“…พระพุทธเจ้าสอนอริยสัจ ๔
เป็นหัวใจพุทธศาสนา เป็นแก่นพุทธศาสนา
คำว่า‘อริยสัจ ๔’ เราพูดได้…‘ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค’
เพราะท่านสอนอย่างนั้น
แล้วทีนี้ก็ไปนั่งกรรมฐานกัน
๑.กายานุปัสสนา-ให้รู้จักกายในกาย
กายในกาย ก็คือให้รู้จัการเคลื่อนไหวในกายนี้เอง
๒.เวทนานุปัสสนา ให้รู้จักเวทนาในเวทนา-คือการเคลื่อนไหว
ทุกข์-สุขมันอยู่ที่ตรงนี้ ให้พิจารณาอันนี้
๓.จิตตานุปัสสนา ให้พิจารณาจิตในจิต
นี่-ท่านสอนให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ของจิต จึงจะพิจารณาจิตได้
บัดนี้ ๔.ธรรมานุปัสสนา ให้พิจารณาธรรมในธรรม
ธรรมคือมือเราทำดี-ทำชั่วนี่ เท้าเรานี่ก็ทำดี-ทำชั่ว
คำพูดเรานี่ก็ทำดี-ทำชั่ว จิตเรามันคิดขึ้นมา…มันก็คิดดี-คิดชั่ว
พิจารณาที่ตรงนี้เอง จึงจะเรียกว่า‘พิจารณาธรรมในธรรม’
อันนี้เรียกว่า‘ใช้สติปัญญา’
อยู่ที่ไหนก็เป็นวัด-อยู่ที่ไหนก็เป็นการปฏิบัติธรรม
อยู่ที่ไหนก็อยู่กับพระ ‘พระ’จึงแปลว่าผู้สอนคน
ตัวเรานี่แหละเป็นพระ ตัวเรานี้แหละเป็นบัณฑิต
ตัวเรานี้แหละเป็นคนพาล ตัวเรานี้แหละเป็นผู้ไปตกนรก
ตัวเรานี้แหละเป็นผู้ไปสวรรค์ ตัวเรานี้แหละเป็นผู้ไปนิพพาน
ท่านจึงสอนย้ำเข้ามา คำเก่านี้แหละ-คำเดิมนี่แหละ
มันเป็นได้ทั้งเปลือก-เป็นกระพี้ เป็นแก่น-เป็นแกน
มันลึกเข้าไป ลึกเข้า-ลึกเข้า…จนถึงที่สุดของทุกข์
ขั้นต้นที่สุด ท่านสอนอย่างนี้ว่า‘ให้รู้จักทุกข์’
*ทุกข์เกิดขึ้นเพราะเรื่องอะไร อยู่ที่ตรงไหน ?
ทุกข์เกิดขึ้นเพราะความคิดเรานี่ออกนอกตัวเราไป
คิดเรื่องโน้น-คิดเรื่องนี้ คิดไปแล้ว-นอนไม่หลับ
เป็นบ้านะทีนี้ คนจึงเป็นบ้ากันเป็นจำนวนมาก*
แต่ไม่ใช่บ้าไม่นุ่งเสื้อ-ไม่นุ่งผ้า ไม่รู้จักอาย
บ้าอันนั้น มันบ้าหมดสติ-หมดปัญญา-หมดกำลัง-หมดเรี่ยวหมดแรง
*บ้าอันนี้-คือบ้าที่เราลืมตัวเราไปนี่ ทำผิด-พูดผิด-คิดผิดไปนี่
บ้าเพราะไม่รู้จักความคิดเรานี่ นี่แหละมันก่อตัวเล็ก ๆ ขึ้นมา
ก่อขึ้นมา-ก่อขึ้นมา โตขึ้น-โตขึ้น…ก็เลยเป็นบ้าไป ๑๐๐%*
นี่-มันเป็นอย่างนั้น
ดังนั้นเรียนหนังสือมาก ๆ ก็เป็นบ้าได้เช่นเดียวกัน
เรียนทางธรรมมาก ๆ ก็เป็นบ้าได้เช่นเดียวกัน
มีเงินมาก ๆ ก็เป็นบ้าได้เช่นเดียวกัน
ไม่มีเงิน ก็เป็นบ้าได้เช่นเดียวกัน
บ้าอันนี้อยู่กับคนทุกคน ไม่ยกเว้น
จึงว่า**ให้รู้จักทุกข์จริง ๆ ให้รู้จักเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดจริง ๆ
ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เรารู้แจ้ง-เห็นจริงตามความเป็นจริง**
ท่านว่าอย่างนั้น
ดังนั้น**ท่านจึงสอนให้เรารู้จักเรื่องอริยสัจ ๔ นี้จริง ๆ
ไม่ยาว ท่านว่า‘ใบไม้กำมือเดียว’**
ให้ทานก็มารวมที่ตรงนี้ รักษาศีลก็มารวมที่ตรงนี้
ทำกรรมฐานก็มารวมที่ตรงนี้ ทำวิปัสสนาก็มารวมที่ตรงนี้
ทำอะไร ๆ ทั้งหมดเลย ก็จะมารวมที่ตรงนี้
**จุดนี้แหละเป็นจุดสำคัญ ทำไมจึงว่าเป็นจุดสำคัญ ?
เพราะท่านสอน(เรื่อง)ทุกข์ กับเหตุที่ทุกข์เกิด**
ตัวเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น
ท่านเรียกว่า‘ทุกขสมุทัย-มุทัยทำให้ทุกข์เกิด’ นี่คำพูด
*ทุกข์เกิดขึ้น เพราะจิตใจมันออกนอกตัวเราไป-เราไม่รู้สึกตัวเรา
เมื่อมันคิดออกไปข้างนอก ไปรับอารมณ์ข้างนอก
ดีใจ-เสียใจ พอใจ-ไม่พอใจ ยึดถือ อยากได้อันนั้น-อยากได้อันนี้
เอาแล้ว! นั่นแหละตัวทุกข์-ตัวสมุทัย…ผลที่มันออกมาก็ได้รับทุกข์*
ท่านจึงว่า‘ทุกข์-ทุกข์’ ตัวนี้แหละมัน ๒ ศัพท์กลับกัน…ทุกข์-สมุทัย
*สมุทัยทำให้ทุกข์เกิด ก็ตัวนี้แหละที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น
ไม่อื่นไกลเลย น้อย ๆ นี่แหละ*
**‘มรรคเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์’ นี่คำพูด
มรรค คือเห็นการเคลื่อนไหวของเรานี้เอง
มันเคลื่อนไหวโดยวิธีใด ก็เห็น-ก็รู้
จิตใจมันนึก-มันคิด ก็เห็น-ก็รู้…จึงเป็นมรรค**
‘มรรค’แปลว่าดู มรรคแปลว่าชม
‘มรรค’แปลว่าเบิ่ง(ดู) ‘มรรค’แปลว่าสัมผัส
‘มรรค’แปลว่าแนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ท่านว่าอย่างนั้น
จึงเป็นข้อปฏิบัติ กล่าวคือ**ปฏิบัติที่ตรงนี้-ใจนะ(ที่เป็น)ตัวปฏิบัติ
ไม่ใช่เอามือปฏิบัตินะ ตัวใจโน่นนะปฏิบัติ
ตัวสติ-ตัวสมาธิ-ตัวปัญญา
ตัวเห็นแจ้ง-ตัวรู้จริงในจิตใจที่มันนึกมันคิดโน่นนะ(เป็น)ตัวปฏิบัติ
มันเห็น-มันรู้-มันเข้าใจโน่นนะ เป็นตัวปฏิบัตินะ
จึงว่า มรรคเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์**…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น