพระเหมือนกันใช่ไหม ?
แล้วทำไมจึงว่า ศาสนาพุทธกับศาสนาพระเยซูผิดกัน-ทำไม ?
เรื่องพระแล้ว เหมือนกันหมด
พระเยซูกับพระพุทธเจ้า ก็คล้าย ๆ กัน
แต่ว่าคำพูดแต่ละคำ อาจไม่เหมือนกัน
แต่จุดหมายปลายทางคือกัน(เหมือนกัน)
*พระเป็นผู้สอนคน-ให้ความรู้คน สอนคนให้พ้นทุกข์
ชีวิตของพระ จึงว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ-ราบรื่น
ชีวิตของนักบวชไม่ประเสริฐ-ราบรื่น ขึ้น ๆ-ลง ๆ*
เขาก็เลยบอกว่า ‘ไม่มีใครพูดให้เขาฟังแบบนี้’
ดังนั้น พระกับนักบวช-ไม่ใช่อันเดียวกัน…พูดอย่างนี้ก็ผิด
เพราะสังคมเขาถือว่า พระกับนักบวชเป็นอันเดียวกัน
แต่ความจริง เมื่อหลวงพ่อรู้ธรรมะ
หลวงพ่อว่า พระกับนักบวชไม่ใช่อันเดียวกัน
เมื่อหลวงพ่อเดินจงกรมไป-เดินจงกรมมา หลวงพ่อรู้
เรานุ่งกางเกงอยู่ ‘อ้อ-เราเป็นพระได้แล้ว’
หลวงพ่อจึงเอามือเกี่ยวผม-ดึงขึ้นมา เห็นรากผมขาว ๆ ๓ จุด
ชีวิตคนนี่ ถ้าไม่รู้อย่างนี้แล้ว-ไม่มีราคาเลย
เกิดมา กินแล้วก็นอน-ทำบุญบ้าง…(แล้วก็)ตายไป
ถ้าเอาเพียงแค่นั้น ก็ไม่ใช่คนล่ะ-เพราะไม่รู้จัก
คนนี่-หลวงพ่อรู้อย่างนี้ เอาเพียงแค่นั้นไม่ได้
ถ้าเอาแค่นั้น เรียกว่า‘ขาดทุน’
คำว่าคน-มาเกิดเป็นคน หมายถึงว่ามาค้าขาย
สมมติเอาว่าเรามาค้าขาย คนใดค้าขายไม่เป็น-ขาดทุน
แม้คน ถ้าเกิดมาเป็นคน-รู้จักหน้าที่ของคน
รู้จักความเป็นคน-ทำหน้าที่ของคนเป็น คนนั้นมีกำไร
จึงว่า‘พระเป็นผู้สอนคน’-จะเป็นพระยังไงก็ได้ เป็นโยมก็สอนได้
เรียกว่า*‘คนมีกำไร’ คือสอนให้ชีวิตของคนนั้นไม่มีทุกข์
คนสอนคนให้ไม่มีทุกข์นั่น แปลว่าพระ
จะเป็นโยมก็ได้-เป็นพระก็ได้*
สอนคนให้พ้นทุกข์จริงไหม ? ถ้าเขาไม่พ้นทุกข์-ก็แปลว่าเจ้าของสอนผิด
ถ้าสอนเขาไป-เขาได้พ้นทุกข์น้อย ก็แสดงว่าเจ้าของสอนถูกต้อง
เขาทำน้อย-ก็ได้พ้นทุกข์น้อย
ถ้าเจ้าของมีความสามารถสอนเขา เขาทำได้ถึงที่สุดของความทุกข์
ก็แสดงว่าคนนั้นทำคนให้เป็นพระขึ้นมาแล้ว หลวงพ่อเข้าใจอย่างนี้
หลวงพ่อจึงพูดว่า ‘พูดธรรมะ-หลวงพ่อไม่เหนื่อย’
เมื่อหลวงพ่อเหนื่อย ถ้าได้พูดธรรมะแล้ว-หลวงพ่อหายเหนื่อยทันที
เพราะหลวงพ่อต้องการให้คนพ้นทุกข์เท่านั้นเอง
*ความทุกข์นี้ล่ะ…มันเป็นสิ่งที่แสบ-เผ็ดร้อน-ทารุณ ทุกสิ่ง-ทุกอย่าง
เมื่อหมดทุกข์แล้ว ก็แสดงว่าเจ้าของได้สร้างคนให้เป็นคน
สร้างคนให้ทำหน้าที่ของคน
ไม่ใช่เกิดมาแล้วก็กิน-แล้วก็นอน-เสพกาม-เฒ่าแก่-ตายไป
ไม่ใช่อันนั้น อันนั้นมันเป็นเรื่องของธรรมดาสัตว์-สัตว์มันก็ทำได้
หลวงพ่อพูดความจริง-เคยเห็นไหม ? สัตว์มันกินเป็น-นอนเป็น-สืบพันธุ์เป็น
คนเป็นเพียงแค่นั้น-ก็ไม่ใช่คนแล้ว* หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น
เมื่อหลวงพ่อรู้อันนี้ขึ้นมา โอ-เราต้องทำหน้าที่อันนี้
ให้เป็นประโยชน์แก่คนทุกเพศ-ทุกวัย ทุกชาติ-ทุกภาษา…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น