“วันนี้จะได้พูดธรรมสำหรับบุคคลผู้ที่ยังไม่เคยได้ยิน-ได้ฟัง
หรือยังไม่เคยเข้าใจเรื่องในการปฏิบัติธรรม
หรือยังไม่เคยเข้าใจเรื่องชีวิตของตัวเอง
เมื่อได้ยิน-ได้ฟังแล้ว ผู้ที่ฟังนั่นแหละต้องพิจารณา
ใคร่ครวญด้วยสติปัญญาของตัวเอง ว่าชีวิตนี้มีอยู่เพื่ออะไร ?!
และธรรมะนั้น มีเพื่อไว้ใช้ประโยชน์อะไร ?
ธรรมะกับชีวิตมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันโดยวิธีใด ?
ต้องพิจารณาด้วยตัวเอง อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีปัญญา
ส่วนบุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญา หรือมีปัญญาแต่ไม่แหลมคม
ต้องมีวิธีการและเทคนิค โดยให้เคลื่อนไหวตัวเอง
**อันนี้เป็นการปฏิบัติธรรม และเป็นการปฏิบัติชีวิต
เป็นการปฏิบัติจิต-ปฏิบัติใจ เคลื่อนไหวโดยวิธีใด-ก็ให้รู้**
เรื่องนี้ประกาศมา-พูดมาให้คนฟังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓
พูดมาอยู่อย่างนั้นตลอดมา แม้ตัวเองจะอยู่ที่ไหน-ก็พูดแต่เรื่องนี้
เพราะว่า**เรื่องนี้-มันเป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องจิต-เรื่องใจของคนทุกคนนี้ มันเหมือนกัน
จึงต้องปฏิบัติได้เหมือนกัน ผู้หญิงก็ปฏิบัติได้-ผู้ชายก็ปฏิบัติได้
พระสงฆ์-องค์เณรก็ปฏิบัติได้ คนไทย-คนจีนก็ปฏิบัติได้
ธรรมะนั้นจึงเป็นอันเดียวกัน-เหมือนกัน
หรือว่าชีวิต-จิตใจก็เหมือนกัน เป็นอันเดียวกัน-เหมือนกัน**
ดังนั้น จึงแนะนำบุคคลผู้ที่ยังไม่มีปัญญาแหลมคม**ให้เคลื่อนไหว
นี่-เทคนิคของมัน นั่งพับเพียบก็ได้-นั่งเหยียดขาก็ได้
นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ห้อยเท้าอยู่ก็ได้
เอามือวางไว้บนขาทั้ง ๒ ข้าง-คว่ำไว้
ค่อย ๆ พลิกมือขวาขึ้น-เคลื่อนขึ้นมา ให้รู้สึก
*ในขณะที่มันเคลื่อนขึ้นมานั้น ให้รู้สึกตัว
เรียกว่า‘ตั้งใจ’ หรือว่า‘ตั้งสติ’
ตะแคงตั้งไว้ตรง ๆ ไม่ให้มันเอน-มันเอียง
ยกขึ้นครึ่งตัว-ยกขึ้นตรง ๆ ครึ่งตัว แล้วก็หยุดไว้
มันหยุด-ก็ให้รู้สึกว่ามันหยุด มันนิ่ง-มันไม่เคลื่อนไม่ไหว…ก็ให้รู้สึก
เรียกว่าให้มันสัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งนั้น ๆ
บัดนี้ค่อย ๆ เคลื่อนเลื่อนมือขวานั้นลงมาที่สะดือ
เมื่อมือมาถึงที่สะดือ-แนบแน่นอยู่กับที่สะดือแล้ว
ให้มีความรู้สึกสัมผัสหรือผัสสะอยู่กับสิ่งนั้น ๆ
บัดนี้พลิกมือซ้ายขึ้น-ตั้งชันตะแคงไว้ตรง ๆ ให้มีความรู้สึก
เคลื่อนไหวยกขึ้นครึ่งตัว ให้มีความรู้สึกตัว
เอามือมาแนบไว้ที่มือขวา ให้มีความรู้สึก
หยุดเป็นพัก-เป็นพัก ให้มีความรู้สึกเป็นพัก-เป็นพัก
แม้จะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ตาม ให้มีความรู้สึกตัวอยู่อย่างนั้น
เรียกว่ามีสติ-มีสมาธิ-มีปัญญา เป็นการปฏิบัติธรรม
เป็นการปฏิบัติชีวิต เป็นการปฏิบัติจิตใจ**
ชีวิตที่มีอยู่ ก็เพราะลมหายใจ
ธรรมะมีอยู่ได้ก็เพราะมีลมหายใจ เพราะมีการเคลื่อนไหว
จิตใจที่มันนึก-มันคิดอยู่ตลอดเวลา เพราะมันมีชีวิต-มีจิตมีใจ-มีลมหายใจ
คนมันต้องเคลื่อนไหวอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา
ดังนั้นจึงแนะนำหรือชี้แนววิธีปฏิบัติโดยวิธีเคลื่อนไหวนี้
ให้กับบุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญาเแหลมคม
เมื่อปฏิบัติไป ให้รู้สึกว่าการเคลื่อนไหวขึ้นนั้น-เป็นรูป
สิ่งที่รู้การเคลื่อนไหวขึ้นนั้น-เป็นนาม
รูปกับนาม-มันจึงติดกัน แยกออกจากกันไม่ได้
ถ้าแยกออกจากกันได้เมื่อใด เมื่อนั้นก็หมดลมหายใจ-หมดชีวิต-หมดจิตหมดใจ
เรียกว่าตาย มันเป็นอย่างนั้น
แล้วก็ปฏิบัติธรรมะไม่ได้-ปฏิบัติชีวิตไม่ได้-ปฏิบัติจิตใจไม่ได้
ปฏิบัติได้-เห็นได้-รู้ได้-เข้าใจได้ แต่เมื่อมีชีวิต-มีจิตมีใจ-มีลมหายใจอยู่นี่เอง
นี้เป็นการปฏิบัติธรรม และ**ทุกคนปฏิบัติได้**
ดังนั้น**ธรรมะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น จึงเป็นสากล
คำว่า‘เป็นสากล’นี้ คือทุกคนปฏิบัติได้และปฏิบัติอยู่ที่ใดก็ได้
เป็นพระสงฆ์-องค์เจ้าก็ปฏิบัติได้ เป็นญาติ-เป็นโมก็ปฏิบัติได้
เป็นชาติใด-ภาษาใด-ถือศาสนาไหน ก็ปฏิบัติได้
ถือลัทธิใดก็ได้-ไม่ต่างกันเลย เพราะว่ามันมีกายกับใจทุกคน**
นี่เป็นภาษาที่เราพูด
ส่วนภาษาธรรมะ เมื่อปัญญาเกิดขึ้นนั่นเรียกว่า‘รูป’กับ‘นาม’
รูปได้แก่ร่างกาย นามได้แก่จิตใจ
กายก็ที่เรามองเห็น ใจก็ที่เรามองไม่เห็น…มันนึก-มันคิด
**เราต้องปฏิบัติเรื่อย ๆ อย่าเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย**
ถ้าเราไปนึกว่าเหน็ดเหนื่อย-แล้วหยุด อันนั้นเรียกว่าไม่ติดต่อ-ไม่สัมพันธ์กัน
คือมันไม่โยงกันตั้งแต่ต้นจนปลาย
การปฏิบัติให้ติดต่อ-ให้สัมพันธ์โยงกันตั้งแต่ต้นจนปลายนั้น
ก็หมายถึง**เราเคลื่อนไหวโดยวิธีใด ก็รู้
ตาของเรากะพริบตา-ก็รู้ เหลียวซ้าย-แลขวา…ก็รู้
หายใจเข้า-หายใจออก…ก็รู้ กลืนน้ำลาย-ก็รู้
จิตใจมันนึก-มันคิด…ก็รู้ อันนี้เรียกว่า‘เห็นธรรม’
การเห็นธรรมนั้น ไม่ต้องไปเห็นที่นอกตัว**
*ถ้าเห็นนอกตัวออกไปนั้น มันเป็นมายาของจิตใจ
มันหลอกลวงเรา มันโกหกเรา*
คนโบราณท่านจึงสอนเอาไว้ว่า‘จิตคนนี้กลอกกลับได้ไว-ดุจมีลานไขในตน
เราท่านควรบังคับกล ให้จิตหมุนมาแต่ในทางข้างดี’
เพราะถ้าปล่อยให้มันคิดไปตามอารมณ์ เรียกว่า‘หมุนไปในทางข้างกี’
‘ข้างกี’ ก็หมายถึงความชั่วร้าย-หมายถึงกิเลสนั่นเอง
‘ธรรมที่มีก็จักหนี-จักหน่าย หายสูญ’
ธรรมที่มีคือตัวรู้นั่นเอง ตัวสติ-ตัวสมาธิ-ตัวปัญญานั่นเอง
ถ้าหากเราไม่รู้ ก็เรียกว่าธรรมที่มีได้หนีหน่าย-หายสูญแล้ว
‘อธรรมเข้าครอบงำ ความระยำสัมบูรณ์-มันก็ปลิ้นปลอกหลอกเรา’
ปลิ้นปลอกหลอกตน
อธรรมก็คือเราไม่รู้-เราไม่เข้าใจธรรมนั่นเอง *มันปลิ้นปลอกหลอกเรา
จึงเห็นอันนั้น-เห็นอันนี้ที่นอกตัวเราออกไป
เพราะเราไม่ได้ศึกษา-ไม่ได้ปฏิบัติกับธรรมชาติ*
ธรรมชาติของคนนี้ มันมีขา-มีแขน-มีมือ-มีเท้า-มีตา-มีหู-มีจมูก-มีลิ้น
กินข้าว-กินน้ำ-อุจจาระ-ปัสสาวะได้
นี่คือธรรมชาติของมันจริง ๆ **ศึกษามันลงไปที่ตรงนี้
เมื่อศึกษากันลงไปที่ตรงนี้ มันก็รู้จริง-เห็นจริง
เห็นเรานั่ง-เห็นเรายืน-เห็นเราเดิน-เห็นเรานอน
อันนี้แหละคือธรรมชาติ
นอกจากนี้ก็มีหายใจเข้า-หายใจออก และก็มีจิตใจมันนึก-มันคิด
เราอย่าเข้าไปในความคิด**
*เวลามันนึก-มันคิด…เราไม่เห็น มันก็คิดออกไปข้างนอก-คิดออกไป*
บางครั้ง-บางคราวนอนไม่หลับ เป็นอย่างนั้น
นักศึกษาเรียนหนังสือ ถ้าหากเรียนทางธรรมเป็นนักธรรมตรี-โท-เอก
เป็นมหาเปรียญ ๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙ ก็ตาม
ถ้าไม่ได้ดูชีวิต-ดูจิตใจของเราแล้วนั้น ก็เรียกว่าเรียนออกนอกตัวไป
*จิตใจมันนึก-มันคิดผ่านเลยออกไปข้างนอก ไม่เห็น-ไม่รู้-ไม่เข้าใจ
ทุกข์เกิดขึ้น ผลจากการที่ไม่เห็นนั่นแหละนำมาให้เป็นทุกข์*
นอนไม่หลับ-กินไม่ได้ เป็นโรคประสาทไปก็มีกันเป็นจำนวนมาก
แม้คนเรียนทางโลกก็เหมือนกัน ตั้งแต่ ป.๑ ถึง ป.๖ ป.๗ หรือ ม.๑ ถึง ม.๖ ม.๘
ตัวอาตมาไม่เคยเรียน เพียงแต่เคยได้ยินเพื่อนฝูง-เพื่อนมนุษย์
คนทั่วไปเคยพูดให้ฟังอย่างนี้ ก็เลยจำมาพูดให้ฟัง
เมื่อเรียนจบม. ๘ แล้ว ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัย
เรียนปริญญาตรี-ปริญญาโท-ปริญญาเอก ได้หลายปริญญาเอกก็ตาม
*ถ้าหากยังไม่เห็น-ไม่รู้-ไม่เข้าใจความคิด ความคิดมันก็ส่ายส่งเลยออกไปข้างนอก
เมื่อมันออกไปข้างนอก มันก็ไปทรงจำเรื่องนั้น-เรื่องนี้
คิดดีใจ-เสียใจ ผลที่ออกมาก็ได้รับทุกข์*
กินไม่ได้-นอนไม่หลับ เป็นโรคประสาทกันก็มีเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน
การศึกษาแบบนั้น ๆ นั่นก็ดีแล้ว
บางคนก็ไม่เป็นอย่างที่ว่ามานั้น แต่บางคนก็เป็น
*การที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะไม่รู้กลไกเทคนิคของจิต-ของใจนี้เอง*…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น