“วันนี้เรามาพูดกันเรื่องปฏิบัติธรรมอีก
คนที่ไม่มีโอกาส-ไม่มีเวลา
โอกาสน้อย เวลาน้อยที่จะเข้าวัดไปพบพระเจ้า-พระสงฆ์
ก็ต้อง**ฟัง แล้วนำไปปฏิบัติอยู่ที่บ้านก็ได้
อยู่ที่นา-ที่สวน ที่ซื้อ-ที่ขายก็ได้ (ปฏิบัติได้)ทุกสถานที่ทีเดียว**
**วิธีที่จะแนะนำนี้ คือให้ปฏิบัติตัวเอง
นี้แหละเป็นธรรมะ ธรรมะคือตัวเรานี้แหละ
ตัวทุกคนนั่นแหละคือธรรมะ ตัวศาสนาก็คือตัวคนนั่นแหละ
ตัวทุกคนนั่นแหละคือตัวศาสนา เพราะว่าจะอยู่ที่ใดก็คน
คนไทยก็เป็นศาสนา คนจีนก็เป็นศาสนา
คนอินเดียโน้น-ที่พระพุทธเจ้าตรัสรูโน้น ก็เป็นศาสนา
คนเขมรก็เป็นศาสนา คนลาวก็เป็นศาสนา คนญวนก็เป็นศาสนา
ให้ว่าทุกคน ทุกชาติ-ทุกภาษา ทุกเพศ-ทุกวัย
เป็นศาสนาทั้งนั้น เป็นธรรมะทั้งนั้น
คำว่า‘ธรรม’ะ ก็ตัวคนทุกคนนั่นแหละเป็นธรรมะ
‘ทำดี-มันดี ทำชั่ว-มันชั่ว’** ท่านว่าอย่างนั้น
*ไม่ใช่ทำดี-ได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนะ*…อันนี้ก็ถูกเหมือนกัน
ทำดี-คนยกย่องสรรเสริญ เรียกว่า‘เป็นการทำดี-ได้ดี’
ทำชั่ว-คนนินทาตำหนิ…เรียกว่าเป็น‘การทำชั่ว ได้ชั่ว’-ได้รับทุกข์
*คนทุกคนเกิดมาต้องมีจิต-มีใจ ไม่ต้องการความทุกข์
การที่ทุกข์เกิดขึ้น เพราะว่าเราทำผิด-พูดผิด-คิดผิด
เราไม่ได้ดูจิต-ดูใจ เราไม่ได้ดูการกระทำของเรา
เรานึกว่าเราทำถูก-พูดถูก-คิดถูก คนอื่นผิด…แน่ะ!
อันนี้มันเป็นการเข้าใจผิด มันเป็นการเข้าใจไม่ถูก-ไม่ตรง
เรียกว่า‘เข้าใจไปตามกิเลส เข้าใจไปตามความคิด-ความเห็นของตัวเอง’
มันเข้าข้างตัวเอง มันไม่ได้มีผ่อนสั้น-ผ่อนยาว
มันไม่ได้มาดูตัวชีวิตจิตใจของเรา
ความทุกข์เกิดขึ้น เพราะเราไม่เห็นความคิด ความคิดมันคิดไป
แล้วให้รูป-ให้กายนี้มันทำไปตามความคิด*
**ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนสั้น ๆ เรียกว่า‘ใบไม้กำมือเดียว’
คือสอนอันนี้ ศีลก็รวมลงมาที่ตรงนี้**
สมาธิก็รวมลงมาที่ตรงนี้ ปัญญาก็รวมลงมาที่ตรงนี้
แม้ให้ทาน-ไหว้พระสวดมนต์ ก็รวมมาที่ตรงนี้
ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะได้รับผล ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะไปสวรรค์
ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะไปนิพพาน ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะไปตกนรก
ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะไปเป็นเปรต
อันนั้นมันถูกน้อย เรายังไม่เห็นธรรม-ยังไม่รู้ธรรม-ยังไม่เข้าใจธรรม
มันต้องตกนรกไปแต่เดี๋ยวนี้ *ความทุกข์ร้อนนั่นแหละเป็นนรก*
ความไม่รู้จักอายนั่นแหละเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ทำอะไรผิด ๆ ถูก ๆ ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ
ทำไม่รู้จักพอ-กินไม่รู้จักอิ่ม อันนั้นเขาเรียกว่าเปรต
เปรตมันจึงปากเล็ก-ท้องใหญ่ กินเท่าใดไม่พอ…เขาว่าเปรตมันเป็นอย่างนั้น
ดังนั้นหากเราเป็นอย่างนี้ ตายไป-ก็ไปตกนรกจริง ๆ
มันต้องตกนรกแล้วเดี๋ยวนี้ มันจึงจะไปตกนรกหลังจากการตายแล้วโน้น
ไปสวรรค์-ไปนิพพานก็เช่นเดียวกัน
ลักษณะของสวรรค์ คือตาเห็นสิ่งที่ดี-หูฟังเสียงที่ไพเราะ
จมูกดมกลิ่นที่หอม กายเนื้อ-หนังเรานี้ถูกสัมผัสสิ่งที่พอใจ
กินอาหารมีรสที่ถูกใจ ก็เป็นสวรรค์แล้ว
ในทางตรงกันข้าม ไม่พอใจของเหม็น-ของไม่สวยไม่งาม…เป็นนรกอีกแล้ว
ส่วน**นิพพานก็หมายถึงความเย็น เย็นอก-เย็นใจ
ใครจะพูดอย่างไร-ก็สบายใจ เพราะดูจิต-ดูใจเราอยู่**
คำพูดนั้น…มันเป็นสมมติว่าดี-ว่าชั่ว ว่าสุข-ว่าทุกข์
มันเป็นเพียงสมมติ จริงก็จริงโดยสมมติ-ท่านให้รู้จักว่าจริงโดยสมมติ
**อยู่ที่ไหน มันก็มีอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา
ถึงจะมีพระเจ้า-พระสงฆ์ หรือไม่มีพระเจ้า-พระสงฆ์
มันก็มีอยู่อย่างนั้น**
ดังนั้น**จึงให้ปฏิบัติตัวเรา ให้เราเป็นพระขึ้นมาได้จริง ๆ
พระนั้นจึงว่า อยู่บ้านก็ได้-อยู่นาก็ได้-อยู่ที่สวนก็ได้
อยู่ตลาดขายสิ่ง-ขายของได้ทั้งนั้น
พระจึงแปลว่าผู้ประเสริฐ ‘พระ’จึงแปลว่าผู้สอนคน
คนใดสอนคนให้ละชั่ว-ทำดี นั่นแหละเป็นพระ
คนใดจิตใจไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน-เต็มอกเต็มใจได้
ท่านก็เรียกว่า‘เป็นพระ’**
มนุษย์บัดนี้ **มนุษย์เป็นผู้หักห้ามจิตใจได้
จิตใจไม่โลเล จิตใจไม่เศร้าหมอง-จิตใจไม่ขุ่นมัว
จิตใจไม่คิดไปในทางเลวร้าย ท่านเรียกว่า‘มนุษย์’
มนุษย์จึงเป็นผู้มีจิตใจสูง**
บัดนี้ ‘มนุสภูโต’-คือผู้เป็นใหญ่ในเรา ผู้เป็นใหญ่ในจิต
ไม่ให้จิตส่ายไปข้างต่ำ เรียกว่า‘เป็นมนุสภูโต’
บัดนี้หักห้ามจิตใจได้ ดู-เห็นจิตใจได้…เรียกว่า‘มนุสเทโว’
มนุษย์-เทวดามีการละอายในการทำ การพูด การคิด
ทำผิด-พูดผิด-คิดผิด…ไม่ทำ
อันนั้นคนโบราณท่านจึงสอนว่า
‘(เมื่อ)วานนี้ทำผิด-พูดผิด-คิดแล้ว ความผิดอันนั้นแหละเป็นครู’
ดีกว่าครู-ดีกว่าอาจารย์-ดีกว่าตำรับตำราใดมาสอนเรา
เพราะการที่ครู-อาจารย์สอนเรานั้น เราเพียงจำได้
*เมื่อเราทำผิดเอง-พูดผิดเอง-คิดผิดเอง
ทุกข์ย่อมเกิดมาให้เราได้รับ ผลของมันคือทุกข์เกิดขึ้น*
อันนี้แหละเรื่องอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน-มันเป็นอย่างนั้น
บัดนี้**เมื่อทุกข์ไม่เกิดขึ้น มันก็เป็นสวรรค์-มันก็เป็นนิพพาน
ท่านจึงว่ามนุษย์สมบัติ ความเป็นมนุษย์นี้เป็นสมบัติทุกอย่าง
สวรรค์สมบัติ-นิพพานสมบัติ
แน่ะ-เป็นสมมบัติของสวรรค์-เป็นสมบัติของนิพพาน
นิพพานเป็นสมบัติของเรา-สวรรค์เป็นสมบัติของเรา
เมื่อเราทำใจของเราได้อย่างนั้น แต่จิตใจ-ไม่ต้องไปทำมันดอก
เพียงแต่ให้เรารู้เท่าทันเหตุการณ์**
บัดนี้ในทางตรงกันข้าม นรกก็เป็นสมบัติของเรา
สัตว์เดรัจฉานก็เป็นสมบัติของเรา เปรตก็เป็นสมบัติของเรา
เพราะเราทำแล้วนี่
อันนี้แหละ คนโบราณท่านจึงสอนว่า‘ความผิดเป็นครู’
ความผิดเป็นครู เมื่อทำผิดแล้ว-อย่าเพิ่งทำต่อไป…แก้ได้
*อดีต-อนาคตนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้ไปแก้*
**ท่านสอนให้แก้ปัจจุบัน
มันกำลังคิดวูบขึ้นมา…ดีใจ-เสียใจ เราก็มาจับความรู้สึก
คว่ำมือ-หงายมือ กำมือ-เหยียดมือ ตบแข้ง-ตบขา
จับตัวเรานี้แหละ กระพริบตา หายใจ เอียงซ้าย-เอียงขวา
ความคิดมันก็วางจากอันนั้น เข้ามาอยู่กับความรู้สึกนี้
ความรู้สึกนี้จึงเป็นบุญ-เป็นกุศล เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุด**
*คนใดยังไม่พบ-ยังไม่เห็น ยังไม่เป็น-ยังไม่มี*…ก็ถือว่าพูดเล่น
แต่อย่างนี้มันไม่ใช่การพูดเล่น
พูดจริง ๆ อันนี้พูดให้ฟังจริง ๆ ตามความเป็นจริง เป็นอย่างนั้น…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น