“…บัดนี้จะวกมาถึงเรื่อง‘สังฆคุณ’อีกครั้ง
พูดไปบ้างแล้ว เมื่อวานนี้
‘สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ’ เป็นภาษาบาลี
แปลว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ที่ท่านว่าหมู่ใด-หมู่หนึ่ง หมายถึง หนึ่งคน-สองคน
หรือสาม-สี่คน ร้อยคน-พันคน หมื่นคนก็ได้
*คนปฏิบัติดีนั้นแหละเป็นพระสงฆ์*
‘อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ’
แปลว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
หมู่ใด-ปฏิบัติตรงแล้ว’
ตรงต่ออะไร ?
ก็ตรงต่อการ-ต่องาน ตรงต่อหน้าที่
ตรงต่อตัวเอง (ตรง)ต่อพรรค-ต่อพวก
ไม่ใช่พูดไปอย่าง-ทำไปอีกอย่าง นั่นไม่ดี
‘ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ’
แปลว่า ‘สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
หมู่ใด-ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว’
คนออกจากทุกข์ได้เพราะความเกียจคร้าน
หรือว่าออกจากทุกข์ได้เพราะความขยัน ?
คนออกจากทุกข์ได้เพราะความไม่รู้
หรือว่าออกจากทุกข์ได้เพราะความรู้ ?
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทุกคนขยันหมั่นเพียร
รู้จักหน้าที่-การงาน นี่เป็น‘คนดี’
ดีกว่านั้นขึ้นไป เป็น‘มนุษย์’
หักห้ามจิตใจที่เลวทรามได้
มีหิริ-ความละอายต่อตนเอง
ทำผิด-พูดผิด-คิดผิด ก็มีความละอาย
นี่เรียกว่า ‘เทวดา’
มีความเมตตา-สงสาร เอื้อเฟื้อ-เผื่อแผ่ต่อเพื่อนฝูงที่ไม่รู้
พยายามพูดให้ฟัง นี่เรียกว่า‘พรหม’
พระพรหมนั้น ไม่ใช่มี ๔ หน้า
ถ้ามี ๔ หน้าแล้ว เวลานอน…จะหายใจออก-หายใจเข้าได้อย่างไร ?
เราอย่าเข้าใจผิด
ท่านสอนความจริง
แต่เรามาตีความหมาย อาจจะถูกก็ได้-อาจจะผิดก็ได้
เพราะการฟังภาษาบาลี
แปลภาษาบาลีมาสู่ภาษาบ้านเรานี้ ไม่ค่อยตรง
มันอาจจะตรงอยู่ แต่ว่าไม่รู้ความหมาย
อย่างหลวงพ่อพูดอยู่เดี๋ยวนี้
ถ้าเป็นคนภาคกลาง เขาฟังไม่รู้เรื่อง
ถามดูได้
คนมาจากภาคเหนือก็เหมือนกัน มาจากเชียงใหม่
(หลวงพ่อ)ถาม(เขา)ดู บางคำ(เขา)อาจไม่รู้จัก
บางคำก็อาจจะรู้ ถ้าหลวงพ่อพูดช้า ๆ
คนมาจากภาคใต้ก็เหมือนกัน ต้องฟังหลาย ๆ ครั้ง
ไม่เข้าใจวันนี้ วันหน้าต้องเข้าใจ
ไม่เข้าใจวันหน้า วันต่อไปต้องเข้าใจ
ดังนั้นการฟังเทศน์-ฟังธรรม จึงต้องตั้งใจฟัง
ที่ว่า‘พระพุทธเจ้านิพพาน’นั้น
*ให้เราเข้าใจว่า นิพพานนั้นคืออะไรด้วย
เราต้องการนิพพาน แต่ถ้าเราไม่รู้จักนิพพาน
แม้เราจะเห็นนิพพานอยู่ เราก็จะเอานิพพานไม่เป็น*
คล้ายกับเราไปหาเพชร-หาแร่ใต้พื้นดิน
มีแร่เพชร-แร่อะไรต่าง ๆ
พวกนักวิทยาศาสตร์เขารู้จัก
แต่เราไม่เคยได้เรียน ไม่เคยศึกษา
พอขุดไปพบกองเพชร-กองทอง ก็ไม่รู้จัก
คิดว่าเป็นดิน-เป็นหินอย่างนั้นไป
ส่วนคนที่ฉลาด ที่เขารู้จัก
เขาไปเห็น เขาก็จะรู้ทันทีว่าอันนี้เป็นทองคำ
อันนี้เป็นเพชร-เป็นอะไร เขารู้จัก
เขาก็จับจองที่ดินตรงนั้นไว้เลย
คนฉลาดก็จะจ้างคนงานไปทำ
คนงานนั้นอยากได้เงิน ก็ต้องทำงานช่วยเขา
ดังนั้น คนจน-คนรวยจึงอาศัยซึ่งกันและกัน
ถ้าเราอยากมีเงิน ก็ไปเป็นลูกจ้างเขา
แล้วเราต้องเก็บหอบรอมริบไว้ใช้ต่อไปข้างหน้า
เราต้องศึกษาว่าอันนี้เป็นแร่ทองคำ หรือเป็นแร่อันนั้น-อันนี้
อย่างนี้*เรียกว่า ‘เรียนด้วยมือ-เรียนด้วยการกระทำ’
ไม่ใช่เรียนจากตำราเฉย ๆ*
ถ้าเรียนจากตำราเฉย ๆ
แม้เขาไปพบกองเงิน-กองทอง เขาอาจไม่รู้จักก็ได้
ธรรมะก็เหมือนกัน…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น