“…*ความทุกข์นั้นเกิดขึ้น
เพราะเราขาดสติอย่างเดียวเท่านั้น*
**เมื่อเรามีสติยับยั้งสั่งใจได้แล้ว กิเลสมันก็เกิดขึ้นไม่ได้**
กิเลสมันไม่มีตัว-ไม่มีตน จะไปหาสมุฏฐานมันได้ที่ตรงไหน ?
เพราะมันไม่มีที่อยู่-มันไม่มีที่เกิด เรามองไม่เห็น
*เมื่อเราขาดสติแล้ว มันก็เกิดขึ้นมาทันที*
**พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เรามีสติควบคุมเอาไว้
เมื่อมีสติแล้ว มันสามารถบังคับได้ทุกสิ่ง-ทุกอย่าง**
อันนี้เป็นการพูด แต่วิธีทำน่ะ-ทำอย่างไร ?
วิธีทำนั้น เรามากำหนดรู้เรื่องรูป-นาม
เมื่อเรากำหนดรู้รูป-นามแล้ว รูป-นามนี้ก็ยังสามารถบังคับไม่ได้
ยังไม่รู้สมุฏฐาน-คือความคิด
ดังนั้น คนเราเป็นคนลืมตัว
เกิดมาหลุดจากท้องแม่มาแล้ว ไม่เคยมองตัวเอง
เมื่อยังเป็นเด็ก ๆ ก็มองมารดา อยากกินนม
เมื่อเราเติบโตขึ้นมา ก็หาของเล่น-มองของเล่น
เมื่อใหญ่เป็นหนุ่ม-เป็นสาว ก็มองคนนั้นสวย-คนนี้ไม่สวย
คนนั้นรวย-คนนี้จน
เมื่อเป็นพ่อบ้าน-แม่เรือนมาแล้ว
ก็มองถึงลูก-ถึงหลาน มองถึงไร่-นา
(มอง)อะไรต่าง ๆ จิปาถะ
อันนี้ชื่อว่า‘คนลืมตัว’
บัดนี้ วิธีที่ทำง่าย ๆ อย่างลัด ๆ
จะรักษาศีลก็ได้-ไม่รักษาศีลก็ได้
จะให้ทานก็ได้-ไม่ให้ทานก็ได้
**ไปไหน-มาไหน อยู่ที่ใดก็ตาม
คอยกำหนดจิตใจที่มันปรากฏเกิดขึ้น
เราต้องเห็น-ต้องรู้-ต้องเข้าใจ
เมื่อเราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจความปรากฏเกิดขึ้นนั้น
มันหยุดทันที มันไม่ถูกปรุงไป**
*อันที่มันถูกปรุงไปนั้น มันเข้าหลักอวิชชา
เรื่องปฏิจจสมุปบาทว่า‘อวิชชา’ แปลว่าความไม่รู้
คือไม่รู้ความคิดนี่เอง*
ไม่ใช่ไม่รู้เงิน-ไม่รู้ทอง ไม่(ใช่)อย่างนั้น
อัน‘มันรู้คิด’กับ‘มันเห็นความคิด’ มันคนละเรื่อง
*อันมันรู้คิด มันรู้เป็นเรื่องเป็นราวไป-นั้นมันรู้
ความรู้อันนั้น พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า‘ความรู้ของอวิชชา’*
**(ส่วน)ความรู้ของวิชชา
มันคิดขึ้นมา เราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจ**
เหมือนกับหนูกับแมว ถ้าหนูโผล่ออกมา-แมวมันจับ
เมื่อแมวจับแล้ว หนูมันกระดิกตัวไม่ได้
อันนี้เหมือนกัน
**ถ้า(ความคิด)มันโผล่คิดขึ้นมา
เรามีสติ เราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจ
ความคิดมันไม่ต้องถูกปรุงไป
อันนี้เรียกว่ามีสติ รู้แจ้ง-รู้จริงตามความเป็นจริง
ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้
คนรู้อย่างนี้เป็นอย่างไร ?
มันไม่มีทุกข์ ความทุกข์ไม่ต้องมี
คือ ความโกรธ-ความโลภ-ความหลงไม่ต้องมี
ความอิจฉาริษยา-เบียดเบียนคนอื่นไม่ต้องมี
เพราะคนมีสติแล้วนี่**
นี่-พระพุทธเจ้าสอนใกล้ ๆ ไม่มาก
ที่เราทำกันทุกวันนี้ เราไม่ได้ทำจุดนี้
คือเราไปทำเพื่อตายแล้วต้องไปเกิดนิพพานหรือไปสวรรค์’
(แต่)เราไม่รู้จักนิพพาน มันก็ไปนิพพานไม่ได้
(เรา)ไม่รู้จักสวรรค์ มันก็ไปสวรรค์ไม่ได้
สวรรค์-คนโบราณท่านสอนเอาไว้อยู่ในอก
นรกอยู่ที่ใจ พระนิพพานก็อยู่ที่ใจนี่
คำว่า‘ใจ’นี้ มันไม่มีตน-ไม่มีตัว
เราจะไปมองว่าหัวใจ มันมองไม่ได้
คือ…สำหรับจิตใจที่มันปรากฏ มันนึก-มันคิดขึ้นมานั้น
(มัน)ซาบซ่านอยู่ทั่วตัว
มันอยู่ที่ตรงไหน ไม่รู้-ไม่เห็น-ไม่เข้าใจ
**เพียงเรามีสติมากำหนดความคิด
มันคิดขึ้นมา-มันจะคิดอย่างไรก็ตาม เรากำหนดรู้ทันที
เมื่อเรากำหนดรู้แล้ว ความคิดมันหยุด-มันก็เลยไม่ได้ปรุง
อันนี้เรียกว่า‘วิชชา’ แปลว่ารู้แจ้ง-รู้จริง รู้จัก-รู้จำ
รู้อันนี้ รู้จริง ๆ** …”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
————————————————————————————————
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
※ อย่าหลงตน-อย่าลืมตัว ※
※ ※
※ อย่าหลงกาย-อย่าลืมใจ ※
※ ※
※ อย่าหลงชีวิต ※
※※※※※※※※※※※※※※※※※※※※
รู้สึกตัว…รู้สึกกาย รู้สึกใจ
_/|\_ _/|\_ _/|\_

ใส่ความเห็น