“…สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง
คำว่า‘สมาธิ’นั้น ไม่ได้หมายถึงการไปนั่งภาวนาพุทโธ-ธัมโม
หรืออะระหัง พอง-ยุบ ดูลมหายใจอะไร
**‘สมาธิ’…คือตั้งใจมั่น ตั้งใจทำการทำงาน-พูด-คิด**
การงานนั้นจะสำเร็จลุล่วงไปได้โดยดี เพราะว่ามีสมาธินั่นเอง
ดังนั้น**เมื่อเราเห็นจิต-เห็นใจของเรามันนึก-มันคิด
เรารู้เท่า-รู้ทัน รู้จักกัน-รู้จักแก้ เห็นแจ้ง-รู้จริงตามความเป็นจริง
นั่นแหละคือสมาธิ ‘สมาธิ’จึงแปลว่าตั้งใจมั่น
เมื่อเราเห็นจิต-เห็นใจเรา เห็นชีวิตของเราเป็นปกติอย่างนี้
นั่นแหละถือว่าเรามีสมาธิ จึง(สามารถ)กำจัดกิเลสอย่างกลาง**
เราไม่ใช่ไปนั่ง(ทำ)ความสงบ
ความสงบนั้นจึงมีอยู่ ๒ แบบด้วยกัน(คือ)
สงบแบบไม่รู้ สงบแบบอยู่ในถ้ำ-สงบแบบมืด
สงบแบบที่เกลียวมันอัดแน่นอยู่นั่นแหละ
สงบแบบคว่ำหน้าอยู่นั่นแหละ
อันนั้นสงบแบบหนึ่ง
(อีกแบบหนึ่ง)อันคำว่าสงบนี่
เรานั่งอยู่ที่นี่ในขณะนี้
จะเป็นพระ-เป็นเณร เป็นญาติ-เป็นโยม
เป็นคนหนุ่ม-คนสาว คนเฒ่าคนแก่ก็ตาม
ฟังตัวของผม-ฟังตัวอาตมาพูดอยู่เดี๋ยวนี้แหละ
**ดูจิต-ดูใจของท่านดูซิ นั่นแหละคือความสงบแท้
อันนี้แหละ เราไม่ต้องไปสร้างความสงบอะไร
ไม่ต้องไปสร้างสมาธิอะไร เพราะสมาธิมันมีอยู่แล้ว**
*เราไม่ได้ทำที่ตรงนี้ เราจึงไม่รู้จักความสงบแบบนี้
เพราะสัญญาตัวนี้มันไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน*
**เราต้องให้สัญญาตัวนี้ทำหน้าที่ของมันจริง ๆ**
**สัญญา จึงว่าความหมายรู้-จำได้**
*ไม่ใช่ไปจำมาจากตำรา
ไม่ใช่ไปจำมาจากครูบาอาจารย์สอนให้เราจำ*
**เรานึก-เราคิด…เราเห็น-เรารู้
อันนั้นแหละคือสัญญาแท้
เรากำมือ-รู้สึก เราเหยียดมือ-รู้สึก
เรา(กะ)พริบตา-รู้สึก เราเหลือบซ้ายแลขวา-รู้สึก
เราหายใจเข้า-หายใจออก รู้สึก
อันความรู้สึกนั่นแหละคือสัญญา ให้มันทำหน้าที่ของมัน
เรียกว่า‘สัญญา’ ความหมายรู้-จำได้
มันจะไม่มีวันหลง-วันลืม
เพราะมันได้ทำหน้าที่ของมันจริง ๆ แล้ว เป็นอย่างนั้น
สังขารมันจะไม่ปรุงไปในทางที่ผิด**
*สังขารคือจิตใจมันนึก-มันคิด มันปรุง-มันแต่ง
มันเป็นอารมณ์ขึ้นมา
ถ้ามันเป็นอารมณ์ขึ้นมาแล้ว นั่นแหละเราขัดใจ
เราไม่พอใจ มันมีการขัดแย้งอยู่ในตัวของมันเอง
มันมีการขัดแย้งอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ใช่ขัดแย้งคนอื่นนะ
ขัดแย้งดีใจ-เสียใจ พอใจ-ไม่พอใจนี่*
**เมื่อเรามาเห็น-มารู้ มาทำความเข้าใจกับที่ตรงนี้
ความสับสนวุ่นวาย เหตุมันจะไม่เกิดขึ้นที่ตรงนี้
เพราะมันไม่มีการขัดแย้งกับตัวของมันเอง
เพราะตัวสัญญาตัวนี้เข้าไปอยู่ที่ตรงนั้น
เพราะตัวสมาธิ-ตัวสติ-ตัวปัญญา เข้าไปรู้-เข้าไปเห็นที่ตรงนั้น
มันได้ทำหน้าที่ของมันโดยตรงขึ้นมาแล้ว
อันนี้แหละ สมาธิจึงเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง**…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น