“…พระพุทธเจ้าผู้เป็นอรหันต์ ที่เราเคารพนับถืออยู่ทุกวันนี้
ท่านจึงตรัสว่า**‘สัตว์ทั้งหลาย-เราผู้เป็นตถาคตไปถึงแล้วแห่งนั้น
แล้วจึงนำมาสอนพวกเธอทั้งหลาย
ให้พวกเธอทั้งหลายประพฤติ-ปฏิบัติอย่างเราตถาคตนี้
เมื่อประพฤติ-ปฏิบัติอย่างเราตถาคตนี้แล้ว
ก็จะรู้-จะเห็น-จะเป็น-จะมีอย่างเราตถาคตนี้’
ที่ท่านว่ารู้-เห็นนั้น รู้-เห็นอะไร ?
ก็รู้-เห็นตัวเราเป็นอย่างไร
ก็เป็นอย่างที่เราเป็น เรียกว่ารู้-เห็น-เป็น
มีอะไร ? มีอย่างที่เรามี-คือมีความไม่มีทุกข์
ความไม่มีทุกข์-มีเหมือนกันกับพระองค์**
อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าท่านสอน
**ที่ว่า‘ให้เราเจริญสติ-เจริญสมาธิ-เจริญปัญญา’นั้น
‘เจริญ’แปลว่าทำให้มาก
เมื่อทำมาก มันก็เจริญขึ้น-มีขึ้น-มากขึ้น
ความรู้สึกมีมากขึ้น-มากขึ้น ความไม่รู้-มันก็ลดน้อย-ลดน้อยไป
ดังนั้นเมื่อเห็น-รู้-เข้าใจการเคลื่อน-การไหวนี้มากขึ้น มากขึ้น
ความไม่รู้-ไม่เห็น มันก็ลดน้อยไป
มีแต่ความรู้-ความเห็น-ความเข้าใจ-มีความสัมผัสได้อยู่ทุกขณะ ทุกเวลาแล้ว
ก็เรียกว่า‘มันสมบูรณ์’-เรียกว่า‘เจริญ’** มันเป็นอย่างนั้น
บัดนี้เมื่อเห็น**จิตใจมันนึก-มันคิด…ก็เห็น จิตใจมันนึก-มันคิด…ก็รู้
จิตใจมันนึก-มันคิด ก็เข้าไปสัมผัส-แนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น
เรียกว่า‘เป็นมรรค’
มรรคจึงเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์
เมื่อเห็น-รู้อยู่อย่างนั้นแหละ เป็นมรรค
ผลมันออกมา-ก็ไม่มีทุกข์
คือไม่ยึด-ไม่ถือ รู้เท่า-รู้ทัน-รู้จักกัน-รู้จักแก้
นี้แหละเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างง่าย ๆ อย่างลัด ๆ-สั้น ๆ
ใครเอาไปปฏิบัติก็ได้-จึงเป็นหลักสากล
ที่ว่าเป็นหลักสากล-ก็เพราะทุกคนปฏิบัติได้
นั่ง-นอน-ยืน-เดิน เข้าห้องน้ำ-ห้องส้วม…ก็ดูการเคลื่อนไหว ดูจิต-ดูใจ
เวลาฉันอาหาร ก็ดูจิต-ดูใจ-ดูการเคลื่อนไหว
จับอาหารเข้ามากินในปาก-ก็รู้ เพราะมันเคลื่อนไหวไปนี่**
*ที่เราไม่รู้นั้น-เพราะเราไม่เคยกำหนดมัน
มันก็เลยไม่เป็นการปฏิบัติธรรมะ
มันก็เลยเคลื่อนไหวไปโดยสัญชาตญาณ
เป็นไปตามธรรมชาติของความเป็นสัตว์-เหมือนกันกับสัตว์
สัตว์มันไม่มีความจำ-มันจำไม่ได้
แต่มันก็เคลื่อนไหวไป-มาเหมือนกับคน เหมือนกับมนุษย์*
ดังนั้นจึงว่า **มันเป็นหน้าที่ของคนที่จะฝึกหัดได้
มันเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะฝึกหัดได้**
*สัตว์เดรัจฉาน-ฝึกหัดไม่ได้ เพราะมันไม่มีความจดจำ*
คนโบราณท่านจึงสอนเอาไว้ว่า
‘สวรรค์ก็ตาม-นิพพานก็ตาม เป็นสมบัติของคน-เป็นสมบัติของมนุษย์’
จึงว่ามนุษย์สมบัติ-สวรรค์สมบัติ-นิพพานสมบัติ
**เหล่านี้เป็นสมบัติของคน-เป็นสมบัติของมนุษย์ที่จะทำเอาได้
และก็เอามาใช้ได้เหมือนกันทุกคน**
ดังนั้น**พวกเราทั้งหลาย จึงต้องประพฤติ-ปฏิบัติตัวเรา
จึงว่า‘เป็นการปฏิบัติธรรม-เป็นการปฏิบัติชีวิต
เป็นการปฏิบัติจิต-ปฏิบัติใจ เป็นการปฏิบัติตัวเรา**
*คนเรา หากไม่มีการพัฒนาแล้ว-จิตใจมันจะไม่รู้
เพราะเราไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยพบสัตบุรุษ-บุคคลที่มีความรู้
เมื่อไปทำ มันก็เลยไม่รู้*
การไปนั่งภาวนาพุท-โธ หายใจเข้า-หายใจออก พอง-ยุบ ดูลมหายใจ
**อันใดก็ตาม เป็นการปฏิบัติเพื่อจะมาลดโทสะ-โมหะ-โลภะนี้เอง
ไม่ให้โทสะ-โมหะ-โลภะเกิดขึ้นได้ภายในจิตใจ
เพราะโทสะ-โมหะ-โลภะเป็นของเน่า เป็นของเหม็น-เป็นของสกปรก**
*ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น*
**เมื่อเราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจ เรียกว่า‘มรรค’
มรรคจึงเป็นข้อปฏิบัติไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น
อันนี้เป็นการปฏิบัติอย่างง่าย ๆ
ไม่ต้องไปอ้างอิงศึกษาเอากับตำรับ-ตำราก็ได้
ปฏิบัติอยู่ที่ไหนก็ได้
เมื่อเราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจแล้ว
ความยึดมั่น-ถือมั่นว่าเป็นตนเป็นตัว ซึ่งมันเป็นทุกข์
เราก็เลิกละจากสิ่งเหล่านั้น-เป็นผล**
**เราต้องไม่เข้าไปยึด-ไปถือ ให้มาดูที่จิต-ที่ใจของเราอยู่เสมอนี้
เป็นการปฏิบัติอย่างง่าย ๆ**…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น