“*ทุกข์เกิดขึ้น เพราะมีความหลง*
เมื่อมีความหลงแล้ว ทำ-พูด-คิดอะไรก็ไม่ถูกต้อง
*การเจริญสตินี้ต้องทำมาก ๆ ทำบ่อย ๆ*
นั่งทำก็ได้-นอนทำก็ได้ ขึ้นรถ-ลงเรือทำได้ทั้งนั้น
เวลานั่งรถเมล์-เรานั่งรถยนต์ก็ตาม
เราเอามือวางไว้บนขา พลิกขึ้น-คว่ำลงก็ได้
หรือเราไม่อยากพลิกขึ้น-คว่ำลง
เราเพียงเอามือสัมผัสนิ้วอย่างนี้ก็ได้
สัมผัสอย่างนี้-ให้มีความตื่นตัว ทำช้า ๆ
หรือจะกำมือ-เหยียดมืออย่างนี้ก็ได้
หรือเราจะเอามือสัมผัสขาเราอย่างนี้ก็ได้
‘ไม่มีเวลาที่จะทำ’ บางคนว่า
‘ทำไม่ได้-มีกิเลส’ เข้าใจอย่างนั้น
*อันนี้-ถ้าเราตั้งใจแล้ว ต้องมีเวลา
มีเวลา เพราะเราหายใจได้
เราทำการ-ทำงานอะไร ให้มีความรู้สึกตัว*
เช่น เราเป็นครูสอนหนังสือ
เวลาเราจับดินสอเอามาเขียนหนังสือ เรามีความรู้สึกตัว
เขียนตัวหนังสือไป เราก็รู้
อันนี้เป็นการเจริญสติแบบธรรมดา ๆ
*ศึกษาธรรมะกับธรรมชาติ*
เวลาเราทานอาหาร
เราเอาช้อนเราไปตักเอาข้าวเข้ามาในปากเรา
เรามีความรู้สึกตัว
ในขณะที่เราเคี้ยวข้าว เรามีความรู้สึกตัว
กลืนข้าวเข้าไปในท้อง-ไปในลำคอ เรามีความรู้สึกตัว
อันนี้เป็นการเจริญสติ
อย่าเพิ่งพูดว่า*‘ไม่มีโอกาส-ไม่มีเวลานั้น’
อันนั้นเป็นคนที่ไม่ตั้งใจ
คือไม่รู้จัก ไม่สนใจเรื่องชีวิตนี้เอง*
เมื่อเราทำอย่างนี้ *ทำบ่อย ๆ-มันจะปรากฏ
ความปรากฏนั้น คือการสะสมอันนี้เป็นเหตุ
ผลของมันเกิดขึ้นนั้น เรียกว่า‘ญาณของปัญญา’
เหตุของมันคือ ทำความรู้สึก(ตัว)*
สมมติเราเอาผลไม้ไปลงดิน
เมื่อเอาผลไม้-เอาเมล็ดพืชอะไรต่าง ๆ ไปเพาะ-ไปปลูกไว้
เราเอาน้ำไปรดมัน รดบ่อย ๆ
ความอบอุ่นกระทบเข้าไปในเมล็ดพืชอันนั้น
มันก็แตกขึ้นมา มันก็เป็นผลขึ้นมา
อันนี้ก็เหมือนกัน ที่เราทำนี้เป็นเหตุของมัน
*เหตุของมัน คือเราทำความรู้สึก
ผลของมัน คือปัญญา*
มันจะรู้ขึ้นมาทันที อันนั้นเป็นรูป-อันนี้เป็นนาม
*เราจะรู้จักเอง แต่ไม่ไปสนใจมัน*
ที่อาตมานำมาเล่าให้ฟัง อันนี้จำได้-อันนี้รู้จำ
เมื่อเรารู้จำแล้ว ต้องพิจารณา-รู้จัก
รู้จักแล้ว ก็ใช้สติปัญญาพิจารณา
*ทำให้สติตื่นตัวอยู่เสมอ เป็นการรู้แจ้ง-เป็นการรู้จริง*
คำว่า*รู้แจ้ง-รู้จริงนี้ หมายถึงรู้อยู่ทุกขณะ-ทุกเวลา*
อันนี้รู้แจ้ง-รู้จริง อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องรู้จำก่อน
บัดนี้เมื่อเรานั่งนาน ๆ มันเจ็บแข้ง-เจ็บขา เจ็บหลัง-เจ็บเอว
เราก็ต้องเดิน เดินไป-เดินมา
ก้าวเท้าไป-ก้าวเท้ามา ทำความรู้สึก
แต่ไม่ได้พูดว่า ‘ซ้ายย่างหนอ-ขวาย่างหนอ’-ไม่ต้องพูด
*เพียงเอาความรู้สึกเท่านั้น
อันความรู้สึกนั้นแหละ เป็นการเจริญสติ*
คำว่า สติ-ความระลึกได้
อัน’ความระลึกได้’กับ’ความรู้สึก’นั้น เป็นอันเดียวกัน…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น