“…เมื่อรู้อันนี้แล้ว
(รู้จักหน้าที่คน ทำให้ชีวิตตนไม่มีทุกข์-เป็นพระได้)
จึงว่ามีความสงบ
แต่คนไม่รู้จักความสงบ-แล้วไปหาความสงบ ไม่พูด-ไม่คุย
อ้าว! อันนั้นมันความสงบแบบไม่รู้ หรือสงบแบบไม่อยากสงบ
หลวงพ่อจึงไม่มีคำพูดที่จะพูด มันเหมือนกับที่พูดว่า
‘เห็นความคิด’ กับ ‘เข้าไปในความคิด’
นี่-มันใกล้กันที่สุดเลย สงบนี่-มันก็ใกล้กันที่สุด
สงบแบบไม่สงบ-สงบแบบไม่รู้
โอ้ จะพูดยังไงหนอ-ไปนั่งให้มันสงบ
เวลาออกมาแล้วไปทำงานกับสังคม
(มันยังมี)ดีใจ-เสียใจ คนนั้น-คนนี้ว่าเรา
ไม่ได้ทำงานตามหน้าที่เลย มันแย่งกดอำนาจกันไว้
กดอะไรกันไว้ ?
สมมตินะ มันกด-ไม่อยากให้คนดีเหนือกว่าตัวเอง
ก็เลยว่า‘คนนั้นพูดว่าเรา-คนนี้ว่าเรา’ มันไม่ทำงานตามหน้าที่
เมื่อคนไม่ทำงานตามหน้าที่ของคนแล้ว
ความสับสนวุ่นวาย-ความเดือดร้อนก็เกิดขึ้น
ไม่มีเรื่องอะไร ถ้าทุกคนทำตามหน้าที่
เงินเดือนนั้น ก็ได้เพียงแค่กินเท่านั้นเอง-กินแล้วก็ตาย
ปลูกบ้านหลังใหญ่ ๆ ขึ้นมา เพียงแค่นอนหลับ
บ้านหลังใหญ่ ๆ ก็ตายได้เหมือนกัน
แต่ไม่ใช่บ้านตายนะ (ไว้ใช้)แค่นอนหลับเท่านั้นเอง
หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น
คนมันเข้าใจผิด
นึกว่าเจ้าของกินมาก ๆ แล้วจะไม่ตาย เข้าใจไปอย่างนั้น
มีเงินมาก ๆ แล้วจะไม่ทุกข์ เข้าใจอย่างนั้น
นั่นแหละเรียกว่า‘คนมันทำตามความคิด’
จึงว่าคนไม่เห็นความคิด
ไม่ได้ทำงานด้วยความรู้ ทำงานด้วยความคิด
*ความคิดนี่ล่ะพาให้เราเดือดร้อน*
จึงว่า ‘ทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ
มรรคต้องเจริญ นิโรธทำให้แจ้ง’ เรียกว่าอริยสัจ ๔
พูดกันทุกหนทุกแห่ง-อันนี้ จะว่าทุกหลังคาเรือน-ก็ว่าได้
พูดอย่างนี้ ทุกคนต้องพูดอย่างนี้
ถ้าเคยเข้าวัด-ฟังธรรมล่ะก็ ต้องพูดอย่างนี้
แต่ถ้าไม่เคยเข้าวัด ก็อาจจะไม่รู้นะ
หลวงพ่อว่า ครูบาอาจารย์ต้องเคยพูดให้ฟังแล้ว
ครูบาอาจารย์(ของ)หลวงพ่อเคยพูดให้ฟัง
ตั้งแต่ยังเป็นเณร (แต่)หลวงพ่อไม่รู้
เมื่อหลวงพ่อรู้
อ๋อ-ทุกข์ต้องกำหนดรู้ คือให้มาอยู่กับรูปนี้
สมุทัยต้องละ-อย่าไปอยู่กับสมุทัย
ละมัน-ความคิด อย่าไปอยู่กับความคิด
มรรคต้องเจริญ คือทำความรู้สึกตัวนี้ให้มาก
นิโรธทำให้แจ้ง จะรู้กลไกของความคิด-เมื่อมาอยู่กับรูปนี้
เอาละ บัดนี้หลวงพ่อสรุปว่า
เมื่อมันเห็นความคิด รู้ความคิด
เรื่องโทสะ-โมหะ-โลภะ จางไป-คลายไป
บัดนี้เรื่องกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน ก็จางไป-คลายไป
มันเป็นลักษณะนี้
เรื่องความสงบแบบไม่สงบ ก็จางไป-คลายไป
จางไป-คลายไป เป็นตอน ๆ-เป็นพัก ๆ ไปนะ
พูดตามตำราก็เรื่องหนึ่ง พูดตามที่หลวงพ่อรู้-ก็อีกเรื่องหนึ่ง
มันคนละเรื่องกัน แต่เข้ากันได้
แต่มันไม่เข้ากันได้ มันไม่เป็นเนื้อ-เป็นน้ำอันเดียวกัน
แต่ถ้าพูดว่าเป็นเนื้อ-เป็นน้ำอันเดียวกันละก็ *ต้องปฏิบัติเอง
เอาความรู้สึกเท่านั้นเอง จะพาไปถึงที่สุดนะ*
หลวงพ่อเคยพูดว่า เอาเชือกผูกไว้นี่
ตรงนี้ก็ตึง-ตรงนั้นก็ตึง ตัดตรงกลางปั๊บ
เชือกมันจะขาดมาตามเสาทันที เหมือนกับยางที่เราดึง
พอมันขาดจากกัน มันก็ไม่ถึงกัน
พอดีมันไม่ถึงกันแล้ว-มันจะเป็นยังไง ? มันก็ไม่มีทางไปสิ
ไปก็ไม่ได้-มาก็ไม่ได้ มันขาดกันแล้ว
นักบวชเขาพูดกันว่า‘อายตนะ ๑๒
ตาเห็นรูป อย่าให้มันเห็นว่าเป็นรูปสวย-รูปงาม’
มันไม่ได้-*ต้องทำมันขาดเอง ไปถึงที่นั้น-มันจะขาดเอง
คือ ความรู้ความคิดนี่ละ มันจะเป็นเพชร-หรือเป็นดาบ
หรืออะไรก็เถอะ จับปั๊บ-มันจะแตกออกมาเลย*
หลวงพ่อเปรียบความรู้สึกตัว เป็นสินไชยในนิทานทางบ้านหลวงพ่อ
ความคิดเป็นยักษ์ ความรู้สึกตัวฆ่าความคิดคือยักษ์ได้
มันเป็นยักษ์ มันทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน-เพราะความคิดนี่เอง
หลวงพ่อคิดอย่างนั้น ความคิดนี่ล่ะ…มันเป็นผี-เป็นยักษ์-เป็นมาร
ความรู้นี่ เป็นพระมหากษัตริย์ครองเมืองกายนคร
เมืองนี้จะเอาผีมาอยู่ (จะเอา)พระมหากษัตริย์
จะเอาเทวดา หรือพระอริยบุคคลมาอยู่ ?
ถ้าเอาผีมาอยู่ ก็ทำงานอย่างผี
ถ้าเอาเทวดา-พระมหากษัตริย์มาอยู่
ก็ได้ทำงานตามหน้าที่เทวดา-พระมหากษัตริย์
หลวงพ่อเข้าใจว่าคนนี่ล่ะ เป็นเมืองกายนคร-เป็นประเทศหนึ่งจริง ๆ
ดังนั้นจึงว่า
‘ภิกษุ-ภิกษุณี อุบาสก-อุบาสิกาทั้งหลาย
ถ้าหากมีพระธรรมวินัยอยู่
มีผู้ประพฤติดี-ประพฤติชอบตามพระธรรมวินัยอยู่
มรรคผลนิพพานจะไม่ว่างจากโลกนี้’
ไม่ใช่ว่างจากโลกดินฟ้า *จะไม่ว่างจากตัวเรานี้เอง-ถ้าเราปฏิบัติดี*
บัดนี้ *ภิกษุ-ภิกษุณี อุบาสก-อุบาสิกา ฆราวาส-ญาติโยมอยู่โดยชอบ
พระอรหันต์ก็จะไม่ว่างจากโลกนี้*
บัดนี้พระอรหันต์ที่ไหนจะมามองเห็นอย่างนี้ได้ *ก็มองเห็นตัวเรานี่เอง
มันนึก-มันคิด มันเห็น-มันรู้
ความรู้อันนี้ ไม่ใช่ว่ามันจะรู้น้อย ๆ
ความรู้นี้สามารถระงับ-ดับร้อนได้จริง ๆ*
เมื่อถึงจุดนี้ จึงว่าถึงที่สุดของทุกข์
มันก็ขาดออกจากกัน สะบั้นไปเลย
สภาพเสาต้นนี้-เชือกก็ติดอยู่ต้นนี้ เสาต้นนั้น-เชือกก็ติดอยู่ต้นนั้น
จึงว่าสภาพรูปอันนี้ก็จะเข้าสู่สภาพเดิมของมัน
สภาพจิตใจ-ตัวความคิด ก็จะเข้าสู่สภาพเดิมของมัน
เพราะความรู้สึกอันนี้ มันเห็นจริง
ความคิดก็จะเข้าสู่สภาพความคิด
เมื่อความคิดโผล่ออกมา
ความรู้สึกตัวหรือการรู้การเห็นความคิด จะจับปั๊บทันที
เหมือนแมวกับหนู มันไม่มีอะไรเลย
*มันคิดปุ๊บ เห็น-รู้เลย…ความคิดก็เลยปรุงแต่งไม่ออก
คนก็หมดทุกข์เท่านั้นเอง
แต่คนยังกินข้าวได้ ทำการ-ทำงานได้ตามหน้าที่ของเราได้
แต่ว่าไม่ทำให้ผิด*…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น