“…เมื่อ**เรามามองดูลงไปในสภาพการเคลื่อนไหวทางรูปกายนี้ ก็รู้สึกตัว
จิตใจมันนึก-มันคิด ก็รู้สึกตัว
คือให้เรามาอยู่กับการเคลื่อนไหวทางรูปกายนี้**
*เราจะไปอยู่กับการเคลื่อนไหวของจิตใจที่มันนึกคิดนั้นไม่ได้
เพราะมันไม่มีตัวตน จับไม่ถูก-มองไม่เห็น*
ส่วนรูปกายนี้…มันจับถูกต้องได้-แตะต้องได้ มองเห็นได้-สัมผัสได้ด้วยมือ
ส่วนของจิตใจที่มันนึก-มันคิดนั้น มองไม่เห็นด้วยตา-จับไม่ถูกด้วยมือ
แต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก เรียกว่า‘ปัญญารอบรู้’
**เมื่อเรามีปัญญารอบรู้แล้ว มันนึก-มันคิด…เราก็เห็น-เราก็รู้
ความเห็นจิตนึกคิดนั้นเป็น‘มรรค’
‘มรรค’จึงเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์
เมื่อเรามัก(ชอบ) เราต้องดูลงไปที่ตรงนี้-และก็ปฏิบัติลงไปที่ตรงนี้
ผลมันออกมา-เรียกว่า‘นิโรธ’ พ้นไปจากทุกข์-พ้นไปจากการปรุงแต่ง
พ้นไปจากการยึดถือ พ้นไปจากการมีโทสะ-โมหะ-โลภะ
พ้นไปจากการยึดมั่น-ถือมั่น พ้นไปจากสิ่งทั้งปวงนั้น
ท่านเรียกว่า‘นิโรธ’ แปลว่าความพ้นไป-พ้นไปจากทุกข์**
ท่านสอนอย่างนั้น
**ดังนั้น ผู้ที่มีปัญญาก็พิจารณาเห็นแจ้งตามความเป็นจริงแล้ว
ก็เอาไปใช้กับการ-กับงานได้ทุกวิธี
การงานก็เป็นธรรม ตัวการปฏิบัติลงไปก็เป็นธรรม
ธรรมะนั้นจึงเอาไปใช้กับการ-กับงานได้ทุกวิธี
ดังนั้นคนใดรู้ธรรม-เห็นธรรม-เข้าใจธรรมแล้ว
จึงทำงาน-ทำการไปตามหน้าที่ ไม่มีความเกียจคร้าน
ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า**
เราคิดดูถึงพระพุทธเจ้าของเรา
แต่เมื่อสมัยพระองค์รู้ธรรมะ-เห็นธรรมะ-เข้าใจธรรมะ
ซาบซึ้งในธรรมะที่ตนรู้-ตนเห็น-ตนได้-ตนมีนั้นแล้ว
พระองค์ก็นำไปเทศน์-ไปสอน
เมื่อพระองค์ได้เทศน์-ได้สอน ได้ลูกศิษย์จำนวน ๕ คน คือปัญจวัคคีย์
หรือหลายคน-ก็ไม่ทราบแหละ
และท่านเหล่านั้นได้รู้ตาม-เห็นตาม-เข้าใจตามพระอง์แล้ว
เป็นอย่างพระองค์-มีอย่างพระองค์แล้ว
สัมผัสแนบแน่นอยู่เหมือนอย่างที่พระองค์รู้นั้นแล้ว
พระองค์ก็ให้นำไปเทศน์-ไปสอน
พระองค์ทรงแนะนำว่า
‘ให้จาริกไปคนละทาง’ เพราะหากไปด้วยกันทางเดียวกัน-มันไปได้น้อยเส้นทาง
จึงให้ต่างองค์-ต่างไป จึงได้หลายทาง
ส่วนการพูด-การสอนเรื่องที่ให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามนั้น
ก็ให้ทำไปตามอุดมการณ์ของตัวเองที่ได้รู้-ได้เห็น-ได้เข้าใจนั้น
ซึ่งก็แล้วแต่เทคนิคกลไกของครูบาอาจารย์ท่านนั้น ๆ จะสอนให้เขาทำโดยวิธีใด
พระองค์สอนอย่างนั้น แต่ความพ้นทุกข์นั้นเหมือนกัน
ซึ่งพระพุทธองค์เองก็เคยตรัสเอาไว้ว่า ‘สัตว์ทั้งหลายเหมือนเราตถาคต’-ดังนี้เป็นต้น
คำว่า‘เหมือนกัน’นี้ ก็คือว่ามีแข้ง-มีขา มีหน้า-มีตา มีเท้าเหมือนกัน
มีจิต-มีใจเหมือนกัน แต่ว่าสูง-ต่ำ-ดำ-ขาวนั้น…อาจไม่เหมือนกัน
สติปัญญานั้นก็มีเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน-ไม่เท่ากัน
**‘มีเหมือนกัน’นั้นคือ ถ้ารู้-เห็น-เข้าใจ-สัมผัสแนบแน่นได้แล้ว
จะหมดความสงสัยเหมือนกัน เมื่อหมดความสงสัย-แสดงว่าหมดทุกข์
ถ้าเรายังมีความสงสัย แสดงว่าเรายังมีทุกข์**
ความทุกข์-ความหมดทุกข์นั้น จึงแยกออกมาได้หลายอย่าง-หลายประการ
ดังนั้นเราท่านทั้งหลาย **ผู้มีปัญญาก็ดี-ผู้ที่ไม่มีปัญญาก็ดี
ย่อมปฏิบัติให้รู้ได้-เห็นได้-เข้าใจได้เหมือนกัน
แต่คนที่มีปัญญานั้น-เมื่อพิจารณาแล้ว ก็ลดละมานะ-ลดทิฏฐิ-ลดความเห็นแก่ตัว
ลดความโกรธ-ความโลภ-ความหลง ให้มันลดน้อยไป
ส่วนคนที่ไม่มีปัญญา ต้องประพฤติปฏิบัติให้มีญาณเกิดขึ้น
เมื่อมีญาณเกิดขึ้นแล้ว-ปัญญาก็รอบรู้ มันจืดจางไปเอง-สิ่งเหล่านั้นมันจืดจางไปเอง
อันนี้เรียกว่า‘รู้-เห็น-เข้าใจ’ เพราะปัญญา(จาก)การปฏิบัติธรรม**
ส่วนการพิจารณานั้นเรียกว่า‘ปัญญาพิจารณา’ หรือว่าการเห็นแจ้ง
มันต่างกันอย่างนี้ ผู้ที่ปฏิบัตินั้นก็มีญาณปัญญาเกิดขึ้นจากจิตสำนึก
ส่วนผู้ที่พิจารณาเอานั้น เรียกว่า‘พิจารณาตามธรรมชาติ
ให้เห็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น’
คนเราเกิดมาแล้วก็แก่-เจ็บ-ตายเหมือนกัน ท่านว่าอย่างนั้น
นี่เรียกว่า‘ความเหมือนกัน’ มันเป็นอย่างนั้น…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น