“…เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว (รู้กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน-กรรม)
หลวงพ่อก็มาเดินจงกรมกลับไป-กลับมา
ง่วงนอนก็นอน ถึงเวลาตื่นก็ตื่น
พอตื่นขึ้นมา
หลวงพ่อทำตัวเงียบ ๆ ไม่ให้รบกวนผู้อื่น
แม้ว่าจะอยู่ในระยะไกลกันก็ตาม
*ตื่นขึ้นมาแล้ว ก็ทำตัวเอง-ปฏิบัติตัวเอง
ดูจิตใจตัวเองอยู่อย่างนั้นแหละ ทำไป ๆ*
หลวงพ่อก็เกิดความรู้ขึ้นมา ตั้งแต่วันนั้นจนถึงบัดนี้
หลวงพ่อว่า ‘ความทุกข์ของหลวงพ่อไม่มี’
ใครจะว่าหลวงพ่อมีทุกข์ก็ตาม
หลวงพ่อไม่ได้ไปถือคำพูดของคนอื่น
เขาจะว่าเราทุกข์ แต่เราไม่ทุกข์-เรารู้ตัวเอง
คนอื่นจะรู้เราไม่ได้
ผีก็รู้เราไม่ได้ เทวดาก็รู้เราไม่ได้
พระพุทธเจ้าก็คือคนธรรมดานี่เอง
ท่านยังตรัสว่า ‘สัตว์ทั้งหลายเหมือนตถาคต’
คนไม่มีปัญญาฟัง-อาจไม่รู้ คนมีปัญญาฟัง-อาจจะรู้ได้
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลาย คนทั้งหลายที่เกิดมานี้
มีลักษณะสัณฐาน-รูปร่างอย่างเดียวกันหมด
และ*พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ธรรมดา
เมื่อยังไม่รู้ ท่านก็เสาะแสวงหาวิธีแก้ปัญหาของตัวเอง
เมื่อได้พบ-ได้เห็น-ได้รู้ หรือแสวงหาตัวเองได้แล้ว
ก็เลยได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นตถาคต
ท่านจึงตรัสว่า ‘สัตว์ทั้งหลายเหมือนกับเราตถาคต’
ที่ว่าเหมือนนั้น คือ มีความทุกข์เหมือนกัน เมื่อยังไม่รู้จัก
ถ้ารู้จักแล้ว ความไม่ทุกข์ก็มีเท่าพระพุทธเจ้า*
แต่สติปัญญานั้น พระพุทธเจ้าท่านเป็นยอด
เป็นยอดที่เป็นผู้ริเริ่ม-ดำริฝึกฝนอบรม เอามาสอนเรา
ให้เรารู้ตาม-เห็นตาม-เข้าใจตาม
เรียกว่า ‘เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า’
เป็นธรรมทายาท หรือเป็นญาติในธรรม
*พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เพราะการฝึกฝนตนเอง
ท่านรู้ของท่านเอง ไม่มีผู้ใดเอามาแบ่งให้*
หรืออย่างที่หลวงพ่อพูดนี้ก็เหมือนกัน
*เราจะจับยื่นให้พี่-น้องไม่ได้
มีแต่เพียงวิธี แนะนำวิธีปฏิบัติ
ให้เอาไปปฏิบัติเอง ให้ทำเอาเอง
ให้มันเกิดขึ้นมาจากกฎธรรมชาติจริง ๆ จึงจะพึ่งได้*
ที่พูดให้ฟังนี้ ผู้มีปัญญาจะนำเอาไปปฏิบัติทันที
ค่อยแก้-ค่อยไขตัวเองไป
ส่วนคนที่สติปัญญายังไม่พอ
ก็ต้องเจริญสติแบบที่พระพุทธเจ้าสอน
คือ ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้ทุกอิริยาบถ-ให้รู้จริง ๆ
เรื่องนี้ไม่ผิดพลาด เพราะมันมีในคนทุกคน…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น