แสดงธรรมวัดสนามใน เนื่องในงานสืบสานปฏิปทาบูชาสติธรรม หลวงพ่อเทียน
วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567
ถอดคำบรรยายโดย: ปูดาว ธันยนันท์ เสาวภาคย์สิร
กราบขอโอกาสท่านหลวงพ่อดา ประธานสงฆ์ กราบขอโอกาสท่านพระเถรานุเถระ พุทธศาสนิกชน ธรรมจารีย์ทุกท่าน ขอเจริญพรผู้สนใจใฝ่ในการศึกษาทุกๆท่าน
วันนี้ก็ถือว่าเป็นทางการหน่อยนึงเนาะ งานวัดสนามใน ในฐานะที่เป็นวัดของบูรพาจารย์ ในความรู้สึกของพระอาจารย์เนี่ย เวลาฟังหลวงปู่เทียนเทศน์ให้ฟัง หรือฟังหลวงพ่อคำเขียนเทศน์ เรารู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่เรียบง่าย และเข้าถึงได้ ไม่มีเรื่องมหัศจรรย์ ๆ ไม่มีเรื่องแบบดูอะไรที่มันเกินๆ ที่มนุษย์จะทำได้อ่ะ เข้าใจไหม มันมีความรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่มนุษย์จะทำได้ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกของพระอาจารย์ที่มีต่อหลวงปู่เทียน ผู้เป็นบูรพาจารย์ หลวงพ่อคำเขียน ผู้เป็นพ่อแม่ครูอาจารย์นี่ อาจารย์จะมีความรู้สึกว่า ในความเรียบง่ายของท่านนั่นแหละ คือการยืนยันถึงการไม่มีทุกข์ นั่นคือสิ่งที่ทำให้พระอาจารย์ ดำรงอยู่กับการปฎิบัติในแนวทางนี้
มีคนเคยถามพระอาจารย์ว่า “ทำไมต้องทำ 14 จังหวะ ทำไมต้องทำ 14 จังหวะพระอาจารย์ ดูลมหายใจได้ไหม ทำแบบนั้น แบบนี้ได้ไหม”
พระอาจารย์ก็ตอบว่า “ที่เราต้องทำ 14 จังหวะเนี่ย ก็เพราะว่ามันมีเจตนาที่เราจะต้องทำ เพราะความสำคัญของการทำกรรมฐานคือ ความมีเจตนา”
กรรมะ มันแปลว่ากรรม คือการกระทำที่มีเจตนา เพราะฉะนั้นกรรมฐาน ต้องมีเจตนาที่จะทำ ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆ
“แล้วทำไมต้องเป็น 14 ล่ะ หรือ ทำไมต้องยกมือสร้างจังหวะ”
“ก็เพราะมันไม่ใช่อิริยาบถธรรมชาติ มันเป็นอริยบถประดิษฐ์ ในความเป็น
อริยบถประดิษฐ์นั่นแหละ มันจึงทำให้เราต้อง.. ตั้งใจทำ..”
ความต้องตั้งใจทำนี่แหละ คือจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติแนวทางการเจริญสติ นั่นแหละคือเหตุผลว่า ทำไมหลวงปู่เทียน จึงสอนให้พวกเราต้องยกมือสร้างจังหวะ เป็นจังหวะๆไป เพราะว่ามันไม่ใช่อริยบถธรรมชาติ มันเป็นอิริยาบถประดิษฐ์ เพราะฉะนั้นในแต่ละจังหวะ มันต้องมีความตั้งใจที่จะทำ ย้ำนะครับ มีความตั้งใจที่จะทำ
ในความตั้งใจที่จะทำเนี่ย มันมีอานิสงส์ ความตั้งใจทำ มันจะทำให้เกิดการกระตุ้นธาตุรู้ ให้ไประลึกรู้ได้ดี เพราะฉะนั้นการที่หลวงพ่อคำเขียนสอนพระอาจารย์ว่า ตั้งใจทำทีละครั้ง รู้ทีละครั้ง จบทีละครั้ง
ตั้งใจทำแต่ไม่ตั้งใจรู้ ย้ำอีกครั้งนึงนะ ตั้งใจทำแต่ไม่ตั้งใจรู้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราตั้งใจรู้ มันจะกลายเป็น เพ่ง จ้อง มากเกินไป นั่นไม่ใช่ ในการที่หลวงพ่อคำเขียนสอนพระอาจารย์ว่า ตั้งใจทำแต่ไม่ต้องตั้งใจรู้ ให้เอาความตั้งใจทำ มันเป็นตัวกระตุ้นธาตุรู้ให้มันเข้าไปทำงาน อันนี้คือเคล็ดอย่างนึง
แล้วสิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อสอนอีกก็คือ ให้ตั้งใจทำทีละครั้ง รู้ทีละครั้ง จบทีละครั้ง แล้วมันก็เกิดคำถามนึงว่า
“แล้วเราจะตั้งใจทำได้ตลอดวันเหรอพระอาจารย์”
“ ไม่เป็นไรหรอก มันทำได้ไม่ตลอดวันก็ไม่เป็นไร แต่ให้เราตั้งใจใหม่ทุกครั้ง”
เมื่อบอกว่าให้ตั้งใจทำทีละครั้ง รู้ทีละครั้ง จบทีละครั้ง มันจึงหมายถึงการตั้งใจใหม่ทุกครั้งของการปฏิบัติ
สิ่งที่หลวงพ่อคำเขียนสอนพระอาจารย์ แล้วพลิกชีวิตพระอาจารย์ชั่วข้ามคืน หลวงพ่อบอกว่า..ดูนะ ผมจะทำให้ดู
ที่ผ่านมานั้น พระอาจารย์ฝึกสมถะมาก่อน เพราะฉะนั้น สิ่งที่มันฝังใจกับการเป็นสมถะก็คือ การทำยังไงก็ได้ให้มันสงบ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ในวันที่พระอาจารย์เจอหลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อคำเขียนถามพระอาจารย์ว่า
“ไม่ถามอะไรเลยเหรอ ถามบ้างไหม”
ถามไม่เป็น พระอาจารย์เป็นคนที่ถามไม่เป็น แต่เพื่อนอาจารย์น่ะถามเก่ง หลวงพ่ออธิบาย..ดีเลย
เสร็จแล้วหลวงพ่อหันมาถามพระอาจารย์ “ไม่ถามบ้างเหรอ”
“ถามก็ได้ครับ หลวงพ่อครับ ผมทำถูกไหมครับ”
ดูนะ พระอาจารย์ทำให้ดู “หลวงพ่อครับ ผมทำถูกไหมครับ”
จากนั้น พระอาจารย์ก็นั่งหลับตาลง นั่งขัดสมาธิ นั่งหลับตาลง แล้วก็เริ่มขยับมือ
“ไม่ใช่”
“หือ”
พอมือลงถึงท้องเท่านั้นแหละ หลวงพ่อคำเขียนบอก “ไม่ใช่ “
“ หือ.. ไม่ใช่เหรอครับ” นี่จะบอกให้ว่า แอบฝึกมา
เพราะได้หนังสือหลวงพ่อคำเขียนชื่อว่า ไม่มีไม่เป็น แล้วข้างหลังนั้นน่ะมันมี มีรูปยกมือ 14 จังหวะใช่ไหม เราก็แอบทำมาในรถไฟ ตอนเดินทางกลับจากสวนโมกข์ ก็ตัดสินใจมาหาหลวงพ่อคำเขียน นั่งทำในรถไฟเลยนะ ไม่สนใจใครเพราะหลับตาไว้ เข้าใจไหม แล้วที่สำคัญ คือพอมันทำไปได้สักพักนึง มันเข้าสมาธิ ดิ่งฟุบเลยนะ มั่นใจ มั่นใจว่า อ๋อ ไอ้ ยกมือแบบนี้เอง มันทำให้เราเข้าสมาธิได้ไว เลยมั่นใจ เลยมาทำให้หลวงพ่อดู
พอหลวงพ่อบอก “ไม่ใช่”
“หา…ไม่ใช่เหรอครับ”
หลวงพ่อใช้คำนี้นะ “นั่นไม่ใช่สมาธิเพื่อการตรัสรู้ นั่นเป็นสมาธิเหล็กแผ่น แข็งทื่อ ได้อย่างมากแค่ความสงบ ไม่ใช่สมาธิเพื่อการตรัสรู้” หลวงพ่อว่า เป็นสมาธิเหล็กแผ่นแข็งทื่อ
“สมาธิเพื่อการตรัสรู้ ต้องเป็นสมาธิเหล็กโซ่ รู้จักไหม”
“รู้จักครับ”
“ โซ่มันคล้องกัน เป็นข้อ เป็นข้อ เป็นข้อ มันแข็งแรงเป็นเหล็ก แต่มันม้วนเป็นรูปอะไรก็ได้ เหล็กแผ่นแข็งทื่อ มันแข็งแรงเป็นเหล็ก แต่มันม้วนเป็นรูปอะไรไม่ได้”
คำพูดอธิบายอะไรง่ายๆ ของหลวงพ่อตรงนี้ หลวงพ่อคำเขียนตรงนี้ ทำให้พระอาจารย์ตื่นเลย เฮ้ย..นี่ไง คำว่า กัมมะนีโย จิตที่ควรแก่การงาน ตั้งมั่น แข็งแกร่ง แต่นุ่มนวล พร้อมรับการกระทบ ไม่ใช่ตั้งมั่น แข็งแกร่ง แข็งทื่อ เป็นปราการเหล็ก ที่ไม่รับการกระทบใดๆ มันเข้าใจตรงนั้นเลย
แล้วหลวงพ่อก็บอกว่า “ดูนะ เดี๋ยวผมทำให้ดู ตั้งใจทำ แต่ไม่ต้องตั้งใจรู้ ตั้งใจทำทีละครั้ง รู้ทีละครั้ง จบทีละครั้ง ดูนะ…
(คว่ำมือ) รู้ (ตะแคงมือ)รู้ (ยกแขนท่อนบน)รู้แบบไม่ต้องท่องว่ารู้ เนี่ย แค่ตั้งใจทำ แล้วก็รู้กับมันก็จบ แล้วตั้งใจทำใหม่ รู้กับมันแล้วก็จบ ให้ตั้งใจทำใหม่ รู้กับมันแล้วก็จบ ให้ตั้งใจทำแบบนี้ เริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง เริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง”
พวกเราสังเกตไหม ว่าการเคลื่อนไหวที่หลวงพ่อคำเขียนสอนให้อาจารย์ คือ เคลื่อนแล้วก็หยุด แล้วจากนั้นค่อยเริ่มต้นใหม่ คือเคลื่อนแล้วก็หยุด จากนั้นก็เริ่มต้นใหม่ คือเคลื่อนแล้วก็รู้ พอรู้แล้วก็จบ แล้วก็เริ่มต้นใหม่ รู้แล้วก็จบ แล้วก็เริ่มต้นใหม่ รู้แล้วก็จบ แล้วก็เริ่มต้นใหม่ รู้แล้วก็จบ แล้วก็เริ่มต้นใหม่ รู้แล้วก็จบ เริ่มต้นใหม่ รู้แล้วก็จบ
นี่คือสิ่งที่ ทำให้พระอาจารย์เข้าใจเลยว่า อ๋อ…ไอ้ความกังวล ที่คิดว่าแล้วจะทำยังไงให้มันได้ ให้มันเกิดความตั้งใจที่จะทำตลอดวันได้ มันง่ายนิดเดียวเลย คำตอบที่หลวงพ่อบอกว่า ให้ตั้งใจทำทีละครั้ง เข้าใจยังทีนี้
มันจะหลงไป มันจะเพลินไป ก็ไม่เป็นไร แค่กลับมาตั้งใจใหม่
หลงไป เพลินไป ก็ไม่เป็นไร แค่กลับมาตั้งใจใหม่
พอมันกลับมาตั้งใจใหม่ปุ๊บ มันตื่นขึ้นมาใหม่ แล้วขยับ แล้วก็รู้ แล้วก็จบ ภาวะแห่งการรู้แล้วก็จบนี่แหละ มันทำให้เกิดความตั้งใจใหม่ เริ่มใหม่ๆ เริ่มใหม่ๆ ทุกครั้ง
เพราะฉะนั้น พระอาจารย์ได้ฝึกแบบนี้ ในบ่ายนั้นที่ได้เจอหลวงพ่อ หลวงพ่อคำเขียนตอนบ่าย3โมง แล้วก็เริ่มต้นสู่การฝึก
เดินจงกลม ก็ตั้งใจเดินทีละก้าว รู้ทีละก้าว ทีละก้าวไปเรื่อยๆ
เช้าวันต่อมา อาจารย์ไปบิณฑบาต เดินออกจากวัดไปได้ 300เมตรน่ะ มันก็แยกเรื่องกายเรื่องจิต เรื่องรูป เรื่องนามได้ ทำวิปัสสนาญาณ ขณะที่เดินบิณฑบาต เกิดภาวะแห่งการสังเกตเห็นการทำงานของกาย ของจิต เช้าวันนั้นเลย ที่ทำให้พระอาจารย์ มั่นใจเลยว่า นี่คือ พ่อแม่ครูอาจารย์ของเราอย่างแท้จริงละ ยุติการแสวงหาครูบาอาจารย์
จริงๆแล้ว เคยตั้งใจนะ จะเป็นพระธุดงค์ เคยตั้งใจอยากเป็นพระธุดงค์ อยากเดินทางธุดงค์ไปเรื่อย แสวงหาครูบาอาจารย์ ไปฟังเทศน์สำนักนั้น ไปฟังเทศน์อาจารย์นี้ แต่พอเจอหลวงพ่อคำเขียน… หยุด… หยุดตั้งแต่วันนั้นเลย ความคิดเรื่องการเป็นพระธุดงค์หายไปหมด เหลืออย่างเดียว ธุดงค์ใจตัวเอง
คราวนี้ตัดสินใจเลยว่า อยู่กับหลวงพ่อเลยดีกว่า เพราะนี่แหละ คือพ่อแม่ครูอาจารย์ของเรา อย่างแท้จริง ที่ทำให้เราเข้าใจการปฏิบัติที่มันมีความ มีผลอันประณีตกว่าสมถะที่เราฝึกมาเป็นปี เข้าใจไหม อาจารย์ฝึกสมถะมาเป็นปีกว่านี่ ได้ผลสมถะในหลายๆเรื่องนะ ในหลายๆอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาใครมาพูดอะไร เรื่องสมถะ อาจารย์ก็จะยิ้มๆ จ้ะ เข้าใจ เขาบอกเขาเห็น เรา..จ้ะ เข้าใจ แต่เรารู้เลย ไอ้นี่เราก็ผ่านมา มันไร้ความประณีตของรสชาติ มันไม่เหมือนวิปัสสนาที่มันประณีตกว่าเยอะ
ความที่เราเข้าใจเรื่องกาย เรื่องจิต ทำให้เราเข้าเรื่องคำสอนพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนี่ มันทำให้เรายืนยันว่า รสแห่งวิปัสสนานั้น มันมีความประณีตกว่าเยอะเลย มันไม่วื้บว้าบ
ถ้าภาษาแบบสมัยพระอาจารย์เป็นโยมก็บอกว่า ไอ้นั่นน่ะเหล้าป่า เข้าใความหมายไหม รสชาติมันบาดคอ แต่ไอ้คนวิปัสสนาเนี่ย Blue label กลั่นอย่างดี บ่มอย่างดี เป็นสิบๆปีมันจึงนุ่มกว่าเยอะ อะไรอย่างนี้ เข้าใจไหม ซึ่งอาจารย์เคยเล่า เคยเปรียบเทียบอย่างนี้ ให้ลูกศิษย์อาจารย์ที่เป็นชาวเยอรมันฟัง
“โอ้..ว้าว.. พระอาจารย์รู้จัก Blue label ด้วย”
“ Andrew อาจารย์ไม่ได้บวชมาตั้งแต่เด็ก อาจารย์ไม่ได้บวชมาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นอาจารย์ย่อมรู้จัก”
ซึ่งตรงนั้นเอง มันทำให้อาจารย์จับหลักได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ทำไมหลวงพ่อถึงได้ให้
- ตั้งใจทำทีละครั้ง
- รู้ทีละครั้ง
- จบทีละครั้ง
การทำอย่างนี้นะ อาจารย์จะบอกให้ว่า มันมีเคล็ด ความที่อาจารย์พบหลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อให้เคล็ดวิชานี่ มันทำให้พระอาจารย์ไวต่อความเข้าใจ และได้ผลไวขึ้นต่อการปฏิบัติ จริงๆ นั่นก็เป็นเพราะว่า ดูนะ
ในกระบวนการตั้งใจทำแล้วหยุด จากนั้นเนี่ย แล้วค่อยๆตั้งใจทำใหม่แล้วก็หยุด แล้วก็ตั้งใจทำใหม่แล้วก็หยุด ภาวะแห่งความตั้งใจทำ ในเบื้องต้นนี่ มันจะทำให้ ตัวตั้งใจทำนี่ มันไปกระตุ้นธาตุรู้ ให้วิ่งเข้าไปทำงาน เข้าใจยัง
- ขยับปั๊บรู้ แล้วก็จบ
- ขยับใหม่ รู้ แล้วก็จบ
- ขยับอีก รู้ แล้วก็จบ
- นี่เคลื่อนก็รู้ หยุดก็รู้
- เคลื่อนก็รู้ หยุดก็รู้
การตั้งใจทำทีละครั้งแล้วหยุด ทีละครั้งแล้วหยุดนี่ ความตั้งใจตรงนี้มันจะไป
กระตุ้นธาตุรู้ให้วิ่งเข้าไปทำงาน แล้วให้สติมันเข้าไปทำงาน ทีละครั้ง ทีละครั้ง ไปเรื่อยๆ อันนี้คือเบื้องต้น
จากนั้นเมื่อสติ มันทำงานมากๆขึ้นๆ มันระลึกอยู่กับกาย คราวนี้ พอมันระลึกอยู่กับกายดีๆ ความตื่นตัวของมันจะเกิดขึ้น คราวนี้มันจะกลายเป็น เขาเรียกว่าอะไรดี มันเปลี่ยนจากการระลึกรู้แค่กาย มันจะค่อยๆ ค่อยๆ พอมันตื่นตัวขึ้นมาแล้ว มันจะค่อยๆ ค่อยๆ คลาย ไม่แนบไปกับการรู้กายนะ การเคลื่อนแล้วหยุด การเคลื่อนแล้วหยุด จะป้องกันไม่ให้เกิดการแนบเข้าไป
พวกเราเคยเห็นไหม (พอจ.ทำท่ายกมือ 14 จังหวะ) เอ่อ ถามว่าเคยทำหรือเปล่าดีกว่า ตะบี้ตะบันยกมือ
ไม่ใช่
ถ้าคุณไปดูหลวงปู่เทียน ทำซ้า ซ้า (ช้าๆ) หลวงปู่เทียนบอกทำมัน ซ้า ซ้า นิ (ช้าๆ) ใช่หรือไม่ หลวงปู่เทียนหยุดนะ ทำมันสั้นๆ เนี่ยๆ นี่คือวิธีการที่หลวงปู่เทียนพยายามบอกเราอยู่แล้วว่า ให้ทำมันทีละครั้ง ช้าๆ รู้สึกกับมัน นี่ เคลื่อนก็รู้ หยุดก็รู้ เพราะว่าในท่ามกลาง ในเบื้องต้น มันจะไปกระตุ้นธาตุรู้ให้ทำงานใช่มั้ย พอธาตุรู้มันทำงานมากขึ้นๆ มันตื่นตัวขึ้นมาแล้วนี่ มันจะทำให้เราเกิดภาวะนึงก็คือ รู้ว่ากายกำลังเคลื่อนไหว มันจะระลึกรู้กับกายที่กำลังเคลื่อนไหวเรื่อยๆ เรื่อยๆ แต่มันมีความฉับไวกับการเห็นจิต ในรูปแบบชองความคิดที่ปรากฏ
ตอนแรกวันที่อาจารย์เห็นความคิดมันโผล่พรวดออกมา มันเห็นทันทีว่า 2 ตัวนี้ เป็นคนละตัวทันที
- กายที่เคลื่อนไหวมีอยู่
- จิตที่มันคิดอยู่มีอยู่
- ตัวรู้ที่มันรู้การเคลื่อนไหว และจิตนึกคิดมีอยู่ มันแยกธรรมชาติ2กองนี้ออกจากกันโดยเด็ดขาด
ซึ่งตอนหลังมาอาจารย์ได้ไปอ่านประวัติหลวงปู่เทียน หลังจากที่เราอยู่กับหลวงพ่อคำเขียนมาสักพักนึง เราก็อยากรู้ว่าอาจารย์ของหลวงพ่อคำเขียนเป็นใคร อย่าลืมว่าอาจารย์รู้จักหลวงพ่อคำเขียน ก่อนหลวงปู่เทียน เข้าใจไหม ตั้งใจไปเจริญสติกับหลวงพ่อคำเขียน แล้วตอนหลังมารู้ว่าหลวงพ่อคำเขียนเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เทียน ก็เลยไปอ่านประวัติหลวงปู่เทียน
ก็เลยอ่านเจอว่า หลวงปู่เทียนวันนั้น ตัดสินใจเลิกบริกรรม ตัดสินใจเลิกทำช้าๆ แล้วกลับมาเดินสบายๆ แล้วสังเกตดูว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น
ปรากฏว่าหลวงปู่เทียนเดินไปแล้วมันสะดุด
“ใครเคยเดินจงกลมแล้ว เหมือนมันสะดุดบ้าง ยกมือขึ้น ขามันขวิด ใช่มั้ย”
“ถามว่า ไอ้ขาขวิด แล้วสะดุดนี่ เพราะอะไร เพราะอะไร”
“มันเผลอคิด มันไม่ใช่เพลิน มันมีความคิดวูบออกไป ใช่หรือไม่ จังหวะมันก็เลยสะดุดทันทีเลย ถูกป่ะ”
นั่นแหละที่หลวงปู่เทียนเห็น หลวงปู่เทียนบอก อื้อ..ไม่มีใครมาผลัก เพราะว่าขามันเหมือนขาขวิดไง อ๋อ..หลวงปู่เทียนเห็น เห็นไอ้ความคิดที่มันออกไปตรงนี้นี่เอง เราจึงบอก เฮ้ย..เราเห็นเหมือนหลวงปู่เลยเว้ย ไอ้ตอนเดินบิณฑบาต
นั่นแหละนิยามการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่จึงใช้คำว่า “เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นจิตใจนึกคิด” แปลว่า ให้มีสติรู้ทันกับกายที่มันเคลื่อนไหว แล้วมีสติรู้ทัน เมื่อใจมันคิดออกไป ใช่หรือเปล่า
หลวงปู่เทียนเคยห้ามความคิดไหม หลวงปู่เทียนไม่เคยสอนให้ห้ามความคิด ไม่เคยสอนกดข่มความคิด แต่ให้ตั้งสติแล้วรู้ว่ามันมีกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี้ มันมีอยู่ จิตที่คิดไปนี้ มันมีอยู่
ซึ่งโดยภาคการปฏิบัติที่เป็นทฤษฎี เราเรียกภาวะแห่งการรู้ตรงนี้ว่า “การแยกกาย-แยกจิต” ว่าเป็นคนละธาตุคนละอย่าง เพราะมีอาการคนละอาการ ทำหน้าที่คนละหน้าที่ มีลักษณะธรรมชาติที่แตกต่างนี้ การมองเห็น 2 อย่าง อย่างนี้ ด้วยภาวะแห่งการเห็นด้วยสตินี้ เขาเรียก “วิปัสสนาญานที่1” เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นทำวิปัสสนาของหลวงปู่เทียน จึงเริ่มต้นจาการเห็นไอ้ 2 ตัวนี้
อาจารย์จึงบอกว่า ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมวันนั้นอาจารย์เดินบิณฑบาต แล้วอาจารย์เห็น2ตัวนี้ แล้วหลังจากนั้น อาจารย์ก็ใช้ภาวะของตัวรู้ ที่มีสติ ที่มันตื่นตัวขึ้นมาสังเกตไอ้2ตัวนี้มันไปเรื่อยๆ เป็นเคล็ดวิชาที่หลวงปู่เทียนทิ้งไว้ให้เราแบบเรียบง่ายมาก ให้ดู 2 ตัวนี้ไปเรื่อยๆจริงๆ สังเกต 2 ตัวนี้ไปเรื่อยๆเลย แล้วคำตอบทุกอย่างจะค่อยปรากฏขึ้นเรื่อยๆ เพราะในวาระตอนกลางเนี่ย ความตั้งใจทำที่มันเกิดขึ้นนี่ มันจะทำให้เกิดเป็นกรรมฐานที่ต่อเนื่อง และเป็นวิหารธรรม เป็นวิหารธรรมที่จะทำให้ธาตุรู้หรือตัวสติเนี่ยมันสังเกต โดยไม่เข้าไปเป็นกับ 2 อาการนี้
เอ่อ…มันกลายเป็นตัวสังเกตการณ์ๆ มันก็เลยสังเกตการณ์ ไอ้2ตัวนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งพอเรามีความรู้เท่าทันกับความคิดที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ หลวงปู่เทียนใช้คำว่า ให้มันคิดไป มันคิดขึ้นมาเร็วเท่าไหร่ก็ตาม ความรู้สึกตัวของเราที่เร็วขึ้น ตามกันไปๆ ตามกันไปเนี่ยมันจะรู้ทันมากขึ้น
พระอาจารย์ยังรู้สึกว่าทำไม กรรมฐานแนวอื่น เขาชอบสอนกันว่าปฏิบัติไปแล้ว ความคิดจะน้อยลงไป นี่คือหลุมพรางที่ขุดดักกันนะ เพราะคนมันมีนิสัยอยากให้ความคิดน้อยลง ก็เลยสอนกันแบบนั้น
แต่หลวงปู่เทียนบอกไม่ใช่ สิ่งที่หลวงปู่เทียนบอก ตอนนี้มันเริ่มต้นเรารู้ทันแค่20 มันคิดมา100เรื่อง เรารู้ทัน20เรื่อง จากนั้นเราจะรู้ทันเร็วขึ้น 30เรื่อง 40เรื่อง 50เรื่อง 60เรื่อง 70เรื่อง 80เรื่อง 90เรื่อง 100เรื่อง คิดปุ๊บรู้ปั๊บ คิดปุ๊บรู้ปั๊บ นี่..หลวงปู่เทียนใช้คำนี้ นั่นแปลว่าความคิดมันจะน้อยลงไหม หือ.มันไม่ได้น้อยลง เพราะว่ามันคือธรรมชาติของจิต ยังไงมันก็ทำงานวันยังค่ำ คุณปฏิบัติไปๆ หายใจน้อยลงไหม หา..งั้นอาการทางกาย มันก็ยังเป็นของมันอยู่วันยังค่ำ ใช่หรือไม่ แต่เราเป็นอะไรไม่รู้ผู้ปฏิบัติ ไปตะบี้ตะบัน เอาถูกเอาผิดกับไอ้จิตที่มันคิด จะต้องทำให้มันน้อยลง หรือจะต้องทำไม่ให้มันคิด แล้วพอกาย ให้มันหยุดหายใจสิ ใช่มั้ย แทนที่จะเข้าใจว่า กายมันก็มีอาการของมันอย่างนี้ จิตมันก็มีอาการของมันอย่างนี้ ใช่หรือไม่ นั่นไง
เพราะฉะนั้น หลวงปู่เทียนไม่เคยบอกให้เราไปจัดการกับความคิดให้มันน้อยลง ไม่เคยบอกให้ ให้ไปจัดการกับความรู้สึกนึกคิดอะไรต่างๆให้มันน้อยลงเลยนะ ท่านบอกว่า มันคิดขึ้นมาเมื่อไหร่รู้ทัน มันเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่รู้ทัน รู้ทันๆ รู้ทันไปเรื่อยๆ นี่คือท่ามกลางที่มันจะเกิดขึ้น กับกระบวนการแห่งการสังเกต
แล้วที่อาจารย์ทำท่าให้ดูเมื่อกี้ เรื่องการเจริญสติน่ะเห็นมั้ย เคลื่อนแล้วหยุดๆ คุณรู้ไหมว่าการเคลื่อนแล้วหยุดๆมันมีผลอะไร พระอาจารย์เคยเห็นคนตะบี้ตะบันยกมือ แล้วก็บอกว่า ปฏิบัติมาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นรู้เรื่องอะไรเลย ได้แต่ยกมืออ่ะ ได้อยู่ ได้กล้าม ได้ออกกำลังกาย ข้อไม่ติด
ฟังนะ การเคลื่อนแล้วหยุด แล้วทิ้งจังหวะสักนิดนึง จากนั้นเคลื่อนใหม่แล้วหยุด เพราะในเบื้องปลายเนี่ย ไอ้ตัวนี้มันจะกลายเป็นวิหารธรรม ที่ทำให้ใจเรามีที่มีทาง อยู่กับเนื้อกับตัว พอใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว มันจะไปสังเกตเห็นอาการอื่นๆที่ปรากฏขึ้น นอกเหนือจาก 14 จังหวะ เข้าใจยังทีนี้
ในขณะที่เราตั้งใจทำ 14 จังหวะใช่ไหม ตั้งใจเคลื่อนไหวใช่มั้ย เรามีเจตนาทำใช่หรือไม่ จริงไหม เนี่ย..มีเจตนาทำใช่ไหม ถามว่าในขณะที่เรามีเจตนาเคลื่อนไหวแบบจังหวะ แบบนี้ แล้วหยุดสักพักนึง นี่คือ การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สังเกต เห็นอาการอื่นๆที่มันจะปรากฏ นอกเหนือจาก 14 จังหวะที่เจตนา
“ เคยสังเกตไหม มีใครเคยสังเกตบ้างไหม คุณยกมือปั๊บเนี่ย แล้วก็หยุดสักพักนึง เอ้า..มีกระพริบตาเว้ย อ้าว..มีหายใจด้วยเว้ย มีไหม โอ้ย มีคันตรงนั้น ตรงนี้ด้วยเว้ย มีปวด มีเมื่อยด้วย อ้าว..มีคิดด้วย ใช่หรือไม่ เคยสังเกตไหม”
“ไม่”
“ไม่เคยสังเกต เพราะมัวแต่ตะบี้ตะบันยกมือ นั่นแหละ มันถึงทำให้การปฏิบัติเรามันล่าช้า เพราะในขณะที่เราเคลื่อนแล้วหยุดนี่ แล้วมันเปิดโอกาสให้อาการอื่นๆได้ปรากฏ แล้วมันเกิดการสังเกตเห็นเนี่ย
- มันจะทำให้เราสังเกตเห็นการแสดงอาการของกาย ในรูปแบบอริยบถ 14 จังหวะ
- มันจะเห็นอาการของเวทนา ในรูปแบบของความรู้สึกต่างๆที่ปรากฏ
- มันจะเห็นอาการของจิต ในรูปแบบของความคิดที่มันปรากฏ
- แล้วมันจะปรากฏธรรมารมณ์ในรูปแบบของนิวรณ์ธรรมทั้งหลาย หรือสภาวธรรมทั้งหลายที่มันจะปรากฏให้เห็น
เราสังเกตไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่หลวงปู่เทียนสอน หลวงปู่เทียนไม่ได้สอนยกมือ แต่หลวงปู่เทียน ให้เอาการยกมือเนี่ยเป็นอุบาย เพื่อจะสังเกตสภาวะอื่นๆที่ปรากฏ นี่คือ หลักสติปัฏฐาน 4 นะ นี่คือ หลักสติปัฏฐาน 4 เลย
เพราะเราจะสังเกตเห็นว่ามันมีเวทนาที่ปรากฏกับกายมีไหม มีปวด มีเมื่อยไหม มีร้อน มีหนาวไหม มีคันไหม มีหิวไหม มีกระหายไหม มีเว้ย แล้วเคยสังเกตไหม ว่ามีอาการ เหล่านั้นปรากฏให้เห็น แล้วถามว่าอาการที่มันปรากฏมันใช่กายไหม
ในสติปัฏฐานสูตรนี่ พระพุทธเจ้าตรัสเลยนะว่า เธอจงมี ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนะ เธอจงมีสติระลึกรู้ที่อิริยาบถใหญ่ เธอจึงมีสติระลึกรู้ที่อิริยาบถย่อย เธอจงมีสติระลึกรู้ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แปลว่า กายในความหมายของพระพุทธเจ้า คืออะไร
- อริยะบถใหญ่
- อริยะบถย่อย และ
- ลมหายใจเข้าออก
เพราะฉะนั้นการที่หลวงปู่เทียนบอกให้เรานั่งคืออิริยะบถใหญ่ การที่หลวงปู่เทียน
ให้เรายกมือสร้างจังหวะคู้ เหยียด เคลื่อนไหวคืออิริยะบถย่อย ติดตามอาการของ
กาย เมื่อมันจำอาการของกายได้ดี มันจะมีสภาวะธรรมอื่นๆปรากฏไหม มีปวดมีเมื่อย
ไหม มีหิวไหม มีร้อน มีหนาวไหม เมื่อนั้นมันจะแยกออกทันทีว่า นั่นไม่ใช่กาย เพราะมัน
ไม่ใช่อิริยะบถใหญ่ อิริยะบถย่อย และลมหายใจเข้าออก เข้าใจไหม เราเรียกมันว่า
เวทนา
เพราะกายในความหมายของพระพุทธเจ้าคือ อิริยะบถใหญ่ อิริยะบถย่อย และลมหายใจเข้าออก เพราะฉะนั้นอาการอื่นๆที่เกิดกับกาย ที่มันไม่ใช่ อิริยะบถใหญ่ อิริยะบถย่อย และลมหายใจเข้าออก มันคือเวทนา มันไม่ใช่กาย เห็นไหม
“ในขณะเดียวกันมันมีความคิดเกิดขึ้นไหม ใช่กายไหม”
“ทำไม เพราะมันไม่ใช่อริยะบถใหญ่ อิริยะบถย่อย และลมหายใจเข้าออก มันคือความคิด คือการทำงานของจิต”
“แล้วถามขณะที่คุณปฏิบัติไปมันมีนิวรณ์เล่นงานไหม ถามว่านิวรณ์ใช่กายไหม เพราะ? “
“มันไม่ใช่อิริยะบถใหญ่ อริยะบถย่อย และลมหายใจเข้า-ออก ใช่หรือไม่ มันคืออารมณ์ เห็นไหม”
“แล้วมันคือจิตไหม ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้คิด ใช่ไหม”
“แล้วมันคือเวทนาไหม”
“ ไม่ เพราะมันไม่ได้เกิดที่กายมันเกิดที่จิต”
นี่คือเทคนิคที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้ให้เห็นว่า จำอาการกายไว้ แล้วหลังจากนั้นมันจะไปรู้อาการอื่นๆที่ปรากฏ แล้วมันจะเห็นเลยว่านั่นไม่ใช่กาย
หลวงปู่เทียน ให้เราเคลื่อนไหวแบบนี้ ทำซ้า..ซ้านิ (ทำช้าๆ) ทำสั้นๆ ทำไมหลวงปู่เทียนไม่สอนให้เราตะบี้ตะบันยก เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณตะบี้ตะบันยกมือ คุณจะไม่สังเกตเห็นอะไรเลย ใจมันจะหมกมุ่นอยู่กับการยกมือ มันไม่ต่างอะไรกับสมถะ มันไม่ใช่วิปัสสนา
เพราะฉะนั้นเมื่อธาตุรู้มันถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้นมาแล้วเนี่ย มันก็เปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้สังเกตการณ์ เข้าใจหรือยังทีนี้ มันเริ่มจากการสังเกตการณ์ว่า กายมีเคลื่อนไหว มีจิตใจที่นึกคิด เข้าใจยัง เพราะพอมันจับอาการกายที่เคลื่อนไหว กับจิตใจที่นึกคิดได้ปั๊บ มันจะกลายเป็นผู้สังเกตการณ์ทันที ไม่อิงเข้าไปในอาการกาย ไม่อิงเข้าไปในอาการจิต แต่กลายเป็นผู้สังเกต เพราะฉะนั้น ในเมื่อมันสังเกต มันก็จะเห็นอาการต่างๆที่อาจารย์พูดเมื่อกี้แหละ อันนี้คือท่ามกลางที่มันจำเป็น
ทีนี้ พอมันทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เรื่อยๆสักพักหนึ่ง สติมันจะจำแนกแยกแยะระหว่างอาการที่มีเจตนา
“เพราะฉะนั้น 14 จังหวะ หรือการเคลื่อนไหวที่หลวงปู่เทียนสอนนี่ มีเจตนาไหม มีไหม มีเนาะ”
“แล้วอาการอื่นๆที่ปรากฏ ที่นอกเหนือจาก 14 จังหวะ มีเจตนาไหมๆ ไม่มี”
เพราะฉะนั้นความที่แยกระหว่างมีเจตนากับความไม่มีเจตนามันจะเกิดขึ้น
“ถามหน่อย ความมีเจตนานั้น ใครมีเจตนา ใคร ใครเจตนา”
“เรา เรานั่นแหละเป็นผู้ทำ เรานี่แหละเจตนา แล้วอาการอื่นๆที่มันไม่มีเจตนาคืออะไร”
“ ไม่ใช่เรา นั่นคือสภาวะแห่งความเป็นอนัตตาที่มันเป็นด้วยตัวของมันเอง”
ถ้ามีเจตนาคือเรา ความไม่มีเจตนาจะเป็นเราได้ไหม นั่นไง ในวันที่อาจารย์เข้าใจตรงนี้ปุ๊บ อ้าว..เฮ้ย..เอ๋า มันเป็นของมันเองนี่หว่า ดังนั้นอาจารย์ก็เลยสังเกตบ่อยว่า แล้วแม้นไม่มีเราเป็นผู้พามันกระทำ แต่ทำไมมันยังแสดงอาการเหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้น อาจารย์ก็เลยเข้าใจว่า อ่อ..มันเป็นทุกขัง มันทนอยู่ไม่ได้ มันทนอยู่ในสภาพเดิมของมันไม่ได้ มันก็เปลี่ยนๆของมันไป เข้าใจความหมายไหมทีนี้
ดังนั้น แปลว่าอาการต่างๆที่ปรากฏทั้งหมด ที่ไม่มีเจตนาที่มันทำอย่างนั้นได้
อันดับแรกคือมันไม่ใช่เรา มันเป็นด้วยตัวมันเอง และในความที่มันเป็นด้วยตัวของมันเองได้ แล้วทำไมมันยังแสดงอาการเหล่านั้นได้ ก็เพราะว่ามันทนอยู่ไม่ได้
เราเคยได้ยิน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหม แล้วเคยเจอมันหรือยัง หรือได้แต่ท่องมาตลอด เราได้แต่ท่องมาตลอดแต่เราไม่เคยสังเกตเห็นอาการที่มันแสดง ใช่หรือไม่ ตรงนี้ไง แล้วที่สำคัญคือ ไอ้14จังหวะที่ยกไปด้วยเจตนาของเราน่ะ ทำไป ทำมานะ เจตนาหาย เจตนาหาย แต่ไอ้นี่ (ทำท่ายกมือ) ยังไปได้
อ้าว..ใครเคยเป็นบ้างยกมือขึ้น เจตนาหายแต่ยังขยับได้เฉย งั้นแปลว่าอะไร ก็แปลว่ามันไม่ใช่เราตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นเราใส่เจตนาเข้าไปกี่ครั้ง มันก็จะดับหายไปอีก ใส่ไปอีก ก็ดับหายไปอีก ใส่ไปอีกก็ดับหายไปอีก ใส่ไปกี่ร้อยกี่พันครั้งมันก็หายไปทุกครั้งแหละ เพราะความเป็นเรามันไม่มีแต่แรกอยู่แล้ว เข้าใจไหมทีนี้ เพราะมันไม่ใช่เราแต่แรก มันเป็นเพียงสภาวะธรรมชาติที่มันกำลังดำเนินไปด้วยความที่มันเป็นทุกขัง ที่บีบคั้นให้มันต้องเป็นไป
อาจารย์ถึง กล้าท้าไงว่า คุณจะมาปฏิบัติแนวไหนก็ตาม คุณเริ่มง่ายๆเลย คุณเจตนาทำอะไรก็ได้ง่ายๆขึ้นมาสักอย่าง แล้วคุณลองสังเกตดู ไอ้ที่ไม่เจตนาเยอะขนาดไหน คุณจะเอาพุธโทก็ได้นะ คุณจะเอายุบพองก็ได้นะคุณจะเอาอาณาปาณสติก็ได้ ตั้งกรรมฐานขึ้นมาโดยมีเจตนา แล้วคุณคิดว่าไอ้ที่ไม่เจตนาจะเยอะไหม ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต เยอะไหม กาย เวทนา จิต ธรรม มันจะแสดงอาการของมันเองได้ไหม นั่นไง คุณจะใช้กรรมฐานใดก็ตามที่มีเจตนา มันจะปรากฏความไม่มีเจตนาให้คุณเห็น เยอะมากมาย และที่สำคัญ ไอ้ที่คุณเจตนา เดี๋ยวก็หายไป กลับไปสู่ความไม่มีเจตนา
นั่นจึงหมายความว่าความเป็นอนัตตานั้นมันคือเบื้องต้นของทุกอย่างอยู่แล้ว ปัญหาก็คือ เราไปอธิบายอนัตตาผิด เราไปอธิบายอนัตตาว่า ไม่มี ไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา ไม่มีอะไร หายไป ผิด พระพุทธเจ้าบอกว่าอนัตตาคือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนใดๆของเรา ที่เราจะหมายมั่นบังคับบัญชาให้เป็นตามความปรารถนาได้ เพราะฉะนั้นภาวะที่มันปรากฏโดยที่ไม่มีเจตนานั่นแหละ คือการยืนยันถึงความเป็นอนัตตา
เราไปอธิบายอนัตตาผิด ไปอธิบายอนัตตาในรูปแบบของนิรัตตา ฟังให้ดี พราหมณ์บัญญัติคำว่าอัตตาเพื่อรองรับบรมอัตตา ก็มีอีกกลุ่มนึงที่มันไม่เชื่อ แล้วก็บัญญัติคำว่า
นิรัตตา ที่ไม่เชื่อว่ามีอัตตาใดๆ ก็คือพวกขาดสงฆ์นั่นไง มันกลายเป็นฝั่งตรงกันข้าม แต่พอพระพุทธเจ้าท่านเข้าใจ ท่านประจักษ์แจ้งแล้ว ท่านจึงรู้ว่าทุกอย่างมันมี มีตามเหตุตามปัจจัยมันจึงไม่อาจจะยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเราได้
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไปอ่านอนัตตลักขณสูตร จะเห็นเลยว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้พูดว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่พระพุทธเจ้าพูดเรื่องอนัตตาก่อน
“ภิกษุทั้งหลาย รูปมันเป็นอนัตตา”
ทำไมรูปจึงเป็นอนัตตา เพราะมันไม่อาจหวังว่า รูปจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราจงอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ใช่หรือไม่ ขอรูปนี้จงเป็นอย่างนี้เถิด ใช่หรือไม่ เธอหวังอย่างนั้นได้หรือไม่
ไม่ได้พระเจ้าค่ะ
นั่นไง ดังนั้นมันจึงเป็นอนัตตา ถ้างั้น ความเป็นอนัตตานั้น ไม่ได้แปลว่าไม่มี แต่แปลว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะพระองค์ถามแล้ว ควรหรือหนอ ที่เธอจะตามเห็นว่า
เอตัง มะมะ : นี่ของเรา
เนโส หะ มัสมิ : เราจึงเป็นนั่นเป็นนี่
เอโส เม อัตตาติ : นี่คืออัตตาตัวตนของเรา
ควรหรือหนอ ถ้างั้นแปลว่า สิ่งที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ และสิ่งที่เกิดกระบวนการสังเกตเห็นว่า มีสภาวธรรมต่างๆปรากฏขึ้นไปที่กายที่จิตของเรา
กาย เวทนา จิต ธรรม ที่มันแสดงอาการของมันเองโดยไม่มีเจตนา นั่นแหละคือตัวที่จะพาเราไปเห็นถึงความเป็นอนัตตา แต่ทั้งหมดมันจะต้องเริ่มจากการแยกออกระหว่างความมีเจตนากับความไม่มีเจตนา
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหลวงปู่เทียน ถึงให้เราเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ โดยมีเจตนา เข้าใจยังทีนี้ เคลื่อนไหวทีละจังหวะด้วยความตั้งใจ โดยมีเจตนา แล้วอาการอื่นๆมันจะปรากฏด้วยตัวของมันเอง เพราะมันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มันเป็นทุกขัง ทุกขังมันบีบคั้นมันอยู่แล้ว นั่นคือสิ่งที่พระอาจารย์จับเคล็ดได้ ตอนที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่าให้ตั้งใจทำทีละครั้ง รู้ทีละครั้ง จบทีละครั้ง พอตั้งใจทำแบบนี้ ภาวะแห่งการสังเกตการณ์มันเกิดขึ้น มันจึงสังเกตเห็นอาการเกิดขึ้น เข้าใจไหม นั่นคือเรื่องสำคัญมาก
อาจารย์เห็นหลายที่สอนกัน (ทำท่ายกมือ) จื้บๆ จื้บๆ หนักกว่านั้นมีฟันศอก สับศอกด้วย
ถามว่า “ท่านทำอะไรขนาดนั้น”
“ เดี๋ยวมันง่วง”
“ ท่านปฏิบัติโดยปฏิเสธความง่วงเหรอ ท่านปฏิบัติโดยรังเกียจความง่วงเหรอ”
พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้เรารังเกียจมัน แต่ท่านบอกให้เราเห็นมัน อย่างที่มันเป็น เพราะฉะนั้นหลายคนถาม แล้วพระอาจารย์ครรชิตยกยังไง ผมยกจังหวะเดียวตลอด มันจะง่วงผมก็อยู่จังหวะนี้ มันไม่ง่วงผมก็อยู่จังหวะนี้ ผมตั้งเจตนาอย่างนี้ เพื่อกระตุ้นธาตุรู้ให้มันตื่น แล้วให้ธาตุรู้มันสังเกตอาการที่ปรากฏ ผมจึงเห็นและผมจึงเข้าใจ
การที่เราเคลื่อนแล้วหยุด เคลื่อนแล้วหยุด มันคือกระบวนการเปิดโอกาสที่จะให้ธรรมชาติของกาย เวทนา จิต ธรรม หรือของขันธ์5 มันได้ทำงาน ทำของมัน แต่เราจะเป็นผู้สังเกตเห็นมัน อันนี้จึงเรียกว่าวิปัสสนา ไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่นึกเอา แต่ให้มันทำงาน
เพราะฉะนั้นการที่หลวงปู่เทียนบอกว่า
“ความคิดยิ่งเร็วเท่าไหร่ แล้วเรารู้ทันมันเท่าไหร่ มันจะเร็วขึ้น เร็วขึ้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น”
จริงนะ ความรู้สึกตัว มันจะละเอียดลง ละเอียดๆ ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ มันไม่ได้ทำให้ความคิดน้อยลงนะ ยกมือสร้างจังหวะ เข้าใจให้มันถูกซะ มันก็คิดของมันเหมือนเดิมน่ะแหละ แต่เราจะรู้ทันมันมากขึ้น เมื่อรู้ทันมันมากขึ้น นั่นต่างหากที่พาเราพ้นจากมัน
เพราะเมื่อใดก็ตามที่รู้ทันความคิดเร็วขึ้นๆ เห็นกระบวนการของมัน คุณจะเห็นเลยว่า นี่คือความไร้สาระมากกับความคิด มันแค่เอาความทรงจำบางอย่างมาปะติดปะต่อกันแค่นั้นเอง แล้วสร้างเป็นความคิดขึ้นมา สัญญากับสังขารขันธ์มันทำงานไง ถ้าคุณสังเกตเห็นมันดีๆ คุณจะเห็นความไร้สาระเลยว่า มันแค่เอานั้นมาแปะ เอานี้มาแปะ เอานั้นมาแปะ มาแปะ ทำความคิดให้เกิดขึ้นแค่นั้นเอง แต่ว่าความไม่รู้ เราไม่เคยสังเกต เราไม่เคยใส่ใจที่จะเรียนรู้กับมัน เราจึงหลงไปกับมันอยู่ร่ำไป จริง
เพราะฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติเราจึงไม่ใช่ว่า
“ทำไป เดี๋ยวมันก็รู้เอง”
“จ้า ทำมานานหรือยัง”
ทำไป เดี๋ยวมันก็รู้เอง เนี่ย..ทำมานานหรือยัง อือ..ต้องขอบคุณศรัทธาที่ยังหล่อเลี้ยงให้ยังอยู่ในเส้นทาง ทั้งๆที่ไม่ได้ผลอะไรเลย เข้าใจยัง
เพราะฉะนั้น แต่ละอย่างที่พ่อแม่ครูอาจารย์สอน แต่ละสิ่งที่พ่อแม่ครูอาจารย์พาทำ มันมีกระบวนการของมันจริงๆ เราไม่ได้สักแต่ว่าทำตามท่าน แต่เวลาท่านสอนเรา เราได้ใส่ใจที่จะสังเกตสิ่งที่ท่านสอนอย่างจริงจังขนาดไหน พ่อแม่ครูอาจารย์สอนเทคนิคให้เรา เพื่อหวังให้เราเนี่ย เดินบนเส้นทางนั้นตามท่าน
ย้ำอีกครั้งความรู้สึกตัวที่มันเกิดขึ้นจริงๆนี่ มันไม่ใช่อยู่ที่การยกมือฉึบฉับๆ แต่ความรู้สึกตัวที่มันเกิดขึ้นน่ะ มันเกิดจากการที่ ธาตุรู้มันตื่นขึ้นมา เห็นอาการของกายของจิต นั่นแหละคือความรู้สึกตัว แต่ทั้งหมดมันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามันไม่ถูกกระตุ้นให้ตื่น
เพราะฉะนั้นการที่พระอาจารย์พูดมาถึงตรงนี้ ก็เพื่อต้องการให้เข้าใจว่า บนเส้นทางที่หลวงปู่เทียนสอน หลวงพ่อคำเขียนต่อ แล้วอาจารย์เรียนกับหลวงพ่อคำเขียนต่อมา มันคือเทคนิคง่ายๆ เรียบง่ายแต่เป็นจริง มันเป็นจริง มันได้ผลจริง และมันไม่อิงกับไอ้เรื่องมหัศจรรย์อะไรด้วย อย่างที่อาจารย์พูดตั้งแต่ตอนเริ่มต้นว่า คำสอนของหลวงปู่เทียน คำสอนของหลวงพ่อคำเขียน มันไม่มีเรื่องมหัศจรรย์อะไรเลย แต่ความมหัศจรรย์ที่แท้จริงคือภาวะที่มันสัมผัสได้ กับสภาวะธรรมที่มันมีอยู่แล้วจริงๆ
เราไม่ได้ทำเพื่อไปสร้างสภาวะธรรม ไปค้นหาสภาวะธรรม สภาวะธรรมมันทำงานของมันมาชั่วนาตาปี เรามีหน้าที่อย่างเดียวเท่านั้น กระตุ้นธาตุรู้ขึ้นมาให้มันตื่น แล้วสังเกต ให้ธาตุรู้ของเรามันสังเกตทุกอาการที่ปรากฏอย่างรอบด้าน ย้ำว่าอย่างรอบด้าน เพราะคุณจะเห็นภาวะที่มันมีซ้อน2 ซ้อน3 กับสภาวะที่ปรากฏจริงๆ
วันนี้คุณอาจเห็นแค่นี้ แต่ถ้ามันมีอาการเดิมปรากฏ คุณจะเห็นสิ่งที่มันซ้อนอยู่ข้างใน นี่คือเรื่องราวของการสังเกต โดยใช้การเคลื่อนไหวเป็นฐาน ทำไมต้องใช้การเคลื่อนไหวเป็นฐาน ก็อย่างที่บอกไง ว่าความตั้งใจจะเป็นตัวกระตุ้นธาตุรู้ให้ทำงานได้ดีขึ้น อย่างที่1
อย่างที่2 เมื่อมันตื่นขึ้นมาแล้ว มันจะกลายเป็นผู้สังเกตการณ์ แล้วเมื่อมันเป็นผู้สังเกตการณ์ โอกาสที่มันจะไหลไปในความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ต่างๆ มีไหม มี แต่ความมีเจตนาที่จะตั้งใจทำใหม่ จะดึงให้เรากลับคืนมา ไม่ไหลเข้าไปในรู้สึก นึกคิด อารมณ์ อะไรต่างๆได้ง่าย เข้าใจยังทีนี้
เพราะฉะนั้น การทำ14จังหวะ จึงเป็นไปเพื่อให้เกิดวิหารธรรมในลำดับต่อมา เป็นกรรมฐาน ลำดับเบื้องต้นกระตุ้นธาตุรู้ ในท่ามกลางกลายเป็นวิหารธรรม และในเบื้องปลายมันจะทำให้เราแยกระหว่างเจตนากับไม่เจตนาออก แล้วมันจะเห็นความไม่มีเจตนามากมาย นั่นแหละ.. เราจึงเรียกว่าเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และความเป็นอนัตตาที่มันไม่ใช่เรา ที่มันทำงานของมัน ด้วยตัวของมันเอง แม้เราจะใส่เจตนาเข้าไป เดี๋ยวเจตนาก็จะหาย เพราะงั้นหลายๆคน จึงแบบ
“มันเป็นอะไรอ่ะ อาจารย์ ทำไมมัน ตั้งใจใหม่มันยังหลง ตั้งใจใหม่มันก็ยังหลงอีกๆ”
“มันไม่ได้หลง มันเป็นอนัตตาๆ”
เพราะฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติ มันจึงไม่ใช่เรื่อง เรื่องไปหมกมุ่นอยู่ว่า ฉันจะไม่หลง ฉันจะไม่หลง รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็รู้ หลงก็รู้ ไม่หลงก็รู้ แต่ภาวะที่มันรู้อย่างเนี้ย มันจะค่อยๆ ค่อยๆจำแนกแยกแยะให้เราเข้าใจมากขึ้นเอง เข้าใจไหม
ตั้งใจทำเพื่อจะเห็นความไม่ตั้งใจ เพราะความไม่ตั้งใจนั่นแหละ ความไม่มีเจตนานั่นแหละ คือความเป็นอนัตตา ของสภาวธรรมต่างๆที่มันจะปรากฏให้เราเห็น ลองสังเกตดูเถอะ ลองทำดูเถอะ ทำอย่างที่อาจารย์ว่านี่
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมที่อาจารย์สอน ทำไมคนเขาถึงบอกว่า เอ่อ..มันดูง่ายดีเนาะ มันยากตรงไหน เอาปากกามาวง มันยากตรงที่เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติ บางคนบอก
“อุ้ย..ขยับมือเร็วๆ มันจะได้ตื่น มันจะได้ตื่น”
“จ้ะ ไม่ต่างกับสมถะ เพราะมันจะไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น มากเกินไป”
ในขณะที่เราเคลื่อนแล้วหยุด หลวงปู่เทียนบอก ทำซ้าซ้า (ทำช้าๆ) เนี่ยมันมีเจตนาอยู่ตรงนี้ แต่เชื่อไหม สักแป้บนึงมันจะไปเห็น..หายใจ..
สักพักนึงมันจะไปเห็น..กระพริบตา
สักพักนึงมันจะไปเห็นคันตรงนั้น คันตรงนี้
สักพักนึงจะไปเห็นปวด เห็นเมื่อย
สักพักนึงจะไปเห็นร้อน เห็นหนาว
สักพักนึงจะไปเห็นความคิด เดี๋ยวก็แว้บไป เดี๋ยวก็แว้บไป ใช่หรือไม่
แต่คนส่วนใหญ่ ไปทำอะไร กลับมานี่ ออกมาอีกละ แล้วก็ด่าตัวเอง ว่าตัวเองอยู่นั่นแหละ ทุกข์หรือยัง ด่าตัวเองว่าตัวเองน่ะทุกข์ไหม มันทุกข์นั่นแหละ มันถึงด่าถึงว่าตัวเอง มันทุกข์กับอาการของกายของจิตที่มันทำงาน เข้าใจยัง แล้วเราก็ไปด่าไปว่า แทนที่จะเห็นว่า อ๋อ..มันก็เป็นอย่างนี้
วิปัสสนา ไม่ได้พาเราไปบังคับให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่วิปัสสนาคือการเห็นอย่างที่มันเป็น เห็นมันอย่างที่มันเป็น แต่มันก็ต้องมีวิธีการบางอย่าง เพื่อจำแนกแยกแยะให้เกิดความแตกต่าง ให้เห็นความแตกต่างระหว่างเจตนา กับไม่เจตนาให้เป็น
เพราะฉะนั้น อาจารย์จึงบอกว่า เวลาเราปฏิบัติ ถ้ามันไม่มุ่งเรื่องความสงบเสียอย่างเดียว ฉลาดขึ้นเยอะ จริง เพราะขณะที่เราไม่มุ่งเรื่องความสงบ หรือไม่มุ่งที่จะทำอะไรเลย แต่เราแค่ตั้งใจทำทีละครั้ง รู้ทีละครั้ง จบทีละครั้งไป แล้วเกิดกระบวนการสังเกตทุกอาการที่ปรากฏ มันจะปรากฏอะไรให้เห็น ก็สังเกตเห็นไป มันจะเกิดอะไรขึ้นก็เห็นมันไป เข้าใจหรือยัง แต่เราก็กลับมาที่รู้สึกตัว เนี่ย กลับมาที่กรรมฐานของเรา
กรรมฐานที่เราตั้งขึ้นไว้ มีเจตนาไหม สักวันนึงมันจะแยกทุกสิ่งทุกอย่างออกเองว่า อ๋อ..ภาวะเจตนามันเป็นอย่างนี้ ภาวะไม่เจตนามันเป็นอย่างนี้ และภาวะที่ไม่เจตนานั้นน่ะนั่นแหละ คือ ภาวะไม่มีเรา ความมีเจตนานั่นแหละเป็นเรา แต่ความมีเจตนานั้น เดี๋ยวมันก็จะหายไปเอง กลายเป็นความไม่มีเราเหมือนดิม เข้าใจไหม ฟังดูยากไหม
“พระอาจารย์”
“ว่า..ใครถาม ใครเรียก ยกมือ ใครเรียกอาจารย์ครรชิตครับ แล้วใครถาม ใครเรียกทำไม เรียกนึกว่าจะถาม ถามได้นะ มั่นใจว่าตอบได้ ถ้าถามเรื่องปฏิบัติ”
“พระอาจารย์ครับ ขณะที่เราคิดจะมีงงครับ”
“งง เรื่องอะไร”
“ไปไม่เป็น”
“เวลามันคิด แล้วจะงง ไปไม่เป็น กลับมารู้สึกตัวสิ ไปไม่เป็นกลับมารู้สึกตัว แค่นั้นเอง ไม่ต้องไปงง ไม่ต้องหาคำตอบอะไร มันคิด อ๋อ..เหรอ ช่างมันกลับมารู้สึกตัวเลย เพราะเราบอกแล้วว่าให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ ใช่หรือไม่ ไม่ต้องไปคิดหาคำตอบนะ คิดรู้ว่ามันคิดพอ แค่นั้นเอง ถ้ามันคิดรู้ว่ามันคิดแล้วกลับมารู้สึกตัว กลับมาที่กรรมฐานที่กรรมฐาน เข้าใจไหม”
“มีอีกมั้ย.. โอ้โห..ไม่มีคำถาม มันมีแค่2กรณีนะเว้ย คือ
1.เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง กับ
2.ไม่รู้เรื่องเลย”
อาจารย์คิดว่าอาจารย์คงสื่อสารเป็นอยู่นะ ไม่ได้สอนที่มันยากเกินเนาะ เพราะงั้น แค่นี้ละครับ ตั้งใจทำทีละครั้ง รู้ทีละครั้ง จบทีละครั้ง จังหวะเหมือนเดิมตลอด
- มันจะง่วงก็จังหวะเดิม เพราะพอคุณตั้งใจปุ๊บ เดี๋ยวง่วงมันก็หายเอง แล้วคุณจะ
สังเกตเห็นความง่วงเกิดขึ้นแล้วมันก็หายไป มันจะกลับมาง่วงอีกกี่ร้อยกี่พันรอบก็เห็น เห็นมันเกิดแล้วก็ดับไป
- มันจะคิดกี่ร้อยกี่พันครั้งมันก็จบไป แล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่ แค่นี้ แล้วก็สังเกตไป
เรื่อยๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น
ความสำคัญคือการสังเกตอย่างรอบด้าน กับทุกสภาวะที่ปรากฏ มันไม่ใช่ไปนั่งสังเกตแบบไม่มีฐานนะ สายเจริญสติของพวกเราน่ะโชคดีมากๆ ตรงที่หลวงปู่นี่วางฐานเอาไว้ให้แน่นมากเลยว่า ให้อยู่กับการความรู้สึกการเคลื่อนไหวนี่เป็นฐานหลัก มันจึงเป็นหลักประกันที่จะทำให้เราไม่ไหลไปยาว เพราะอย่างน้อยๆมันจะกลับมา แล้วการเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง แล้วการเริ่มใหม่ทุกครั้งมันจะกระตุกให้กลับมาง่ายขึ้น เข้าใจไหม
“เชิญครับ ขอไมค์แป้บนึงครับ “
“พระอาจารย์คะ ถ้าการนั่งลักษณะที่พระอาจารย์บอกยกมืออะไรพวกนี้ แล้วการเดินจงกลม เราจะสังเกตเห็นอะไรแบบเดียวกันไหมคะ แบบปรากฏการณ์”
“เหมือนสิ เพราะเราเปลี่ยนแค่จากระลึกรู้ที่มือกับแขนใช่ไหม มาเปลี่ยนเป็นขาและเท้าที่เคลื่อนไหว มันต่างกันตรงไหนล่ะ เรียกวาว่ามันตั้งใจเดิน มันก็ตั้งใจเดินเหมือนกัน ก็ตั้งใจเดินเนี่ย ตั้งใจเดินอย่างสม่ำเสมอของเราไปเนี่ย เห็นไหม มันก็ไม่ได้ต่างกันจากการยกมือสร้างจังหวะ ใช่หรือไม่
ก็อาศัยการระลึกอยู่กับอาการเคลื่อนหยุด เคลื่อนหยุด เหมือนเดิม แล้วยิ่งดีนะ เวลาเดินจงกลมน่ะ เห็นขาตัวเองไหม เห็นเท้าตัวเองไหม นั่นน่ะสิ เพราะเวลามันไม่เห็นขาเห็นเท้าตัวเองนิ มันก็เลยไประลึกอยู่กับอาการเคลื่อนหยุด เคลื่อนหยุด ได้ง่าย ไม่สำคัญหมายว่าเป็นขา เป็นแขน เป็นแค่ความรู้สึกของอาการเคลื่อนหยุด เคลื่อนหยุด นั่นคือเรื่องสำคัญมากด้วยๆ ที่มันสามารถไประลึกแค่อาการเคลื่อนหยุด เคลื่อนหยุดได้
เพราะต่อไปนิ คุณเข้าใจความจริงมากขึ้น มากขึ้น คุณจะเห็นเลยว่า เฮ้ย..มันคือการเกิดดับ เกิดดับ ของอิริยะบถทุกขณะเลย”
“ค่ะพระอาจารย์ ”
“เชิญ”
“พอดี สายปฏิบัติ..ถ้าเกิดเวทนาขึ้นมา ให้เปลี่ยนอิริยะบถเลย แต่ถ้าเป็นสายหลวงพ่อเทียน ให้ทำต่อไปเรื่อยๆใช่ไหมคะ ที่เมื่อกี้ที่พระอาจารย์บอกว่า ง่วงก็ทำต่อไปสิ แล้วก็จะเห็นอาการเกิด การดับ ให้ทำยังไงคะ”
“ไปเข้าคอร์สอาจารย์ไหม แปลว่าไม่เคยเข้าคอร์สอาจารย์ใช่ไหม นั่นไง ถ้าเข้าคอร์ส อาจารย์แล้ว ไม่มีคำถามแบบนี้หรอก เผอิญไปเข้าหลายอาจารย์ อาจารย์นั้น อาจารย์นี้ เมื่อกี้บอกเองนะ มาเข้าอาจารย์นี้ดูสิ แล้วจะเข้าใจว่า อ๋อ..ให้ทำยังไง”
ในเวลาที่เรา สมมติว่ามีเวทนาปรากฏใช่ไหม แทนที่เราจะเอาถูกเอาผิดกับเวทนาเนาะ ถ้ามันยังสู้ไม่ได้ ยังต้านไม่ไหว ให้ตั้งใจ ไม่ใช่อยากเปลี่ยนก็เปลี่ยน เคยได้ยินที่ว่า
“อิริยะบถมันบังทุกข์” เคยได้ยินไหม เพราะเราเปลี่ยนอิริยะบถแบบไม่ได้ตั้งใจ หรือแบบไม่มีกรรมฐาน เป็นการเปลี่ยนอิริยะบถตามความอยาก มันเลยบังไม่ให้เราเห็น ความเป็นทุกข์กาย แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม เราสังเกตความเป็นทุกข์กาย อันเกิดขึ้นจากเวทนาที่มันทำงาน เราก็จะเห็นว่า อ๋อ..ที่มันต้องเปลี่ยนอิริยะบถนี่ เพราะมันเป็นทุกข์ เข้าใจยังทีนี้ เพราะมันเป็นทุกข์แล้วมันต้องการบำบัดทุกข์ เราก็จะเข้าใจทันทีว่า แท้ที่จริงแล้วทุกข์กายมันต้องบำบัด เพราะฉะนั้นไม่ว่าอิริยะบถใหญ่ อิริยะบถย่อยทั้งหลายทั้งปวง นั้นมันเป็น ทุกขัง มันทนอยู่ไม่ได้
“ มองมาที่อาจารย์สิ ลืมตามองมาทุกคน ห้ามกระพริบตา 5 นาที ได้ไหม”
“ไม่ได้”
“ทำไม มันเป็นทุกข์ มันแสบ มันปวด มันร้าว มันเป็นทุกข์ แล้วทำไง กระพริบตาปั๊บ หายทุกข์ เพราะฉะนั้นแปลว่าทุกข์กายนี่มันมี 2 อย่าง คือวิธีการจัดการกับทุกข์กายมี 2อย่างละ 1.คือมันบำบัดด้วยตัวมันเองได้ 2. เราต้องช่วยมันบำบัด แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ไปจนตาย
ในขณะที่จิต สังเกตดูไหม มันคิดอยู่ทั้งวันน่ะแหละ ใช่ไหม แล้วเราทำยังไงกับมัน โอเค เพราะมันเป็นทุกขัง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มันก็ต้องเปลี่ยนสภาพเป็นความคิดไปเรื่อยๆ อันนี้ยอมรับไปเลยว่ามันเป็นเพราะไตรลักษณ์ ไม่ต้องไปวุ่นวายกับมัน ไปทำอะไรกับมัน และมันมี เพราะฉะนั้นอาการกาย อาการจิต มันอยู่ภายใต้ความเป็นทุกขัง ความเป็นอนัตตา
มันมีทุกข์เดียวเท่านั้นที่เราต้องไปแอคชั่นกับมัน “ทุกข์อุปทาน” เวลาใจมันหลงไปยึดในอาการของกาย ในอาการของจิต แล้วมันมีความเป็นทุกข์ซ้อน ในรูปแบบของความคิดขึ้นมา ตรงนั้นน่ะไปสังเกตให้เห็น กลับมารู้สึกตัว ถอนอุปทานซะ เข้าใจยังทีนี้ ฝึกถอนอุปทานด้วยการกลับมารู้สึกตัว แค่นั้นน่ะ ทุกข์อุปทานดับ เพราะฉะนั้นทุกขังของกาย ทุกขังของจิต มันจะดำเนินไปจนกว่าเราจะตาย มีสิ่งเดียวที่ต้องทำคือ ถอนอุปทาน
เมื่อใจมันหลงไปยึดในอาการของกายของจิต แล้วเป็นทุกข์ เรียกว่าทุกข์นั้น “ทุกข์อุปทาน นั่นคือ ทุกข์ในอริยสัจ” เพราะมันมีสาเหตุคือใจหลงไปยึด เพราะฉะนั้นทุกข์กาย มันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันตาย มันป่วย มันหิว มันกระหาย มันร้อน มันหนาว มันเป็นธรรมชาติ เราชนะคะคานไม่ได้ บางอย่างมันบำบัดด้วยตัวมัน บางอย่างเราต้องช่วยมันบำบัด แต่ถ้าจิตมันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มันเปลี่ยนเป็นความคิด ทิ้งไปเลย แค่รู้มันแล้วทิ้งไป มันเป็นธรรมชาติของจิต ที่ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะมันทนอยู่ไม่ได้
เพราะงั้นมีเรื่องเดียวที่ต้องทำคือ ถ้าใจมันเผลอคิดซ้อนลงไป นี่แหละ มันจึงเป็นความคิดที่ละเอียดลงไป หลวงปู่เทียนบอกว่า ยิ่งเรารู้ทันความคิดที่มันเร็วขึ้นเท่าไหร่ เร็วขึ้นเท่าไหร่ มันยิ่งละเอียดลงไป ละเอียดลงไป ในภาวะที่ซ้อนลงไปเนี่ยที่เราจะเห็น
เพราะทั้งหมดทั้งสิ้นมันจึงไม่ใช่.. ทำไปเถอะ เดี๋ยวก็รู้เอง ทั้งหมดมันต้องมีวิธี ทำถูกวิธี มันก็ไปได้ไว ทำผิดวิธี มันก็ไปได้ช้า แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นที่พูดมา มันจะไม่เกิดขึ้นจริง ถ้าคุณไม่ทำ ใช่หรือไม่ อย่าคิดว่า ฟังแล้วจะเข้าใจ อย่าคิดว่า ฟังแล้วเข้าใจแล้วล่ะ ฝันไปเถอะ
เพราะการออกจากทุกข์ได้ มันไม่ใช่ความจำ มันไม่ใช่ความรู้ แต่มันคือ Skill เข้าใจไหม มันต้องฝึกฝน จนมันกลายเป็นทักษะ กลายเป็น skill แล้วเมื่อมันเป็น skill แล้ว เป็นทักษะที่ชำนาญแล้ว มันก็เป็นเลย ไม่ทุกข์แล้ว ก็ไม่ทุกข์เลย ไม่เป็นทุกข์แล้ว ก็ไม่เป็นทุกข์เลย
“ถีบจักรยานเป็นไหม เป็นหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ถีบ 3 ปี 10ปี จะถีบได้ไหม”
“ได้”
“เพราะอะไร”
“มันเป็นแล้ว”
เพราะฉะนั้น พ่อแม่ ครูอาจารย์ทั้งหลายท่านจึงไม่ทุกข์ เพราะเป็นแล้วไง เป็นผู้ไม่ทุกข์ไปแล้วไง คือมันเป็นไปแล้วไง หลวงพ่อคำเขียนบอก ไหนทุกข์มันเป็นยังไง ไม่เห็นหน้าตามันนานแล้ว ท่านว่า จริง พูดถึงหลวงพ่อคำเขียนแล้วก็ อาจารย์ก็มีพ่อแม่ครูอาจารย์อยู่คนเดียว พ่อแม่ครูอาจารย์อยู่รูปเดียวนิแหละ
แต่เราก็ยังกล้ายืนยันว่า ความเป็นหลวงปู่เทียนนี่คือสุดจริงๆนะ หลวงปุ่เทียนไม่ได้มีทฤษฎีอะไรมากมาย Skill ล้วนๆเลย หลวงปู่เทียนนี่ จริง แล้วเวลาหลวงปู่เทียนพูดเรื่องความไม่ทุกข์นี่ หลวงปู่เทียนอาจหาญมากนะ ไม่มีมหัศจรรย์พรรณลึกอะไรเลย ตรงๆ ไม่มีมหัศจรรย์ พูดเหมือนโลกธาตุถล่มทลายอะไรแบบนั้น ไม่มี หลวงพ่อคำเขียนก็ไม่มี มีแต่ตรงๆกับสภาวะที่ปรากฏ รู้แล้วเข้าใจกับมัน แล้วทุกอย่างมันจะเป็นไปด้วยตัวของมันเอง
ขอเพียงอย่างเดียว “ตั้งใจทำ” สังเกตรอบด้านกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น แยกระหว่างเจตนา กับไม่เจตนาให้เป็น แค่นั้น
มันจึงเหมือนกับว่าเราทำกรรมฐาน เพื่อมีเจตนา และเพื่อจะเห็นที่ไม่มีเจตนา เพราะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันอยู่ในภาวะของความที่ไม่มีเจตนานั่นแหละ เข้าใจไหม แล้วทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง มีเพียงความหลงที่เราไม่รู้ทัน เราจึงหลงเข้าไปเป็นกับมัน เพราะงั้นในเมื่อเราไม่เข้าไปเป็นกับมัน มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มีเพียงเราที่ไม่เป็นอีกต่อไป
เพราะงั้นไม่แปลกใจที่หลวงพ่อคำเขียนท่านบอกว่า เราไม่เป็นอะไร กับอะไร กับอาการที่เกิดขึ้นกับกายกับใจอีกต่อไป เข้าใจไหม เนี่ย เราถึงบอกว่า โอ..หลวงพ่อคำเขียนพูดคำนี้เด็ดขาดมาก มันทำให้เห็นเลยว่านี่ไง เพราะนั้นอาการของกายของใจ มันต้องมีของมันอยู่วันยังค่ำน่ะแหละ ใช่หรือไม่ แต่ความเข้าใจที่แท้จริงแล้ว ทำให้ไม่เป็นอีกต่อไป ไม่มีผู้ไปเป็นอีกต่อไป
คิดว่าน่าจะพอเวลาแล้วล่ะ ปกติก็ไม่คิดนานหรอก ส่วนมากจะพาปฏิบัติ จะอธิบายมากกว่าเวลานั้น เนาะ ก็ขอยุติเพียงเท่านี้ละกัน เพราะพระอาจารย์ต้องเดินทางกลับชัยภูมิ แล้วก็ก็ถ้าออกตอนนี้ก็จะถึงโน่นประมาณสักตีหนึ่ง อย่างเร็วนะ ถึงชัยภูมิประมาณ ตีหนึ่งก็นั่นแหละ ชีวิตตอนนี้ก็มีแต่เรื่องของการทำ ทำเพื่อการเจริญสติ แล้วก็สอนพระศาสนา
“ว่าไงครับ แหม พอจะให้ถามก็ไม่ถาม พอจะกลับก็จะถาม ว่ามา”
“จะถามว่าเราเจริญสติด้วย 14 จังหวะ ควรจะลืมตาหรือหลับตาคะ”
“โอว.. เพิ่งเข้ามาในวงการไหม เขาไม่หลับตากัน เพราะว่าอะไร เพราะว่า นี่ไง เราลืมตานี่ เพราะในชีวิตจริงเราไม่ได้หลับตา หลวงปุ่เทียนก็ไม่ได้สอนว่าต้องหลับตา ปิดกั้นการชนของอายตนะ ตาเห็นก็เรื่องของมัน ให้ดูใจที่มันคิด หูได้ยินก็เรื่องของมัน ให้ดูใจที่มันคิด จมูกได้กลิ่นก็เรื่องของมัน ให้รู้ทันใจที่มันคิด ลิ้นสัมผัสรส ก็ให้รู้ทันใจที่มันคิด เข้าใจไหม เอ่อ ..เนาะ ไม่ต้องไปกลัวหรอก เห็นก็เห็นเว้ย แต่รู้ว่าคิดอะไรทันก็จบ”
“มีอีกไหม ไม่กล้าถามอีกล่ะสิ ถามมาเถอะ เร็ว”
“สมมติว่าชีวิตอยู่นอกบ้าน ถ้าจะปฏิบัติบนรถเมล์ยังไงได้ ถ้าคลึงนิ้ว..”
“เอ่อ นี่ไง อย่าคลึงนิ้ว คลึงนิ้วมันลากยาวไป เคาะนิ้วให้มันเป็นจังหวะ เข้าใจไหม ให้มันเป็นจังหวะยืนยันว่าให้มันเป็นจังหวะ หลายคนทำ 14 ท่าจังหวะเดียว ๆ เคลื่อนแล้วหยุดๆ เข้าใจไหม เพราะฉะนั้นอยู่บนรถเหรอ เข้าใจไหม เคาะ ค้าง เคาะขาได้ไหม แล้วเวลาจะทำอะไรก็ตาม ตั้งใจทำ เปลี่ยนวิถีชีวิตจากความเคยชิน มาเป็นความตั้งใจซะ เข้าใจไหม”
หลายคนตั้งใจเฉพาะทางจงกลม ตั้งใจเฉพาะอยู่บนอาสนะ แล้ววันทั้งวันนั้น ก็เลินเล่อๆไปเรื่อยมันจะก้าวหน้าไหม เพราะฉะนั้นให้ตั้งใจทำ ตั้งใจทำ ตั้งใจทำใหม่ๆไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะเคยชินกับการที่จะตั้งใจ เข้าใจไหม ลงปั๊บมันตั้งใจใหม่ปั๊บเลย ลงปั๊บมันตั้งใจเลย จะกลับมารู้สึกตัวได้ไวขึ้นด้วย เข้าใจไหม มีอีกไหม
“มีค่ะ ถ้าเราต้องทำงานด้วยอย่างนี้น่ะค่ะ การที่เราจะมาสร้างจังหวะในรูปแบบเนี่ย ควรทำเช้า-เย็น หรือว่าประมาณเวลาเท่าไหร่คะ ถึงจะ เอ่อต่อเนื่อง”
“นี่แหละ มีเขียนใส่กระดาษน้อยขึ้นมาถาม ตอนเปิดคอร์สยุวพุทธ พระอาจารย์คะ เราออกจากคอร์สแล้ว จะเจริญสติวันละกี่นาทีดีคะ”
“วันละกี่นาที ถามวันละกี่ชั่วโมงดีกว่า ถ้าเราไม่มีเวลาว่าง ตื่นประมาณกี่โมง”
“8โมง”
“เริ่มงานกี่โมง คุณต้องเริ่มงานกี่โมง”
“8โมง”
“โอเค ถ้าคุณต้องเริ่มงาน8โมง ตื่น 07.30 น. 30นาทีแรก ก่อนคุณจะเริ่มกิจกรรมอะไรของคุณก็ตาม อ่ะ ..สมมติว่าคุณตื่นนอน ตี5 หรือตี5ครึ่งเนาะ แล้วคุณต้องเริ่มกิจกรรมตอน 6 โมง เพราะงั้น ขอให้คุณตื่นขึ้นมาก่อนกิจกรรมน่ะ สัก 30 นาที แล้วเดินจงกลม เดินจงกลมบ้าง ยกมือสร้างจังหวะบ้างสัก30นาที แล้วหลังจากนั้นก้เริ่มกิจกรรมของคุณไป
ตอนกลางวัน ทานข้าวเสร็จ แทนที่จะเล่นโทศัพท์ เดินจงกลมสัก30นาที แล้วก็ทำงานไป
ตอนเย็นเลิกงานก่อนจะกินข้าว ก็เดินจงกลม สัก30นาที
ก่อนจะนอน สัก30นาที มันไม่เบียดเบียนเวลาคุณมากใช่ไหม ถ้าคุณทำได้อย่างนี้คุณก็จะสามารถค่อยๆเติมไปในรูปแบบนะ แต่ข้างนอกรูปแบบ พอจ.อยากบอกว่าขณะที่คุณทำอะไรก็ทั้งวันน่ะ ขอให้คุณ ตั้งใจทำๆ ตั้งใจทำ” เชิญ
ใส่ความเห็น