“…เรื่องทางพระพุทธศาสนานี้ มันเป็น(สิ่ง)ที่มองไม่เห็น
จึงว่าเป็นกรรม คือการกระทำ
แต่เรื่องอดีต-อนาคตนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่า
**‘อดีตที่ผ่านไปแล้ว จะแก้ไขก็ไม่ได้
อนาคตที่ยังไม่มาถึง ก็แก้ไขไม่ได้
ต้องแก้ไขปัจจุบัน คือการกระทำนี่เอง’**
ดังนั้นอาตมาจึงสำนึกได้ เมื่อไปทำกรรมฐานนี่เอง
แต่ก่อนก็ไม่รู้ (คิดว่า)กรรมนั้นเรียกว่า‘ตายแล้ว
ไปตกนรก-ถ้าทำกรรมชั่ว เป็นอย่างนั้น
ถ้าทำกรรมดี-ตายแล้วไปขึ้นสวรรค์’ เป็นอย่างนั้น
แต่สวรรค์ก็ไม่รู้ นรกก็ไม่รู้
ดังนั้นจึงว่า**ควรศึกษาให้รู้-ให้เข้าใจจริง ๆ**
*ถ้าไม่รู้-ไม่เข้าใจแล้ว จะไปถามใครที่ไหน
จะศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกจนจบ ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่นั่นเอง*
อันนี้ได้ยินพ่อแม่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง
จะเท็จจริงแค่ไหน-ไม่ทราบ เรียกว่า‘มีพระตุจโฉโปฏฐิละ
เรียนพระไตรปิฎกจนจบ แตกฉานในพระไตรปิฎก
แม้จะไปเทศน์ ไป(แสดง)ธรรมที่ไหน
คนได้ยินชื่อว่าพระตุจโฉโปฏฐิละ (ก็)ไป(ฟัง)แล้ว
แม้พระตุจโฉโปฏฐิละพูดผิด-ก็ต้องฟัง พูดถูก-ก็ต้องฟัง
เพราะกลัวอำนาจ-กลัวความรู้ กลัวความเข้าใจ
(กลัว)จะโต้ตอบไม่ได้ เอาชนะไม่ได้
เพราะท่านมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก’ ว่าอย่างนั้น
อันนี้แหละจึงว่า‘เราจะไปเชื่อคนไม่ได้’
เดี๋ยวนี้คนใดพูดดี-เพราะดี คนชอบ…พูดอย่างนั้น
ดังนั้นพระตุจโฉโปฏฐิละ ก็ได้ยินชื่อเสียงปรากฏขึ้นในยุคนั้น
แต่อาตมาไม่เห็น เพียงครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง-เรื่องนี้
‘(พระตุจโฉโปฏฐิละ)อยากไปโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า
อยากไปสนทนากับพระพุทธเจ้า’ ว่าอย่างนั้น
อยากไปถามพระพุทธเจ้า ว่ายังไงก็ได้
‘พอดีไปถึง(ที่ประทับ)พระพุทธเจ้า ก็เลยไปกราบ
ไปกราบพระพุทธเจ้า ยังไม่ทันได้ถามอะไรล่ะ’
กราบอย่างที่เราทำกันอย่างทุกวันนี้ เป็นสมบัติของผู้ดี
ขนบธรรมเนียมของผู้ดี เคารพนับถือกัน-ก็กราบ
‘พอดีในขณะที่กราบลงนั้น พระพุทธเจ้าก็ว่า
มาแล้วหรือใบลานเปล่า’ หรือคัมภีร์เปล่าอย่างนี้
เรียกว่า‘คัมภีร์ไม่มีตัวหนังสือ ใบลานไม่มีตัวหนังสือ’
จะพูดอย่างนั้นก็ได้
เพราะว่าพระตุจโฉโปติฏฐิละแตกฉานในคำพูด
แล้วก็แตกฉานในทางปัญญา
พระพุทธเจ้าก็เลยพูดอย่างนั้น ‘มาแล้วหรือ’
กำลังกราบอยู่ ‘ใบลานเปล่า-คัมภีร์เปล่า’ ว่าอย่างนั้น
‘พอดีกราบเสร็จแล้ว ก็ไม่กล้าโต้ตอบอะไร
ก็เลยทักทายกันเป็นธรรมดา ๆ นี้เอง’
นี่ ความคิดมันเหนือกันอย่างนี้
แต่ว่า‘พระตุจโฉโปฏฐิละนั้น ก็เป็นผู้มีลูกศิษย์-ลูกหา
ตามครูบาอาจารย์ว่า ลูกศิษย์-ลูกหาเป็นพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก
เป็นพระอนาคามีก็เป็นจำนวนมาก เป็นอย่างนั้น
แต่ว่า(ตัวท่านเอง)ยังไม่สว่าง ยังไม่เข้าใจในทางพุทธศาสนาจริง ๆ’
จึงว่า*ศาสนาจึงมีมาก ความเห็น-ความเข้าใจมันจึงไม่เหมือนกัน*
‘เมื่อเป็นเช่นนั้น (ก็)รมกัน(สนทนา)-คุยกัน-ทักทายกันหลายเรื่อง
แล้วก็ได้เวลาพอดีที่จะกลับบ้าน-กลับวัด
กลับสำนักตัวเองนั่นแหละ ก็เลยกราบพระพุทธเจ้าอีก
จะลาพระพุทธเจ้านั่นแหละ ลากลับวัด-กลับสถานที่นั่นแหละ
กำลังกราบอยู่นั่นแหละ พระพุทธเจ้าก็เลยทักขึ้นว่า
จะกลับแล้วหรือใบลานเปล่า-คัมภีร์เปล่า ว่าอย่างนั้น
แน่ะ จะกลับบ้านก็ว่าคัมภีร์เปล่า-ใบลานเปล่า
เมื่อไปกราบก็ว่าคัมภีร์เปล่า-ใบลานเปล่า
พรุตุจโฉโปฏฐิละนั้นก็เลย(คิดว่า) เป็นยังไง ?
เมื่อไปกราบก็ว่าใบลานเปล่า-คัมภีร์เปล่า
เมื่อเรากราบจะกลับบ้าน ก็ว่าใบลานเปล่า-คัมภีร์เปล่า
ก็เลยมาถึงวัด ก็เลยมาถามลูกศิษย์-ลูกหา
อยากฝึกหัดเรื่องการเจริญสติ-เจริญสมาธิ-เจริญปัญญา
พูดง่าย ๆ ก็ว่า อยากศึกษาให้รู้แจ้ง-เห็นจริง
เรื่องมรรคผลนิพพานนี่เอง ก็เลยถามลูกศิษย์-ลูกหาหลายคน
เป็นร้อย-เป็นพันพู้นซี่ เพราะลูกศิษย์-ลูกหา(เป็น)ผู้มีเกียรติ
มีชื่อ-มีเสียง แล้วก็เลยถาม-ถามไปตั้งแต่องค์ที่รองท่านไปนั่นแหละ
(ลูกศิษย์ตอบกับว่า)ไม่สามารถที่จะสอนครูบาอาจารย์ได้
แน่ะ! เป็นอย่างนั้นแหละ ก็เลยไม่สอน ถามไป-ถามไปจนหมดเลย
ถามไปจนถึงสามเณรน้อยองค์สุดท้าย ให้สอนกรรมฐานให้
แต่ว่า(ท่านเอง)เรียนจนจบแล้ว ก็ยังไม่รู้(จัก)ว่ากรรมฐาน
เรียนแตกฉานแล้ว-สอนคนอื่นพอแล้ว แต่ตัวเองก็ยังไม่เข้าใจ
เมื่อไปถามเณร-เณรก็เลยบอกว่า ถ้าครูบาอาจารย์จะให้ผมสอนนั้น
ต้องเชื่อฟังคำพูด-คำสอนผมทั้งหมด
ผมบอก-ผมสอนยังไง ครูบาอาจารย์ต้องทำ
เมื่อครูบาอาจารย์สามารถที่จะทำตามคำพูด-คำสอนขอผม
ผมจะสอน-ผมจะแนะนำให้ วิธีทำกรรมฐาน
อาจารย์ก็เลยรับสารภาพ(รับคำเณร)
ก็เลยได้ไปศึกษากับเณรน้อยนั้นเอง
ดังนั้นเมื่อศึกษากับเณรน้อยนั้น เณรน้อยก็สอนให้’
แต่ในประเทศอินเดียพู่น อาตมาไม่รู้-จะเป็นยังไงไม่รู้
แต่เพียงพ่อแม่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง
ปู่ทวด-ย่าทวดเล่าตาม ๆ กันมาอย่างนั่นแหละ
ก็เลยจำได้เป็นบางบท-บางตอน เป็นอย่างนั้น
‘ก็เลย-เณรก็เลยสอนให้ สอนให้-ก็ต้องคลุมเสื้อ-คลุมผ้าอะไรต่าง ๆ
ต้องเตรียมตัวให้เรียบร้อยนั่นแหละ-ไปหาเณร
เณรก็เลยบอกให้ลงน้ำ
ดูท่าว่าสำนักนั้นอาจจะมีน้ำ-มีสระ มีอะไรต่าง ๆ นั่นแหละ
อาจารย์ลงไป-ลงไป(ใน)น้ำนี่ (เณรบอก)
อาจารย์ก็ต้องลงไป
ลงไปถึงน้ำแล้ว ผ้ามันจะชุบน้ำ-มันจะเปียกน้ำ
อาจารย์ก็จะฮื้อ(รั้ง)ผ้าขึ้น เณรก็บอกไม่ต้องฮื้อ-ไม่ต้องยกขึ้นไป ลงไป
ผ้าก็เลยเปียกไป ลงไปเพียงหัวเข่า-ผ้าก็เปียกแล้ว
พอหรือยังเณร ? (อาจารย์ถาม)
ยังไม่พอ-ลงไป (เณรบอก)
ลงไป ธรรมดามันเปียกขึ้นมาเพียงขา-เพียงเอว-เพียงนี้แหละ
พอแล้วหรือเณร ?(-อาจารย์ถาม) ไม่พอ ลงไป(-เณรบอก)
ลงไปก็ถาม น้ำเพียงคอ-เพียงอกเข้ามาแล้ว
มันก็-หายใจพูด พอแล้วหรือเณร ?
ยังไม่พอ-ลงไป (เณรบอก)
ลงไปจนเปียกหมด น้ำจนเปียกหมด-เสื้อผ้าเปียกหมด
ให้ว่าเปียกหมดตัวนั่นแหละ แต่อาตมาไม่เห็น
เปียกหมดแล้ว(ก็ถาม) พอแล้วหรือเณร ?
เณรก็บอก พอแล้ว-กลับขึ้นมาได้…เณรสั่งให้กลับคืนมา’
พอดีคืนมาแล้วก็ถามเณร ตอนนี้ก็เป็นน่าคิดว่าจะถามความ
(ทั้งที่)ผ้าเปียกอยู่นั้น-ก็ไม่ทราบ หรือว่าผลัดเสื้อ-ผลัดผ้า
หรือว่าถ่ายเสื้อ-ถ่ายผ้า ว่ายังไงก็ได้
แห้งแล้ว-นุ่งเสื้อใหม่-ผ้าใหม่ คลุมเสื้อ-คลุมผ้าอย่างเรียบร้อยแล้ว
จึงจะถาม อาตมาก็ไม่ทราบตอนนี้
เพราะว่าเพียงเล่าเป็นเรื่อง-เป็นราวให้ฟัง เท่านั้นเอง
‘ถามเณร เอ้าเณร-สอนกรรมฐานให้…เณรก็เลยสอนให้’
การสอน ก็ต้องสอนด้วยปัญหา-แน่ะ!
คนที่มีปัญญา-เป็นอย่างนี้ สอนบัดนี้
‘อาจารย์มีจูมโพน(จอมปลวก)จูมหนึ่ง แล้วมีรูอยู่ ๖ รู
แล้วมีเหี้ยอยู่ในจูมโพนนั้นตัวหนึ่ง
แล้วจะจับเหี้ยนั้นได้ยังไง จะเอาเหี้ยโดยวิธีใด ?
อาจารย์เป็นผู้แตกฉานในการเรียนแล้ว
เคยพูด-เคยสอนมาแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจ
ก็เลยเกิดความคิด-ความเห็น เพราะเคยสอนคนนี่-ก็ต้องมีปัญญามาก
มันจะยากอะไรเณร เราจะขุดทั้ง ๖ รูก็ได้
อาจจะเสียเวลา-มันจะอยู่รูใดไม่รู้ เราต้องอุดเสีย ๕ รู
อุดหรือว่าอัด บ้านหลวงพ่อเรียกว่าอัด-อัดแน่น ๆ
ดันเข้าไป ๕ รู้ เหี้ยมันออกมาไม่ได้-เพราะดันไว้แล้ว
เพราะดันไว้แล้ว จง(เหลือ)ไว้รูเดียว
บัดนี้เราก็ไม่ต้องขุด ไม่ต้องให้มันลำบาก
เอาค้อนหรือเอามีด-เอาพร้า เอาอะไรไปนั่งรอคอยอยู่ปากรู
รูที่ไม่อัดนั่นแหละ แล้วเหี้ยมันหายใจไม่ได้
มันต้องออกมาหายใจข้างนอก เพราะมันอบอ้าว
เราอัดไว้ทั้งหมด ๕ รูนั่น ยังเหลือรูเดียว
มันต้องออกมา(จาก)รูนั้น พอดีมันออกมา-ก็เอาค้อนตีเอา
หรือจะจับเอาก็ได้ นี่-มันเป็นวิธีอย่างนี้เณร
แล้วเณรก็เลยบอก เหมือนกันแหละอาจารย์-ที่อาจารย์สอนมาน่ะ
**จะว่าขันธ์ ๕ ก็ได้ อายตนะก็ได้ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒
อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท แล้วแต่จะสวน-แล้วแต่จะพูดนั่น
ความจริงแล้วมาจากใจ-มาจากใจ เพราะเราไม่เคยเห็นใจเรา**
ใจนั่น-มันอยู่ที่คน
ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ เรียกว่า‘อายตนะภายใน ๖
อายตนะภายนอก ๖’ รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส-ธรรมารมณ์
เป็นกฎแห่งกรรมทั้งนั้น จึงว่าการกระทำเป็นกฎแห่งกรรม
เอาชนะกรรมได้ เพราะปัจจุบัน’
อาตมาเคยพูด-เคยเล่าเรื่องนี้มาบ่อย ๆ ว่า
**‘เอาเชือกผูกไว้ส้น(ปลาย)นั้น-ส้นนี้ ตัดตรงกลางแล้ว
เชือกมันก็ไปอยู่กับส้นเดิมของมัน เพราะมันตึง
และเป็นยาง(เชือกไนล่อน) ตัดปุ๊บ-มันขาดปั๊บแล้ว
แล้วมันก็ต้องคืนไปอยู่ติดกับเสาเดิมทางข้างนั้น-ข้างนี้’**
เป็นอย่างนั้น
**อันนี้แหละเอาชนะกรรมได้ อยู่เหนือกรรมได้
เอาชนะทุกข์ได้ อยู่เหนือทุกข์ได้จริง ๆ**…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น