“…คำว่า‘กรรม’-กรรมนี้
ความคิด-ความเห็นแต่ก่อนนั้น
นึกว่ากรรม ต้องได้เสวยผลวิบากมันอย่างนั้น-อย่างนี้
อันนั้นมันเป็นธรรมดา
แนวความคิดของอาตมาเมื่อยังไม่รู้-ยังไม่เข้าใจ ก็คิดไปอย่างนั้น
ต่อเมื่อมาเข้าใจแล้ว *กรรมคือการกระทำนั่นเอง
จะทำดี-ทำชั่ว ก็เป็นกรรม*
จะตอบได้เป็นเพียงหัวข้อสั้น ๆ ว่า‘กรรมคืออะไร ?’
พวกคุณ กรรมคือการกระทำนั่นเอง
ทำดีก็เป็นกรรม ทำชั่วก็เป็นกรรม
กรรมดี-กรรมชั่ว ทำดี-ทำชั่ว
แน่! เป็นเพียงหัวข้อ-ประเด็นสั้น ๆ
‘กฎแห่งกรรมในทางพระพุทธศาสนา มีว่าอย่างไร ?’
กรรม-กฎแห่งกรรม คือการกระทำนั่นเอง
เป็นกฎของธรรมชาติ ธรรมชาติมันเป็นอยู่อย่างนั้น
จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ได้เป็นบางสิ่ง-บางอย่าง
แต่ตัวกฎของธรรมชาติจริง ๆ แล้ว มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
คำว่า ‘ธรรมชาติ’ นี้
เราจะเห็นว่า
ชาติ คือ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย
อันนี้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นกฎของธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง
จึงว่ากฎแห่งกรรม *กรรมคือการกระทำ
กฎของธรรมชาติ มันเป็นกฎอันหนึ่งที่ตายตัวลงไป*
เป็นอย่างนั้น
ในทางพระพุทธศาสนามีว่าอย่างนี้ไว้ว่า
คือว่า**ต้องศึกษาและปฏิบัติให้รู้จักกฎของธรรมชาตินั้น**
บางคนพวกที่เรียนหนังสือมาว่า
กฎของอิทัปปัจจยตา เป็นอย่านั้น-อย่างนี้
อาตมาไม่รู้เรื่องนี้ อาตมาไม่เข้าใจจริง ๆ
ดังนั้นจึงว่า เรื่องความเห็นเป็นทิฏฐิ
แม้จะเคยได้ยินครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง(ว่า)
ในประเทศอินเดียมีหลายลัทธิ มีหลายนิกาย
บางลัทธิ-บางนิกายก็ว่า ให้ว่าทุกลิทธิ-ทุกนิกายนี่แหละ
ไม่ต้องว่าย่างฟืน-ย่างไฟ
คือว่าเห็นพระพุทธเจ้าเป็นทิฏฐิ-เป็นมิจฉาทิฏฐิเช่นเดียวกัน
เพราะความเห็นมันไม่ตรงกันนี่ เป็นอย่างนั้น
บัดนี้ พระพุทธเจ้าก็เห็นว่าพวกนั้นเป็นทิฏฐิ
ความเห็นไม่ไม่ตรงกัน เป็นอย่างนี้
*‘อะไรเป็นเหตุให้ทำกรรม ?’
ก็เพราะว่ากรรมนั่นเอง เป็นเหตุให้ทำ
คือการกระทำนั่นเองเป็นเหตุ
ถ้าพูดกันน้อย ๆ ก็เรียกว่า‘จิตใจ’นั่นเอง
จิตใจนี่แหละไม่มีตัว-มีตน
จิตใจที่เป็นกุศล จิตใจที่เป็นอกุศล
จึงว่ามันเผอิญเหตุเหล่านี้ให้ทำได้ ทำดี-ทำชั่ว*
แต่**เมื่อเรารู้สึก ศึกษาให้ถึงกฎแห่งกรรม
จึงจะแก้ไขได้-เรื่องกฎแห่งกรรม**
มันเป็นอย่างนั้น
**‘วิธีดับกรรม ทำอย่างไร ?’
ก็พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้
ถ้าหากเราเชื่อคำพูด-คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ต้องเจริญสติ-เจริญสมาธิ-เจริญปัญญา ว่าอย่างนั้น
เพราะครูบาอาจารย์สอนมาว่าอย่างนั้น
พ่อแม่เล่ากันมาว่าอย่างนั้น
ก็พ่อของพ่อ แม่ของแม่ เล่ากันมาหลายชั่วคนแล้ว
พูดว่า‘ให้เจริญสติ-เจริญสมาธิ-เจริญปัญญา
เป็นวิธีที่จะดับทุกข์ได้’ ท่านว่าอย่างนั้น
‘จะพ้นไปจากความทุกข์’** ว่าอย่างนั้น
แต่ก็ไม่รู้ว่าทำอย่างไร-ไม่รู้ อาตมาไม่เห็น
จึงว่าเป็นวิธีที่ทำความรู้สึกตัว อาตมาทำมาอย่างนี้
**‘เป็นอยู่อย่างไร จึงจะเรียกว่าอยู่เหนือกรรม ?’
คำว่าอยู่เหนือกรรม ก็อยู่เหนือความทุกข์
อยู่เหนือการกระทำ เหนือความคิด
แต่ว่าเห็นความคิด อยู่เหนือความคิดนั่นเอง
แต่ว่ามันพูดยาก คืออยู่เหนือ
คือออกหน้าของความคิดนั่นแหละ
จึงว่าอยู่เหนือกรรมได้ อยู่เหนือการกระทำนั่นได้
เพราะอยู่เหนือแล้ว คือว่าเหนือกรรม
เหนือกรรมดี-กรรมชั่ว** ท่านว่าอย่างนั้น…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น