“…ได้พูดธรรมให้ฟังมา ๒ วันแล้ว
วันแรกพูดถึง‘ศรัทธา’
เมื่อวานพูดถึง‘ทานธรรม’
สรุปได้ดังนี้ว่า
*‘ศรัทธา’ นั้นก็คือเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
เชื่อด้วยสติ เชื่อด้วยสมาธิ
ด้วยญาณของวิปัสสนาจริง ๆ จึงควรเชื่อ
‘ศรัทธา’ แปลว่าที่พึงพึ่งได้-ไม่กลัวอะไรทั้งหมด*
เชื่อตัวเอง…เพราะดี-ชั่ว ตัวทำเอง
นี้เป็นเรื่องศรัทธา
ส่วนเรื่อง’การทานธรรม’
ไม่ใช่ทานเงิน-ทานทอง ไม่ใช่ทานเสื้อผ้า
ทานธรรมนั้น พูดไม่หมด-มันหมดไม่เป็น
คำพูดที่เราแนะนำ-สั่งสอนนี่ หมดไม่เป็น
สอนเขาไป เราก็ไม่หมดด้วย
เพราะเขาไม่ได้เอาอะไรไป
เขาได้แต่จำไปเฉย ๆ
การให้ทานธรรม จึงชนะทานทั้งปวง
อย่างที่หลวงพ่อพูดให้พ่อออก-แม่ออก พระ-เณรที่นี่ฟัง
มันไม่หมด-ไม่สิ้นเปลืองอะไร
มีแต่เหนื่อยบ้าง เป็นธรรมดา
คนทำงาน-ทำการ มันก็ต้องเหนื่อย-หรือเมื่อยบ้าง
ไม่เหนื่อย-ไม่เมื่อยนั้น ไม่มี
ทนทำ เพราะเป็นธุระ-หน้าที่
เกิดมาเป็นคน ต้องรู้จักว่าความเป็นคนนั้นคืออะไร ?
(เมื่อ)รู้จักความเป็นคนแล้ว ท่านถือว่า’คนที่รู้นั้นเป็นมนุษย์’
เมื่อเป็นมนุษย์แล้ว ต้องศึกษาให้รู้จักหน้าที่ของมนุษย์
มนุษย์ควรทำอย่างไร ให้รู้
เมื่อรู้แล้ว ต้องศึกษาว่าหน้าที่ของเทวดาคืออะไร ?
ต้องศึกษาให้รู้จักหน้าที่ของเทวดา
เมื่อรู้จักแล้ว ต่อมาให้ศึกษาถึงหน้าที่ของพรหม
ต้องศึกษา-ต้องปฏิบัติ ให้รู้-ให้เห็น-ให้เข้าใจ
เมื่อรู้ดีแล้ว ต้องศึกษาให้รู้หน้าที่ของพระ
หน้าที่ของพระคืออะไร ?
‘พระ’ แปลว่าผู้ประเสริฐ-ผู้สอนคน
ชีวิตของพระจึงราบรื่น ดีกว่าทุกสิ่ง-ทุกอย่าง
*ทุกท่านที่อยู่ที่นี่ เป็นพระได้ทั้งหมด*
ทำไมจึงว่าเป็นได้ ?
เราสวดสังฆะคุณกันว่า
‘สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ’
สวดเป็น-พูดเป็น
แต่ไม่รู้จักความหมายของคำที่สวด
‘พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง กำจัดทุกข์-กำจัดภัยได้จริง’
*ตัวกำจัดทุกข์-กำจัดภัยได้จริงนี่แหละสำคัญ*
จึงย้ำว่า ‘ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่ง กำจัดทุกข์-กำจัดภัยได้จริง’
‘สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง กำจัดทุกข์-กำจัดภัยได้จริง’
*ไม่ทุกข์ ใครปฏิบัติแบบพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นทุกข์*
แต่**ถ้าเราทำเพียงว่าจะสวด-จะพูด
จนตาย-มันก็ยังทุกข์อยู่ เพราะพูดเฉย ๆ**
นี่เรียกว่า ‘เราเลือกกินแต่กระดูก-แต่เอ็น-แต่ก้าง
เนื้อแท้ ๆ เราไม่ได้กิน’
*นับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่รู้ความหมาย
เรียกว่าทำตาม ๆ กันมา พูดตาม ๆ กันมา
คนสอนก็ไม่รู้ คนที่ฟังก็ไม่รู้
เมื่อไม่รู้ ก็เลอะเลือนไป*
จึงมาพูดให้ฟัง ต้องตั้งใจฟัง
ที่สวด ‘นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ’
ว่ากัน ๓ จบ มีความหมายอย่างไร ? นี่ก็ไม่รู้จักกัน
*สวดกันพูดกันเฉย ๆ มันจะมีประโยชน์อะไร ?
เราไม่นำไปปฏิบัติ มันก็ไม่ได้ประโยชน์
มันต้องลงมือปฏิบัติ มันจึงจะได้*
‘นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต’ นั่นแปลว่าขอนบน้อม
นบทำอย่างไร- น้อมทำอย่างไร ?
นบใคร-น้อมใคร ?
เราต้องรู้
‘อะระหะโต’ แปลว่าผู้ไกลจากกิเลส
กิเลสคืออะไร ? *กิเลสคือข้าศึก*
ข้าศึกคืออะไร ? *ข้าศึกคือความทุกข์
ท่านสอนให้เรารู้จัก*
‘สัมมา สัมพุทธัสสะ’
คือ**พระพุทธเจ้า (ท่าน)รู้เอง-เห็นเอง
เพราะการเจริญสติ-เจริญสมาธิ-เจริญปัญญา
ท่านจึงตรัสรู้เองโดยชอบ** ไม่มีครู-ไม่มีอาจารย์
แล้วนำมาสอนพวกเราให้ปฏิบัติอย่างนั้น…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น