รู้สึกกาย รู้สึกใจ 4 มีนาคม 2521

“…เราเคยได้ยินไหม

พระพุทธเจ้าจะไปตรัสรู้ กินข้าวนางสุชาดา

แล้วเอาขัน หรือเอาถาดไปอธิษฐานริมแม่น้ำ

แล้วว่า ‘ถ้าหากข้าพเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ข้าพเจ้าวางขัน หรือถาดใบนี้ลงไปแล้วบนผิวน้ำนี้

ให้ถาด หรือขันใบนี้ทวนกระแสของน้ำขึ้นไปถึงต้นน้ำ’ ว่าอย่างนั้น

‘ตรงกันข้าม ถ้าหากข้าพเจ้าจะไม่ได้ตรัสรู้

จะไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า-สู้กิเลสไม่ได้ ให้ว่าปานนั้นแหละ

วางขัน หรือถาดใบนี้ลงไป

แล้วให้มันไหลไปตามกระแสของน้ำได้’

อันนั้น น้ำมันทวนไม่ได้แล้ว

ผู้ใดอยู่ใกล้แม่น้ำใด-ก็ลอง(เอาขัน)ไปวาง ลองดูนะ

ให้ว่าอย่างนี้ ‘ถ้าข้าพเจ้าจะไม่ตายจริง-ว่าอย่างนั้น

(หาก)จะลอกคราบได้

วางขันใบนี้ลงไป-ให้มันไหลไปตามกระแสของน้ำเน้อ

บัดนี้ข้าพเจ้าจะตายจริง ๆ ละ-ว่าอย่างนั้น

(หาก)ลอกคราบไม่ได้ วางขันใบนี้ให้มันทวนกระแสของน้ำ’

วาง(ขัน)ลงไปดู โอ๊ย! มันต้องไหลไปตามกระแสของน้ำแล้ว

*‘น้ำ’ ท่านหมายถึงกิเลส-หมายถึงความคิดฝ่ายต่ำ*

ท่านว่าอย่างนั้น

มันยังทวนได้ ไม่ใช่ปากศักดิ์สิทธิ์ดอก

คนมันตีความหมายเข้าใจลึกเกินไป อย่าไปเข้าใจลึกเกินไป

ที่นำมาเล่าให้ฟังนี้

*‘ทวนกระแสของน้ำ’ หมายถึงทวนกระแสของความคิด’

มันคิดขึ้นมาปุ๊บ-เห็นปั๊บ มันคิดขึ้นมาปุ๊บ-เห็นปั๊บ

มันหยุดเลย-ความคิดมันหยุด มันเลยไม่ไหลไป

มันไม่ถูกสังขารปรุงไป ท่านว่า‘มันไม่มีทุกข์-ความหลงไม่มี’*

*เมื่อความหลงไม่มี-ความโกรธไม่มี

ความหลงไม่มี-ความโลภก็ไม่มี

ต้นเหตุของมันคือความหลง*

ท่านเรียกว่า‘โมหะ’ เป็นภาษาธรรมะ

ภาษาบ้านเราเรียกว่า‘หลง’ ‘หลงลืม’-ว่าอย่างนั้น

ครั้นลืมแล้ว ไม่มีโอกาส

ไม่มีเวลาจะได้พบ-จะได้เห็นความคิดตนเอง

ครั้นหลง-‘โอ๊ย! เมื่อกี้นี้มันหลงคิด’ ยังค่อยยังชั่วหน่อยหนึ่ง

‘หลง’กับ‘ลืม’ จึงว่า‘หนักผิดกัน’

แต่ความเดียวกันนั่นแหละ

เราเอาของไปวางไว้-‘โอ๊ย! หลงที่แล้วเมื่อกี้นี้’ (ยัง)ไปหาพบง่าย

‘โอ๊ย! เอาไปวางแล้วลืม’ ไม่พบแล้วนั่น-นานพบ

บางที่จนตายโน่นน่ะ ไม่เห็นแล้ว-มันลืมแล้ว

คนก็เหมือนกัน บางคนจนตาย-ไม่เคยได้ดูความคิดตนเองสักครั้ง

แน่ะ! มันเป็นอย่างนั้น

ที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ ว่าภาษาง่าย ๆ

ไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกก็ได้ เดี๋ยวนี้นี่

พระไตรปิฎกก็พูดเรื่องคนนี่แหละ ไม่ใช่พูดเรื่องอื่น

เกศา-โลมา-นะขา-ทันตา-ตะโจไปนั้นล่ะ

หรือ เนื้อ-หนัง-เอ็น-กระดูกไปนั้นล่ะ

อันนั้นเป็นคำพูด

ตัวจริงมันน้อย ๆ

ท่านจึงว่า-คราวหนึ่งท่านว่า

‘พระพุทธเจ้าพาภิกษุเดินไปในป่า

พระพุทธเจ้าเห็นใบไม้แห้งหล่นลงมาริมทาง

จับเอาใบไม้แห้งกำมือหนึ่งยกขึ้นมา

ถามภิกษุจำนวนที่เดินไปกับพระพุทธเจ้านั้น

ภิกษุทั้งหลาย ใบไม้ในป่ากับใบไม้แห้งในกำมือของเราตถาคตนี่

เมื่อเอาเปรียบเทียบกันแล้ว อันใดจะมาก-น้อยกว่ากัน ?

ภิกษุจำนวนนั้นก็เลยตอบพระพุทธเจ้าว่า

ใบไม้ในป่ามีมากครับ หรือพระเจ้าข้า

ใบไม้ในกำมือพระตถาคตนั่นน้อยที่สุด

ท่านยังบอกไว้ว่า

คำพูด-ความรู้ที่เราเรียน ที่เราประสบการณ์มีมาก

แต่ความรู้จะมาสอนพวกท่านในคราวนี้

น้อยเท่ากับใบไม้ในกำมือของเรานี่’

ท่านสอน*ให้เรามาดูความคิด (นี่)น้อยที่สุด-ย่อเข้าน้อยที่สุด

คนมาดูความคิดแล้ว มันครบทั้งหมดเลย

เพราะต้นเหตุของความทุกข์ มันอยู่กับความคิด

ความไม่รู้ความคิดนั้น มันทุกข์*

รู้คิด-อันหนึ่ง

รู้คิดแล้วเข้าไปในความคิด-อันหนึ่ง

รู้-เห็น-เข้าใจ ถอนตัวออกมาจากความคิด-อันหนึ่ง

รู้ความคิด-อันหนึ่ง

รู้ความคิด ถอนออกจากความคิด-อันหนึ่ง

อันหนึ่ง รู้ความคิด-เข้าไปในความคิด

นี่…มันพูดยาก มันไม่มีตน-มีตัว

ท่านเรียก‘อนัตตาแห่งธรรม’ ท่านว่า‘ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา’

อนัตตาเป็นตัวทุกข์ ครั้นพูดแบบนี้น่ะ

ครั้นพูดอีกแบบหนึ่ง นิพพานเป็นอนัตตา

ก็ถูกเหมือนกัน-มันถูกคนละมุม มันถูกคนละแง่-คนละมุม

ต้องรู้จักสมมติบัญญัติ-ปรมัติถ์บัญญัติ

อรรถบัญญัติ-อริยบัญญัติ ให้รู้จักอย่างนั้น

ถ้าไม่รู้จักอย่างนั้นแล้ว มันเต็มที่นะ

ที่นำมาเล่าให้ฟังมื้อนี้ ก็สมควรแล้ว

นิมนต์คุกเข่า แล้วก็กราบกันครับ”

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

————————————————————————————————

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※

※ ※

※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※

※ ※

※ อย่าหลงชีวิต ※

※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※

รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ

_/|\_ _/|\_ _/|\_

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *